เศรษฐา ทวีสิน : จะเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ต้องเริ่มนับหนึ่งได้แล้ว

รถยนต์ไฟฟ้า
คอลัมน์ : คิดไปข้างหน้า
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

ช่วงนี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีความคึกคักต่อเนื่อง ตั้งแต่การที่ค่ายรถระดับโลกหลายแบรนด์มีการปรับแผนผลิตรถไฟฟ้าเป็นเมนสตรีมในอนาคต ตัวเลือกใหม่ ๆ ที่มาจากฐานการผลิตประเทศจีนในราคาที่จับต้องได้และฟังก์ชั่นไม่แพ้รถยุโรป

ประกอบกับเรื่องความเข้มงวดทางสิ่งแวดล้อม ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นลงเป็นว่าเล่น ในขณะที่ไทยเองก็มีการลดภาษีนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนที่ผู้บริโภคจะได้รถราคาดีขึ้น ค่ายรถทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงข่าวล่าสุดที่เทสลา (Tesla) จดทะเบียนบริษัทในไทย ก็ยิ่งเป็นการคอนเฟิร์มว่ารถไฟฟ้ากำลังเป็นประเภทของยานยนต์ที่น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากประเด็นเหล่านี้ทั้งด้านตัวเลือก ราคา และช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการลดมลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถสันดาปภายใน ที่เติบโตมาโดยตลอดจากการลงทุนทางตรงและย้ายฐานผลิตอุตสาหกรรมเหล่านี้มาจากญี่ปุ่น ต้องบอกว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าจับตาทีเดียว

เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทย เกือบ 6% ของ GDP มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 8.5% ต่อปี มากว่า 20 ปี และในปีที่แล้วผลิตได้ 1.68 ล้านคัน โดยค่ายรถญี่ปุ่นกินส่วนแบ่งการผลิตกว่า 80%

ที่บอกว่าน่าจับตาเพราะว่าเมื่ออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ของไทยอยู่ใต้การลงทุนของ “ญี่ปุ่น” เป็นหลัก ถ้าเขาตกขบวนรถยนต์ไฟฟ้า เราก็จะพลอยตกขบวนไปด้วยไหม

สำหรับประเทศไทยเองก็คงรู้สถานการณ์ดี จึงได้มีการเดินหน้าเจรจาและพูดคุยกับฝั่งญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ปลายเดือนที่แล้ว นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน พร้อมทีมงานเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อหารือเจรจาชักชวนให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นตัดสินใจปรับเปลี่ยนการผลิตในไทยจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถไฟฟ้าแทน

รวมทั้งท่านนายกฯประยุทธ์ด้วยที่ไปช่วยหว่านล้อมให้ญี่ปุ่นมาลงทุนผลิตไฟฟ้าในไทย ดันเราเป็นฮับการผลิตใหญ่ในอาเซียนในเวที Nikkei Forum

ก็ถือว่าเป็นการเดินหมากที่ไม่ผิดนะครับ ถ้าเราจะดันตัวเองเป็นฐานการผลิตใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้า ง่ายที่สุดก็คือ การชักจูงให้คนที่เขาลงทุนอยู่แล้วปรับเปลี่ยนตัวเองจากการผลิตรถสันดาปมาเป็นรถไฟฟ้า แต่ไม่แน่ใจว่าตบมือข้างเดียวจะดังหรือเปล่า เพราะอย่าลืมนะครับว่าการปรับไปผลิตรถไฟฟ้าจะกระทบห่วงโซ่ทางธุรกิจที่ป้อนให้กับรถยนต์สันดาปภายในอย่างมากมาย

แม้กระทั่ง CEO ของโตโยต้าเองปีที่แล้วก็ยังให้สัมภาษณ์ด้วยความกังวลในเรื่องนี้ โดยบอกว่าถ้าหากรถสันดาปจะถูกแทนที่ด้วยรถไฟฟ้าจริง ๆ แล้วละก็ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองกระทบแน่ ๆ ธุรกิจต้นน้ำหลายแห่งจะหมดความสำคัญ แรงงานจำนวนมหาศาลกว่า 5.5 ล้านคนจะต้องตกงาน

นอกจากนี้แล้ว ผมเชื่อว่าการที่ค่ายรถญี่ปุ่นทั้งโตโยต้า ฮอนด้า รวมทั้งซูบารุ และยามาฮ่า ยังคงเดินหน้าพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง น่าจะเป็นการพยายามดิ้นเพื่อจะรักษาโครงสร้างการผลิตแบบเดิมเอาไว้ จะได้ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงตามที่กล่าวไว้

ผลตอบรับจากการชักชวนของเราที่บอกว่า ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น 4 รายสนใจโดยมีแผนที่จะทยอยลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าในไทยอยู่แล้วถือว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้นแค่นั้น

จะเริ่มจับต้องได้ก็ต่อเมื่อมีโรดแมปที่ชัดเจนจากทั้งสองฝ่าย การประเมินความพร้อมของแต่ละฝ่ายจะต้องเริ่มแล้ว จะจบเมื่อไหร่ แผนการเปิดตัวรถแต่ละค่ายแต่ละรุ่นจะเป็นรุ่นที่ผลิตในไทยเมื่อไหร่ โครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าใครจะรับผิดชอบตรงไหน ยังไง เมื่อไหร่ ฯลฯ

อย่าปล่อยให้เป็นแค่การตกลงในหลักการแล้วฝันหวานไปเรื่อย ๆ ครับ คู่แข่งการเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเรามีเยอะ และต่างก็มีจุดแข็งที่ต่างคนต่างขายได้ ถ้าไม่อยากฝันหวานเก้อละก็ ขอให้รีบลงรายละเอียดโรดแมปเรื่องนี้โดยเร็วครับ