การทำนาสมัยนี้

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เด็ก ๆ รุ่นก่อนทุกคนจะถูกผู้ใหญ่พ่อแม่ดุ ไม่ให้ทำข้าวหกหรือรับประทานข้าวแบบทิ้งขว้าง เพราะแม่โพสพจะโกรธ พร้อมกับสอนให้เห็นใจชาวนาที่เหนื่อยยาก อาบเหงื่อต่างน้ำทำนาผลิตข้าว เลี้ยงดูพวกเราที่ไม่ได้ทำนา หรือไม่ก็สอนให้ดูผู้ที่อดอยากในอินเดียหรือแอฟริกา ความรู้สึกเสียดายหากจะรับประทานข้าวเหลือหรือหกเรี่ยราด

แต่มาบัดนี้ ทุกวันทุกคืนที่ดูข่าวทางโทรทัศน์ เห็นกระสอบข้าวกองเต็มโกดัง ที่มีข้าวเป็นกรังจากการเก็บไว้ในกระสอบเน่าเป็นผุยผงรับประทานไม่ได้ หรือแม้แต่จะนำไปทำอาหารสัตว์ ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ คนสมัยนี้ไม่มีความรู้สึกเสียดาย หรือไม่รู้สึกเห็นใจชาวนาที่ตรากตรำ หลังขดหลังแข็ง ไถ ดำ หว่าน เกี่ยว รวมทั้งสีข้าวเปลือกจนออกมาเป็นข้าวสารให้คนในกรุงบริโภคได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้สึกเสียดายที่ข้าวถูกนำเก็บให้เน่าเปื่อยเสียหาย ไม่รู้สึกสงสารชาวนาเหมือนกับเมื่อสมัยก่อน

ที่ยังแปลกใจอยู่ก็คือ ข้าวที่เก็บกองเอาไว้จากการจำนำไม่ว่าจะในโกดังของทางการก็ดี โรงสีก็ดี หรือยุ้งฉางของชาวนาก็ดี ไม่มีทางที่จะอยู่ได้ถึง 3 ปีดังที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน พวกเราซื้อข้าวสารเป็นถุงจากร้านสะดวกซื้อ ถุงละ 5 กก. ไม่ได้ซื้อเป็นถังอย่างเมื่อก่อน ถ้าหุงรับประทานไม่หมด เพียงเดือนสองเดือนมอดก็เริ่มขึ้นกัดกินข้าวเป็นผงแล้ว และถ้าทิ้งไว้ต่อไปก็จะเป็นกรังเกาะกันเป็นก้อน หรือไม่ก็ขึ้นรา ทั้งสีเหลือง ทั้งสีเขียว เอาไปทำอาหารสัตว์ก็คงมีอัลฟาท็อกซินเป็นอันตราย ข้าวโพดและมันสำปะหลังอัดเม็ดก็คงจะเช่นเดียวกัน ที่ไม่เข้าใจก็คือป่านนี้ก็ยังมีข้าวรอการระบายอยู่จำนวนมากถึง 8-9 ล้านตัน ต้องเสียค่าเช่าโกดัง ค่าบำรุงรักษาคุณภาพ มีข่าวว่าการประมูลขายเป็นโกดัง ๆ โดยไม่ได้แยกข้าวที่ยังมีคุณภาพดีกับข้าวที่เสื่อมสภาพแล้วออกจากกัน ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ตอบชี้แจงว่า ไม่สามารถตรวจสอบข้าวเป็นจำนวนมากพร้อม ๆ กันได้ เพราะข้าวอยู่ในกระสอบวางเรียงซ้อนกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริง ถึงแม้จะตรวจสอบได้ แม้จะเป็นข้าวเปลือกอายุกว่า 3 ปีแล้วค่อยเอามาสีเป็นข้าวสาร ก็ไม่น่าจะมีอะไรเหลือเป็นข้าวที่จะใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ได้แล้ว

สำหรับคำกล่าวที่ว่า ชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่น่าจะจริงเสียแล้วในสมัยนี้ เพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น อาชีพการทำนาเป็นอาชีพที่หนัก ลูกหลานชาวไร่ชาวนาบัดนี้ล้วนได้รับการศึกษา จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือไม่ก็จบปริญญาจากสถาบันต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล มหาวิทยาลัยเปิด รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีอยู่ทั่วไป เมื่อเรียนจบแล้วก็ไม่มีใครอยากทำไร่ทำนา ถ้าจะทำก็ทำนาแบบ “ไร้สาร” หรือใช้ปุ๋ย “ชีวภาพ” ที่สามารถขายได้ในราคาแพง แต่สัดส่วนของพืชผลประเภทนี้ก็มีเพียงหยิบมือเดียว เมื่อเทียบกับผลผลิตข้าวทั้งหมด

ชาวนายุคนี้จึงเป็นชาวนาดั้งเดิมที่ลูกหลานไม่ยอมสืบทอดอาชีพนี้อีกต่อไป มีอายุเฉลี่ยกว่า 60 ปีขึ้นไป ไม่สามารถหว่านไถเกี่ยวสีข้าวได้ทุกอย่าง ใช้วิธีจ้างไถ จ้างดำ จ้างเกี่ยวด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ โดยมีเอกชนหรือไม่ก็ชาวนาด้วยกันนั่นเองเป็นผู้ลงทุนซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไถ เครื่องปักดำ เครื่องเก็บเกี่ยว นวด อบ หรือเครื่องอัดไอน้ำ กรณีข้าวคุณภาพต่ำที่เอาไปสีเป็นข้าวนึ่งขายประเทศอาหรับและประเทศยากจน โดยชาวนาอายุมากเหล่านั้นทำหน้าที่เพียงดูแลให้ผู้รับจ้างไถ หว่าน ดำ เก็บ เกี่ยวทำให้เรียบร้อยเท่านั้น ในกรณีข้าวโพดหรือมันสำปะหลัง การไถก็ทำโดยรถไถรับจ้างขนาดใหญ่ เกษตรกรเพียงแต่เดินหยอดเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อจากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์รุ่นต่อไปไม่ได้ ต้องซื้อใหม่ตลอดไป เพราะคุ้มกว่าเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า พื้นที่ทำนาทำไร่เดี๋ยวนี้จึงไถเอาคันออกเพื่อให้เป็นนาผืนใหญ่ สะดวกที่รถไถ รถดำ รถเกี่ยว จะได้ทำงานกันไปได้เลย แล้วคิดค่าบริการกันทีหลังตามจำนวนเนื้อที่ที่ให้บริการไถ ดำ เกี่ยว สี ดังกล่าว

การทำนาโดยการเช่าเครื่องจักรดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง มีต้นทุนขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า เวียดนาม เขมร ลาว ได้ เพราะประเทศเหล่านี้ระดับการพัฒนายังต่ำกว่าประเทศไทย ค่าจ้างแรงงานยังมีราคาถูก ประเทศไทยไม่สามารถผลิตข้าวนาปรังคุณภาพต่ำแข่งขันได้ เพราะเป็นข้าวราคาถูก แต่ที่ผลิตอยู่ได้ก็เพราะโครงการประกันราคาข้าวหรือจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เป็นเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือโรงสี เจ้าของโกดัง มีการลงทุนสร้างโรงสี สร้างโกดัง เพื่อหาผลประโยชน์จากโครงการนี้โดยตรงเป็นจำนวนมาก

เมื่อพูดถึงเรื่องโครงการประกันราคาข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดโลกซึ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะทำทั้งหมดก็มักจะมีคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นจะให้ชาวนาทำอะไร เป็นคำถามที่ถกเถียงกันไม่จบ เพราะยังไม่มีตัวอย่างเป็นรูปธรรม แต่เมื่อรัฐบาลทหารเลิกโครงการประกันราคาหรือโครงการจำนำข้าวมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เป็นแหล่งปลูกข้าวนาปรัง ตามโครงการลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังของกระทรวงเกษตรฯ แม้จะมีข่าวว่ามีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี และสิงห์บุรี เพื่อนำมาเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล รวมไปถึงกุ้งแม่น้ำด้วย ดีกว่าทำนาปรังต้นทุนสูงใช้น้ำมาก ขายไม่ได้ราคา ขาดทุน ต้องเอาเงินภาษีอากรมาชดเชยอยู่ตลอดกาล ไม่คิดจะเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น

พื้นที่ที่ทำนาปีด้วยน้ำฝน รวมทั้งพื้นที่ที่มีเหมืองฝาย ระบบชลประทานราษฎร ที่ผลิตข้าวนาปีคุณภาพสูง มีราคาแพง เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาวดอกมะลิ ข้าวขาวตาแห้ง ข้าวเสาไห้ ข้าวเหนียวสันป่าตองในภาคเหนือและภาคอีสาน ชาวนาก็ไม่ได้หว่านไถดำเกี่ยวด้วยมือแล้ว ทั้งหมดทำด้วยเครื่องจักรรับจ้างหมด ผู้ที่ทำนาก็เป็นคนสูงวัย

คนหนุ่มสาว คนวัยกลางคน ก็ทำการค้า เป็นผู้ประกอบการหรือเป็นพนักงาน เป็นคนงานในโรงงานและอยู่ในเมืองกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพดี ราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดผู้มีรายได้สูง เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย จึงไม่ขาดทุน

แม้ว่าการทำนาทำไร่จะเปลี่ยนไปมาก แต่การทำนาแบบดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่บ้าง แต่การใช้กระบือไถนาอย่างแต่ก่อนไม่มีแล้ว เพราะค่าเสียโอกาสในการเลี้ยงกระบือนั้นไม่คุ้ม อาจจะซื้อกระบือเพื่อใช้ไถนาในต้นฤดูฝน เมื่อเสร็จแล้วก็ส่งโรงฆ่าสัตว์ เมื่อถึงฤดูหน้านาใหม่ก็ซื้อควายตัวใหม่มาทำการไถและส่งโรงฆ่าสัตว์ แต่กรณีใช้สัตว์ในการไถหว่านบัดนี้ก็มีน้อยมาก เพราะไม่คุ้มทางเศรษฐกิจ

เมื่อวิธีการทำนาเปลี่ยนจากการใช้กำลังคน กำลังสัตว์ มาเป็นการใช้เครื่องมือเครื่องจักร วิถีชีวิตขนบธรรมเนียม ประเพณีในการที่เกี่ยวข้องกับการทำนาเกี่ยวข้าวก็พลอยเปลี่ยนไปด้วย ผู้คนอพยพเข้าเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับชนบทอยู่ตามเดิม

การเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศโดยการยกเลิกโควตาส่งออก โดยการยกเลิกภาษีและค่าธรรมเนียม หรือพรีเมี่ยมการส่งออกเมื่อปี พ.ศ. 2525 รวมทั้งการลอยตัวค่าเงินบาท ยกเลิกการตรึงค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐหรือกับตะกร้าเงินหลายสกุลเมื่อปี 2540 ทำให้ชาวนาได้ประโยชน์อย่างมหาศาล นอกจากจะสามารถขายสินค้าเกษตรของตนได้ตามราคาตลาดโลกแล้ว ยังทำให้ได้ราคาดีกว่าเดิมอีกด้วย

การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงกระจายออกสู่ต่างจังหวัดและชนบท ทำให้เกิดนายทุนท้องถิ่น มีผู้นำท้องถิ่นที่มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ทำให้ชาวนาชาวไร่ในชนบทมีปากเสียงทางการเมืองมากขึ้น ทำให้พรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบายดังกล่าวได้รับความนิยม สามารถชนะการเลือกตั้งติดต่อกันมาหลายสมัย เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองหนึ่งสามารถครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดได้เพียงพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบันอย่างไม่น่าเชื่อ

ถ้าหากนโยบายสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด อ้อย น้ำมันปาล์ม ยางพารา มันสำปะหลัง รวมทั้งประมงน้ำจืดและประมงน้ำกร่อย ซึ่งเชื่อมโยงกับราคาอาหารสัตว์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายราคาข้าวโพดและราคาถั่วเหลือง ปล่อยให้เป็นไปตามราคาตลาดโลกและกลไกตลาด เกษตรกรก็จะปรับตัวเองในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็จะสะท้อนไปเพื่อการปรับปรุงที่ดินประเภทต่าง ๆ พื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งการผลิตสินค้าชนิดต่าง ๆ มากน้อยตามผลประโยชน์ที่จะได้จากการใช้ที่ดินเช่นว่านั้น แทนที่จะเป็นไปตามเงินชดเชยที่รัฐบาลจัดให้

เงินที่รัฐบาลประหยัดได้จากการหยุดใช้นโยบายพยุงราคา ประกันราคา หรือจำนำพืชผลการเกษตร ที่มีเป็นจำนวนมากต่อปี ก็น่าจะวางแผนนำมาลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องการศึกษาทุกระดับ ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ การควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมงานวิจัย ส่งเสริมการเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี รวมทั้งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการชลประทานให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิตต่อไป เพื่อถีบตัวออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไม่ใช่ประเทศผู้ส่งข้าวออกมากที่สุดในโลกอีกต่อไป ปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านของเราที่จนกว่าเรา เช่น เวียดนาม หรือพม่า รวมทั้งกัมพูชา เป็นผู้ส่งออกข้าวที่มากที่สุดแทนประเทศไทยดีกว่า

ลดพื้นที่และจำนวนชาวนาได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี