ตรึงค่าไฟฟ้าอีวี ถึงปี 2568 BOI ออกแพ็กเกจหนุนลงทุนเครื่องชาร์จ-แบตเตอรี่

สนพ.ชงบอร์ดอีวีเคาะแพคเกจหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีก มอบบีโอไอจัดทำแพ็กเกจหนุนลงทุนเครื่องชาร์จ-แบตเตอรี่อีวี พร้อมตรึงค่าไฟฟ้าอีวียาวถึงปี 2568

วันที่ 2 มิถุนายน 2565 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ด EV) เปิดเผยว่า

ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม ในเรื่องสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า Low Priority สำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่อเนื่อง ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการขยายอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับอีวีออกไปถึงปี 2568

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) และกรมสรรพสามิตพิจารณาในส่วนของมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต

“ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต”นายวัฒนพงษ์ กล่าว

พร้อมทั้ง เห็นชอบให้มีการจัดทำ Platform กลาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมาตรการและวิธีการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด คอนโดมิเนียม

ขณะเดียวกัน ได้รายงานผลการดำเนินงานเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวีชาติ) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573

โดยภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป (ICE) ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า


ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565 ไทยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 944 แห่งทั่วประเทศ สำหรับยอดจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือนเม.ย.2565 สะสมรวมทั้งสิ้น 5,614 คัน