คนไทยกับภาษาอังกฤษ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อมีการวัดผลความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพูด อ่าน และเขียน เด็กไทยและคนไทยโดยเฉลี่ยจะได้คะแนนต่ำ อยู่ในอันดับที่ 53 ในจำนวน 80 ประเทศทั่วโลกที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นที่ 15 จาก 20 ประเทศในเอเชียที่เข้ามาทำการสอบ แม้ว่าคะแนนสอบจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา และพม่า แต่แพ้หลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม และถ้าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เข้าสอบ ไทยก็คงจะแพ้

ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษนั้นมีหลายระดับ สุดแท้แต่ภูมิหลังทางการศึกษาของคนไทย ในกรณีที่เป็นบุตรหลานของข้าราชการไทยที่ถูกส่งไปทำราชการในต่างประเทศ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอื่น ๆ ที่บิดามารดาถูกส่งไปทำงานในต่างประเทศ หรือบิดามารดาไปทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ และตนได้มีโอกาสเข้าโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน หรือกรณีเกิดในครอบครัวมีฐานะดี ครอบครัวสามารถส่งไปเรียนประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วกลับมาเมืองไทยก็จะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนไทยทั่วไป

สำหรับคนไทยที่เริ่มการศึกษาในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนศาสนา เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญ เซนต์คาเบรียล  มาแตร์เดอี หรือที่จังหวัดใหญ่ ๆ ที่โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากองค์กรศาสนาที่ส่งนักบวชชาวต่างประเทศมาสอน ใช้ตำราเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษก็จะดีกว่านักเรียนที่ศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาลที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษจากตำราที่แต่งโดยคนไทยตั้งแต่ชั้น ป.5 เป็นต้นไป

ส่วนเด็กจากครอบครัวที่มีอันจะกิน บุตรหลานที่เข้าโรงเรียนราษฎร์จะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นอนุบาล แม้ว่าจะมีงานวิจัยของกระทรวงศึกษาฯว่า ไม่มีประโยชน์มากนักสำหรับการให้เริ่มเรียนภาษาต่างประเทศตั้งแต่อายุต่ำกว่า 10 ขวบก็ตาม ไม่แน่ใจว่าความคิดนี้เปลี่ยนไปหรือยัง

สำหรับคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ไม่ว่าจะจากโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสอนทุกอย่าง หรือภาษาอังกฤษเป็นเพียงวิชาหนึ่งในหลาย ๆ วิชา ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะการพูดและการเขียนจะมีปัญหาพอ ๆ กัน เพราะภาษาไทยไม่ออกเสียงตัวสะกดท้ายคำให้ตรงกับอักษรที่ใช้สะกด แต่ออกเสียงเป็นแม่กก แม่กด แม่กบ แม่กน และแม่กง แม่กน แม่เกยและเกว เท่านั้น

อักษรในภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ออกเสียงไม่ตรงกับอักษรไทย คนไทยจึงมีปัญหาไม่สามารถออกเสียงจากลำคอ จากท้อง เหมือนภาษาอื่นได้ คนไทยจึงพูดภาษาทางยุโรปให้ชัดไม่ได้ แต่อาจจะพูดภาษาจีน มลายู เวียดนาม ได้ชัดมากกว่า แม้แต่ภาษาเขมร เราก็ออกเสียงอย่างเขาไม่ได้

เมื่อฝรั่งถามว่าเราเรียนภาษาอังกฤษกันกี่ปี คำตอบคือถ้าจบมหาวิทยาลัยก็ 14 ปี ถ้าจบมัธยมปลายก็ 10-12 ปี เป็นอย่างน้อย ฝรั่งเขาตกใจว่าเรียนภาษาอังกฤษแม้จะเป็น 1 ในหลาย ๆ วิชา ก็ยังพูด ยังฟัง ยังเขียน ภาษาอังกฤษไม่ได้ แม้แต่ผู้ที่เรียนจบมัธยมปลายที่เมืองไทยแล้วไปต่อปริญญาตรีที่ประเทศที่ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอน ยิ่งถ้าหากรอจนจบปริญญาตรี แล้วจึงค่อยไปเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ก็ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเท่ากับภาษาไทย

เพื่อนนักศึกษาที่เรียนชั้นปริญญาเอกด้วยกันที่อเมริกาเคยถามด้วยความสงสัยว่า โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ในเมืองไทยใช้ภาษาในการเรียนการสอนได้อย่างไร เพราะตำรับตำราล้วนแต่เป็นภาษาอังกฤษ แต่เราก็เรียนกันได้โดยการบรรยายในห้องเรียนเป็นภาษาไทย แต่หนังสือและบทความทางวิชาการที่ต้องอ่านนั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น

วิชาที่มีตำราภาษาไทยมากที่สุด คือ วิชานิติศาสตร์ หรือวิชากฎหมาย ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นตลาดวิชา หลักสูตรเพื่อปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต หรือ ธบ. อาจารย์ทุกท่านซึ่งส่วนใหญ่มาจากศาลยุติธรรมถูกบังคับให้เขียนตำรา เพราะมหาวิทยาลัยมุ่งรับนักศึกษาผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว ไม่มีเวลามานั่งฟังคำบรรยาย จึงอาศัยอ่านตำราเองที่บ้าน ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ตำราวิชากฎหมายที่เป็นภาษาไทยจึงมีเป็นจำนวนมาก

ส่วนศาสตร์อื่น ๆ ที่เรียนที่สอนที่มหาวิทยาลัยอื่น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศิลปากร หรือวิทยาลัยศึกษา ที่นิสิตนักศึกษาต้องมานั่งเรียนและต้องเข้าเรียนไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของเวลาเรียนทั้งหมดในแต่ละภาคการศึกษา นิสิตนักศึกษาจึงพึ่งพาการจดคำบรรยายเป็นหลัก นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมัยนั้นจึงมีสัดส่วนที่สอบผ่านน้อยกว่ามหาวิทยาลัยปิดเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่มีตำราภาษาไทยและไม่มีตำราภาษาไทยให้ศึกษา

หลายประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม หรือรัฐในอารักขาของอังกฤษ และพยายามดิ้นรนเลิกใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการและสื่อกลางในการเรียนการสอน แต่ก็ไปไม่รอด เช่น ประเทศอาหรับทั้งหลาย ประเทศปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา รวมทั้งพม่าที่เคยเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เพราะพม่าประกอบด้วยกลุ่มชนหลายเผ่า หลายพันธุ์ ที่ไม่ยอมรับภาษาพม่า แต่ยินดีใช้ภาษาอังกฤษ จนเมื่อปี 2505 นายพลเน วิน ทำการปฏิวัติปิดประเทศ เลิกเรียนเลิกสอนภาษาอังกฤษเป็นเวลา 26 ปี พลเมืองพม่าในปัจจุบันภาษาอังกฤษจึงเลวกว่าคนไทย ส่วนฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ทุกวันนี้ก็ยังต้องใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนอินโดนีเซียพยายามสร้างภาษาขึ้นมาใหม่ โดยใช้ภาษามาเลย์เป็นฐาน แล้วประดิษฐ์คำใหม่ ๆ เป็นภาษาสันสกฤตขึ้นมาใช้ แบบเดียวกับภาษาไทย ซึ่งชาติอื่นทำไม่ได้

ประเทศหลายประเทศมีอักษรของตนเอง เช่น ภาษาอาหรับ ภาษาฮินดี ภาษาทมิฬ ภาษาสิงหฬ ภาษาพม่า มอญ ไทยใหญ่ ภาษาไทย ภาษาไต ที่ดัดแปลงมาจากอักษรมอญและอักษรเขมร ส่วนที่เคยใช้ตัวหนังสือจีนก็เปลี่ยนมาใช้อักษรโรมันแทน ส่วนเกาหลีมีอักษรของตนเอง แต่ญี่ปุ่นใช้ตัวจีนผสมกับอักษรญี่ปุ่น

ด้วยเหตุที่จีน เวียดนาม เกาหลี มองโกล หรือแม้แต่ญี่ปุ่น เป็นชาติที่เอาจริงเอาจังในเรื่องการศึกษา ดังนั้นการเอาจริงเอาจังดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้นักเรียนนักศึกษาของชาติเหล่านี้ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนไทย

เมื่อเวียดนาม ลาว กัมพูชา ได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนและสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะเดียวกันอาเซียนได้ประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการของอาเซียน รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศก็ประกาศเปลี่ยนภาษาที่ 2 จากภาษาฝรั่งเศส มาเป็นภาษาอังกฤษ ข้าราชการตั้งแต่ชั้นผู้อำนวยการกอง ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องรู้ภาษาอังกฤษภายใน 2 ปี มิฉะนั้นจะถูกย้ายและไม่ได้รับการเลื่อนชั้นเป็นรองอธิบดี ข้าราชการทุกระดับต้องขวนขวายเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อสอบให้ผ่าน รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หลายคนต้องลาราชการไปเรียนภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์บ้าง มาเลเซียบ้าง เพื่อจะรักษาตำแหน่ง และเพื่อจะได้เลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง

สมัยกว่า 20 ปีก่อน ในการประชุมนานาชาติ ผู้แทนญี่ปุ่น เกาหลี จีน จะไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษ แต่จะพูดภาษาของตน เพราะความคิดเรื่องชาตินิยม หลังจากได้เอกราชจากการเคยเป็นอาณานิคม หรือรัฐในอารักขา แต่บัดนี้ความรู้สึกนั้นหมดไปแล้ว หันกลับมาใช้ภาษาอังกฤษกันทั่วไป รู้สึกมีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่ดีขึ้น พอสำรวจหรือมีการสอบแข่งขันทีไร เรามักจะอยู่ที่ครึ่งหลังของประเทศเข้าสอบแข่งขัน เช่นคราวนี้ก็อยู่ที่ 53 ในจำนวน 80 ประเทศ

ประธานสมาคมมิตรภาพลาว-ไทยคนแรกเคยเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาที่ท่านเข้าเรียน คือ ลิเซ่หลวงพระบาง หรือโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาหลวงพระบาง สอนเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยครูชาวฝรั่งเศส เมื่อนักเรียนย่างก้าวเข้ามาในรั้วโรงเรียน ห้ามพูดลาว ใครพูดลาวจะถูกตีหน้าเสาธง เข้าโรงเรียนปีแรกพ่อแม่ต้องบังคับให้ฝึกพูดที่บ้าน เพื่อจะได้ไม่เผลอไปพูดลาวที่โรงเรียน เพียงเวลา 1 ปี เมื่อขึ้นชั้น ป.2 ก็สามารถฟังครูฝรั่งเศสพูดได้แล้ว ปลายปี ป.2 และ ป.3 ป.4 ก็สามารถอ่าน เขียน พูด ภาษาฝรั่งเศสได้แล้ว ไม่อนุญาตให้นำหนังสือภาษาลาวเข้ามาในโรงเรียน ใครอยากเรียนภาษาลาวต้องแอบเรียนกับพระที่วัด หรือไม่ก็เรียนกับพ่อแม่ที่บ้าน โดยต้องเขียนหนังสือเอาเอง เพราะการเรียนภาษาลาวเป็นความผิด

ส่วนการเรียนอักษรธรรมใบลานตามวัด ทางฝรั่งเศสอนุญาต ต่อมาจึงผ่อนคลายลง โดยบาทหลวงฝรั่งเศสได้ทำให้การอ่าน เขียนภาษาลาวง่ายขึ้น โดยตัดอักษรและสระที่ซ้ำกันออกและให้สะกดตามที่ออกเสียง ไม่ต้องสะกดตามรากศัพท์บาลี สันสกฤต หรือภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือฝรั่งเศส เป็นต้น ภาษาเขียนของลาว เขมร จึงเป็นภาษาเขียนที่สะกดตามเสียงที่ออก ไม่รักษารากศัพท์บาลี สันสกฤตไว้เลย

ส่วนเวียดนามเคยใช้ตัวหนังสือจีนที่ทำให้ง่ายขึ้นเป็นตัวหนังสือเวียดนาม ฝรั่งเศสก็แนะนำให้ใช้อักษรโรมันที่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์ เพื่อให้เพียงพอกับภาษาเวียดนามแทนตัวจีน ส่วนลาวไม่ยอมใช้อักษรโรมัน แต่ขอใช้อักษรลาวและเขมรตามเดิม แต่ทำให้ง่ายขึ้นเพื่อประโยชน์กับการเรียนของมวลชนที่ทุกคนควรรู้หนังสือ

เข้าใจว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราเคยชินกับภาษาเมืองแม่ที่เป็นภาษายุโรป เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือดัตช์ ส่วนไทยเราใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนมาโดยตลอด คนไทยจึงไม่ชินกับการออกเสียงภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าภาษาใด แม้แต่ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร เราก็ดัดแปลงออกเสียงเป็นไทย ๆ

ภาษาอังกฤษของคนไทยโดยทั่วไปจึงสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ แต่ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร ถ้าใช้ได้ดีก็ดี ใช้ไม่ถนัดก็ไม่เป็นไร


ไม่ควรจะเป็นปมด้อย