ทรงผมและชุดนักเรียน โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ทรงผมและชุดนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1-4 และชั้นมัธยม 1-6

สมัยก่อนที่จะมีชั้นประถม 7 แล้วมาถึงสมัยนี้ที่มีถึงชั้นประถมปีที่ 6 แต่จากชั้นประถมปีที่ 1 ถึงชั้นเตรียมอุดมฯปีที่ 2 หรือชั้นมัธยมศึกษา ม.ศ. 6 ซึ่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนจำไม่ได้ แต่สรุปว่าชั้นประถมศึกษารวมกับมัธยมศึกษาหรือเตรียมอุดมศึกษา นักเรียนจะต้องเรียน 12 ปี จึงจะเข้ามหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษาได้ จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทรงผมและเครื่องแบบชาย-หญิงก็คงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็มีการเรียกร้องประท้วงจากนักเรียนเป็นระยะ ๆ เรื่อยมา

สมัยก่อนนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษาก็ดี มัธยมศึกษาก็ดี หรือเตรียมอุดมศึกษาก็ดี หากเป็นโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาต้องสวมเครื่องแบบ กางเกงขาสั้นสีกากี เสื้อเชิ้ตคอปกสีขาวแขนสั้น มีกระเป๋าเสื้ออยู่ทางด้านซ้าย เหนือกระเป๋า เสื้อปักอักษรย่อชื่อโรงเรียนด้วยไหมสีน้ำเงิน ส่วนนักเรียนหญิงก็จะสวมกระโปรงสีน้ำเงิน จีบกลับข้างละ 3 กลีบ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังที่กลีบหันออก แต่สวมเสื้อคอปกทหารเรือสีขาว ผูกโบสีน้ำเงินด้วยเงื่อนทหารเรือ แต่เมื่ออยู่ชั้นเตรียมอุดมศึกษา หรือ 2 ปีก่อนเข้ามหาวิทยาลัย หรือชั้นมัธยมปลายสายอาชีวศึกษา เครื่องแบบนักเรียนชายจะเหมือนเดิม แต่เครื่องแบบนักเรียนหญิงเปลี่ยนไป กระโปรงมีกลีบหน้าและหลังทั้ง 2 ข้างจะเหมือนเดิม แต่อาจจะสวมกระโปรงสีดำแทนกระโปรงสีน้ำเงิน เสื้อเปลี่ยนเป็นเสื้อปกคอตั้ง แขนพอง เข็มขัดหัวสี่เหลี่ยม ซึ่งสมัยมัธยมต้นและปลายไม่คาดเข็มขัด ส่วนนักเรียนชายคาดเข็มขัดสีน้ำตาล หัวสี่เหลี่ยมทองเหลืองขัดเงา

เมื่อขึ้นชั้นเตรียมอุดมศึกษา ถ้าอยู่โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาก็ยังคงแต่งกายเหมือนเดิม ยกเว้นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท และสาขา กางเกงเปลี่ยนจากสีกากีเป็นกางเกงสีดำ รองเท้าหนังหรือผ้าใบ เปลี่ยนจากสีน้ำตาลหรือสีกากีเป็นสีดำ ถุงเท้าขาว กลัดเข็มพระเกี้ยวสีทองสำหรับผู้ชาย และสีเงินสำหรับนักเรียนหญิง ซึ่งสวมรองเท้าหุ้มส้นมีสายคาด ถุงเท้าสีขาวไม่ต่างจากนักเรียนหญิงชั้นเตรียมอุดมฯ 1-2 ของโรงเรียนมัธยมศึกษาโรงเรียนอื่น ๆ

สำหรับโรงเรียนเอกชนที่สังกัดมิสซังคาทอลิก เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญฯ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนดอนบอสโก โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย หรือโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ หรือโรงเรียนทางคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เช่น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย หรือโรงเรียนวัฒนาก็ดี เครื่องแบบนักเรียนจะผิดแผกแตกต่างกันไป เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญฯและเซนต์คาเบรียล หรือกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กางเกงจะเป็นสีฟ้า ส่วนนักเรียนหญิงจะเป็นเสื้อคอตั้งแขนพองตั้งแต่ต้น บางแห่งก็ให้ผูกเนกไทหลวม ๆ มีหลายอย่างเพื่อบ่งบอกว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนศาสนาบ้าง โรงเรียนเอกชนบ้าง

ที่ต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ก็มี จังหวัดอุดรธานีก็มี จังหวัดสกลนครก็มี หรือทางใต้ที่สงขลา หาดใหญ่ หรือโรงเรียนปอเนาะใน 3 จังหวัดภาคใต้

พวกเรานักเรียนโรงเรียนมัธยมรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ใส่เสื้อกางเกงโหลที่ซื้อจากร้านนพรัตน์ ร้านค้าชุดนักเรียนและชุดลูกเสือที่ตลาดบางลำภูเหมือน ๆ กันเกือบทุกโรงเรียน แต่คุณภาพของเสื้อกางเกงทั้งของนักเรียนและลูกเสือ ที่เรามักเรียกว่า เสื้อกางเกงโหล เพราะฝีมือตัดเย็บค่อนข้างไม่เรียบร้อย ไม่ประณีตเหมือนร้านตัดเย็บเป็นตัว ๆ เป็นชุด ๆ ตามสั่ง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “tailor made” พอขึ้นชั้นมัธยม 5 มัธยม 6 ก็ไม่นิยมใส่เสื้อกางเกงโหลอีกต่อไป ต้องไปร้านตัดทั้งที่บางลำพูและที่ประตูน้ำ

ความพยายามที่จะขัดขืนไม่ทำตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการมีอยู่เสมอทุกรุ่น เพราะเป็นเรื่องโก้เก๋ ใครทำได้โดยไม่ถูกตีถือว่าเป็นวีรบุรุษ ถือว่า “แน่มาก” และมักจะถูกจับตีที่หน้าเสาธงตอนร้องเพลงเคารพธงชาติเวลา 08.00 นาฬิกาอยู่เสมอ แต่ก็ยังอยากทำ ยิ่งถูกตียิ่งทำ

นอกจากถูกตรวจเรื่องการแต่งกายให้ถูกระเบียบแล้ว การตรวจทรงผมก็เป็นอีกเรื่องที่จะถูกตีอยู่เสมอ นักเรียนชายจะต้องไว้ผมสั้น ไม่มีจอน ผมตัดสั้นเกรียนติดกับหนังศีรษะข้างบน ยาวไม่เกิน 1.00 ซม. พวกเราก็มักจะเลี่ยงไปไว้ผมทรง “แฟลตท็อป” ครูทิม ผลภาค ท่านเรียกว่าทรง “ลานบิน” บางคนดัดแปลงทรง “ลานบิน” ให้ยาวยื่นมา ตั้งอยู่ข้างหน้ายาวประมาณ 2 ซม. คล้าย ๆ กับทรงผมของ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในปัจจุบัน กางเกงก็มีทรงใหม่คือเอวสูงเกือบถึงหน้าอก เป้าก็ยานไปถึงครึ่งขาอ่อน คาดเข็มขัดหนังที่เอว นิยมเรียกกันว่าเป็นทรง “ฮ่องกง” ผิดระเบียบของกระทรวงศึกษาฯอีก สำหรับผ้าตัดกางเกงก็ต้องเป็นผ้าลายสองสีกากี เหมือนสีเครื่องแบบรัฐมนตรีในปัจจุบัน ลงแป้งรีดเรียบแข็งปั๋ง

เพื่อนบางคนที่รักความโดดเด่นก็ไปตัดกางเกงผ้า “ซาติน” สีกากีอ่อน สีผิวของผ้าดูมันและลื่นเล็กน้อย หรือผ้าเสิร์จนิ่มไม่ต้องลงแป้งแต่ก็ผิดระเบียบ เมื่อมาถึงโรงเรียนก็โดนเรียกไปดุว่าผิดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการอีก แต่เพื่อนพวกนั้นเขาก็ใช้วิธีแต่งตามที่เขาชอบ นั่งรถเมล์มาจากบ้านแต่ลงป้ายก่อนถึงโรงเรียน แล้วก็เปลี่ยนเป็นชุด “เชย ๆ” ของกระทรวงศึกษาธิการที่กางเกงให้ใช้ผ้าลายสอง เสื้อสีขาวผ้าลินิน ขอบน้ำเงิน ลงแป้งรีดให้กลีบโง้งเป็นที่นิยมสมัยนั้น ก่อนเดินเข้าโรงเรียน พับเสื้อกางเกงตัวเก่งเก็บใส่กระเป๋าหนังสือที่เป็นหนัง

สำหรับชุดลูกเสือที่จะต้องแต่งในวันศุกร์ เพราะบ่ายวันศุกร์เป็นวันลูกเสือ นักเรียนที่ไม่ได้รับคัดเลือกเป็นสารวัตรจะแต่งแบบธรรมดา คือผ้าพันคอสีเหลืองผูกคอ เงื่อนไม่ตายรูดออกได้ ส่วนสารวัตรนักเรียนซึ่งเป็นเพื่อนกันจะมีเครื่องแบบหรูหราหลายอย่าง เช่น หมวกปีก ติดตราช่อชัยพฤกษ์ประกอบด้วยหน้าเสือติดไว้หน้าหมวก ผ้าพันคอมีขอบสีขาบ มีปลอกหนังสีน้ำตาลตราช่อชัยพฤกษ์ประกอบด้วยหน้าเสือเป็นหัวหน้าหมวด พวกเราลูกแถวแบกไม้พลองพาดไว้บนบ่า ฝึกเดินแถวคล้ายทหาร ตามเสียงนกหวีด ปิ๊ด-ปี้-ปิ๊ด มีกลองแต๊กนำ

เมื่อสิ้นปีก็จะมีการสอบ ตั้งแคมป์นอนที่สนามหน้าเสาธง ต้องจุดไฟทำกับข้าวโดยใช้ไม้ขีดไม่เกิน 3 ก้าน แต่ละกลุ่มจะถูกกำหนดเมนูอาหารที่ให้ทำ แต่ทุกกลุ่มต้องหุงข้าวโดยไม่เช็ดน้ำให้เป็น เพราะในตำราบอกไว้ว่าข้าวสุกที่ไม่เช็ดน้ำจะมีวิตามินหลายอย่าง รวมทั้งวิตามินบีที่สามารถป้องกันโรคเหน็บชาได้ ไม่แน่ใจว่าลูกเสือสมัยนี้ยังต้องสอบหุงข้าว ทำกับข้าวและเดินทางไกลเหมือนเด็กสมัยก่อนหรือไม่ นอกจากจุดไฟเป็น หุงข้าวทำกับข้าว อย่างน้อยต้มไข่และเจียวไข่เป็น แล้วยังต้องสนเข็มเย็บผ้าเป็น สามารถเย็บปะเสื้อกางเกงที่ขาดได้ด้วย เพราะสมัยนั้นเสื้อผ้าเป็นของที่หายาก ราคาแพง เด็กทุกคนต้องรู้จักประหยัด ช่วยบิดามารดาทำงานบ้านและอยู่ในวิชาลูกเสือ ตามคำขวัญของลูกเสือที่หัวเข็มขัดว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” แต่ถ้าครูเผลอมักจะมีคนพูดต่อว่า “เสียเข็มขัดอย่าเสียกางเกง” ถ้าครูได้ยินก็จะโดนตีเป็นการลงโทษอีก แต่พวกเราก็ชอบพูด

มีอีกหลายอย่างที่เด็กสมัยนั้นชอบเล่นคือ ไปจับจิ้งหรีดมากัดกัน หรือเอามาเลี้ยงให้กินน้ำค้างแล้วกรีดปีกร้องเสียงแหลม ว่าจิ้งหรีดใครจะร้องเสียงดังกังวานกว่ากัน ก่อนจะนำเอามากัดกัน ทำนองเดียวกันกับการเลี้ยงปลากัด นอกจากจะให้ปลาเห็นคู่ต่อสู้ที่อยู่ในอีกขวดหนึ่ง แผ่เหงือกครีบหางว่ายน้ำไปมา ทำท่าทางเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายเข้ามากัดสู้กัน แต่ทุกบ้านแม่จะห้าม ถ้าเห็นจะถูกเรียกมาตีเพราะเป็นบาปเป็นกรรม ผิดศีลปาณาติบาต ถ้าจะเล่นก็ต้องซ่อนไม่ให้แม่เห็น ส่วนพ่อไม่ว่าอะไร

ลูกหินและลูกข่างเป็นอีก 2 อย่างนอกจากทำป่านคมเพื่อเล่นโดยใช้ป่านคมที่รูดด้วยแป้งเปียกผสมกับแก้วบดละเอียด ตัดสายป่านว่าวของฝ่ายหนึ่งให้ขาดลอย โดยมีกติกาว่าใครถึงว่าวและเก็บว่าวได้ก่อน ว่าวก็จะต้องเป็นของผู้นั้น

กีฬาการแข่งขันว่าวเป็นกีฬาประจำชาติ มีการแข่งขันกันทุกปีในเดือน 5 ตรงกับเดือนเมษายน เป็นการแข่งขันระหว่างว่าวปักเป้ากับว่าวจุฬาของอำเภอหรือเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ชิงถ้วยพระราชทาน เสียดายที่กีฬาไทยเดี๋ยวนี้เลิกราไปเช่นเดียวกับตะกร้อลอดบ่วงที่ไม่ค่อยได้เห็น แม้จะมีการแข่งขันระดับชาติและระดับซีเกมส์ ตะกร้อล้อมวงเป็นกีฬาพื้นบ้าน ชอบเล่นกันทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เตะเล่นกันในชั่วโมงที่ว่างจากการเรียน ความจริงกีฬาแข่งว่าวจุฬา-ปักเป้าและตะกร้อไม่น่าเลิก เป็นกีฬาประจำชาติ ชาติอื่นน้อยนักที่จะมีคนชัก ก็ต้องถ่ายทอดกันเป็นรุ่น ๆ บัดนี้คงไม่มีแล้ว

ขอวกกลับมาเรื่องเครื่องแบบและทรงผม ชั้นประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย เห็นนักเรียนในยุโรปและอเมริกาถ้าเป็นโรงเรียนรัฐบาลจะไม่มีเครื่องแบบ ผู้ชายใส่กางเกงขายาว เสื้อมีสีสัน รองเท้ารูปแบบต่าง ๆ ทรงผมก็เป็นรองทรงแบบลูกชายโดนัลด์ ทรัมป์ ดูก็เรียบร้อยดี ผู้หญิงก็ไว้ผมยาว รวบผมตึงไว้ด้านหลังเป็นหางม้า ข้างหน้าไม่มีผมปรกหน้าผาก กระโปรงหรือกางเกงขายาว สวมถุงน่อง รองเท้าเหมือนไปเที่ยวปกติ ดูก็เรียบร้อยดี

แต่ในทางเอเชียไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา นักเรียนชั้นมัธยมมีเครื่องแบบใส่เหมือนกับเมืองไทย ส่วนทรงผมก็มีทั้งแบบสั้นและแบบรองทรง หากไว้ยาวก็ม้วนเป็นมวยไว้ด้านหลังเหมือนพราหมณ์ ไม่มีไว้หนวดไว้เครา โรงเรียนเกือบทั้งหมดยกเว้นอินเดีย สำหรับพวกซิกข์ห้ามไว้หนวดไว้เคราและตัดผมสั้น เข้าใจว่าพวกซิกข์ในเมืองไทยได้รับการยกเว้นให้สามารถไว้หนวดไว้เคราและไว้ผมยาวได้ เพราะเป็นกฎของศาสนาซิกข์ที่ “สตาซี” สามารถไว้หนวดไว้เคราและผมยาวในโรงเรียนได้ สำหรับนักเรียนหญิงไว้ผมสั้นปกใบหูเล็กน้อย ข้างหน้าทำเป็นผมม้าเหมือนทรงผมผู้หญิงจีนสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญปัจจุบันบัญญัติรับรองสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย รับรองสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการในราชกิจจานุเบกษาบัญญัติอนุโลมตามรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือกฎระเบียบของโรงเรียนหลายแห่งไม่แก้ไขอนุโลมตามพระราชบัญญัติและรัฐธรรมนูญ ให้สิทธิเสรีภาพนักเรียนในการไว้ทรงผม เพราะทรงผมบัดนี้ไม่ได้เป็นเครื่องแบ่งชนชั้นวรรณะและฐานะทางเศรษฐกิจอีกแล้ว

แต่เมืองไทยกฎระเบียบของหน่วยงาน ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.