เปิดประวัติเส้นทางอำนาจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากผู้มีบารมีในกองทัพ สู่การก้าวขึ้นสู่เก้าอี้สูงสุดฝ่ายบริหาร รักษาการนายกรัฐมนตรีชั่วคราว
ช่วงเวลานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลายเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น จากการขึ้นมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ
หากมองย้อนกลับไปในเส้นทางชีวิตของชายคนนี้ ถือเป็นผู้ที่มีคอนเน็กชั่นและสั่งสมบารมีทางการเมืองมากที่สุดคนหนึ่ง ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเพียงนายทหาร จนถึงวันนี้ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี
เส้นทางพี่น้องนายพล 3 ป.
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2488 เข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เมื่อปี 2505 จากนั้น ปี 2508 ก้าวเข้าสู่ชีวิตชายชาติทหารด้วยการเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 6 ในปี 2508 และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 17 ในปี 2512 รุ่นที่ใครหลายคนตั้งชื่อรุ่นว่า “รุ่นฝนแรก” จากการที่ถูกลงโทษช่วงหน้าฝน และฝนตกช่วงฝึกภาคสนาม ในเดือนเมษายน ทั้งที่ช่วงเวลาดังกล่าวไม่ใช่ฤดูฝน
พล.อ.ประวิตรเริ่มต้นเดินบนเส้นทางการเป็นนายทหารด้วยการเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 3 เมื่อปี 2512 และเตืบโตบนเส้นทางราชการทหารมาโดยตลอด กระทั่งปี 2524 ได้ขึ้นมาเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือที่สื่อมักเรียกเครือข่ายดังกล่าวว่า “บูรพาพยัคฆ์”
ชีวิตการเป็นทหารของ พล.อ.ประวิตร เติบโตตามเส้นทางนายพลมากฝีมือและเครือข่ายอำนาจ ตั้งแต่การเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในปี 2545 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2546 และผู้บัญชาการทหารบก สมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ปี 2547) นับเป็นทหารสายบูรพาพยัคฆ์คนแรกที่ได้ขึ้นแท่นเป็น ผบ.ทบ. ก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทั้งพี่น้อง 3 ป. และทหารบูรพาพยัคฆ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวเช่นกัน
จาก “ทหาร” สู่ “นักการเมือง”
หลังเกษียณอายุราชการทหารเมื่อปี 2548 ชื่อของ พล.อ.ประวิตร เป็นที่ได้ยินอีกครั้งบนสนามการเมือง ในฐานะ รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ปี 2551-2554) และกลับมาอยู่บนหน้าการเมืองอีกครั้งช่วงสมัย คสช. ในฐานะรองหัวหน้า คสช. รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเป็น รมว.กลาโหม ครั้งที่ 2 จนถึงกรกฎาคม 2562 โดยยังคงเป็นรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้
ปี 2563 การเมืองไทยสั่นสะเทือนอีกครั้ง เมื่อมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตรจะได้รับการเสนอให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แล้วกระแสข่าวก็กลายเป็นเรื่องจริง เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2563 พล.อ.ประวิตร ตอบรับนั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และยังคงสร้างบารมี เป็นที่นับหน้าถือตาในกลุ่มสมาชิกทั้งนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเครือข่ายเกือบทุกพรรค ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองท้องถิ่น
พล.อ.ประวิตรคร่ำหวอดในวงการความมั่นคง เกี่ยวพันกับนักการเมืองทุกระดับมาตั้งแต่อ่อนเกษียณอายุราชการจวบจนปัจจุบัน อาจนับห้วงเวลาได้เกือบ 2 ทศวรรษ ชื่อของ พล.อ.ประวิตร จึงปรากฏอยู่ในการ “ดีลลับ” กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ไม่เคยมีหลักฐานปรากฏชัดแจ้ง
ไม่เพียงแต่กับคอนเน็กชั่นกับบรรดานักธุรกิจ นักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ระดับชาติ พล.อ.ประวิตรยังมองหน้ารู้ใจกับคนในวุฒิสภาสัดส่วนเกินครึ่งใน 250 คน บารมีของเขายังคงลอยเหนือกองทัพ ทั้ง 4 เหล่าทัพ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ รวมทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การได้รับฉายา “ป๋าคนที่สองของกองทัพ” ที่นายทหารกลุ่มที่สนิทเรียกกันเบา ๆ แต่ได้ยินกันทั่วทุกโครงสร้างอำนาจ จึงอาจมีความจริงเจือปนเป็นส่วนใหญ่
พล.อ.ประวิตร และคอนเน็กชั่นพิเศษ
พล.อ.ประวิตร เป็นนักการเมืองและอดีตนายทหารที่มีคอนเน็กชั่นและมีบารมีเป็นอย่างมากในสังคมทหารและสังคมการเมือง ทั้งจากการเป็นรุ่นพี่คนสนิทแห่งพี่น้อง 3 ป. (บิ๊กป๊อก, ประยุทธ์, ประวิตร) และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเซนต์คาเบรียลกับบรรดานายทหาร และคนที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้า คมช., ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก ส.ว. อตีดสมาชิก สนช.
แต่หนึ่งใน “เซนต์คาเบรียลคอนเน็กชั่น” ที่เป็นที่สนใจมากที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง คือ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ (เสี่ยคราม) นักธุรกิจ เจ้าของเครือคอม-ลิงค์ เจ้าของนาฬิกาหรูที่ให้ พล.อ.ประวิตรยืมใส่ด้วย
นอกจากการเป็นพี่คนสนิทแห่ง 3 ป. และมีหน้ามีตาในฐานะศิษย์เก่า-เพื่อนร่วมรุ่นเซนต์คาเบรียลแล้ว ยังเป็น “พี่ใหญ่” ผู้ส่งเสริมน้อง ๆ เติบโตเป็นใหญ่ในองค์กรแห่งอำนาจ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “ไปไหนมาไหนก็เจอแต่เด็กพี่ป้อม” รวมถึงบารมีในทางการเมืองเอง ที่ไม่ว่าจะมีปัญหาทางการเมืองอะไร ทุกอย่างจะจบลงอย่างสวยงามที่ “บ้านป่ารอยต่อ”
คดีนาฬิกาหรู
ภาพที่ พล.อ.ประวิตร ยกมือขึ้นบังแดดระหว่างถ่ายภาพหมู่ ครม. “ประยุทธ์ 5” ทำให้โลกออนไลน์สะดุดตากับแหวนและนาฬิกาหรู ก่อนเรื่องราวจะบานปลาย จากการที่ไม่มีการแสดงข้อมูลเครื่องประดับทั้ง 2 ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของสำนักงาน ป.ป.ช. ทำให้ ป.ป.ช.ต้องเรียก พล.อ.ประวิตรมาชี้แจ้งด่วน และจบที่ว่าแหวนนั้นเป็นของมารดา และนาฬิกานั้นยืมเพื่อนมาใส่ แต่คืนเพื่อนหมดแล้ว
ภายหลัง ป.ป.ช.ชี้แจงความคืบหน้ากรณีนี้ว่า พล.อ.ประวิตร ยืมนาฬิกาหรูทั้งหมด 22 เรือน โดยยืมจาก “เสี่ยคราม” หนึ่งใน “เซนต์คาเบรียลคอนเน็กชั่น” ผู้ล่วงลับ และคดีดังกล่าวจบลงที่ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 3 ตีตกคดีนาฬิกายืมเพื่อน เพราะไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่าจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ
วันที่ 8 มี.ค. 2565 สำนักข่าวอิศรา รายงานอ้างแหล่งข่าว สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ว่า นาฬิกาทั้ง 22 เรือนที่ยืมมา เมื่อใช้เสร็จก็ได้คืนเป็นที่เรียบร้อย เป็นการยืมใช้คงรูป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 640 และ 641
ดังนั้น การได้รับประโยชน์ใช้สอยจากนาฬิกาจึงเป็นประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายที่ผู้ยืมพึงมีสิทธิได้รับ การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 จึงมีความเห็นว่า ควรไม่รับเรื่อง
นอกจากนี้ คณะอนุกลั่นกรองฯ ได้มีการให้ขอทราบผลการดำเนินการของกรมศุลกากรและการเรียกเก็บภาษีนำเข้านาฬิกา จำนวน 20 เรือน ซึ่งมีการตรวจสอบแล้ว พบว่า น.ส.จุติพร สุขศรีวงศ์ ผู้รับมรดก เป็นผู้ครอบครองนาฬิกา จำนวน 20 เรือน แต่ไม่ทราบว่า ผู้ใดนำเข้ามาในประเทศไทย และไม่ทราบว่าบิดาครอบครองมาตั้งแต่เมื่อใด
ส่วนเรื่องเอกสารเรียกเก็บภาษีนำเข้า กรมศุลกากรได้ทำความตกลงระงับคดีและจำหน่ายนาฬิกาจำนวน 20 เรือน คืนให้แก่ น.ส.จุติพร ในราคารวมค่าภาษีอากรเป็นเงิน 19,979,523.96 บาท ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2560
ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีรักษาการ
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องหยุดทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จากคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งให้หยุดทำหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นที่สนใจขึ้นมาอีกครั้ง เพราะต้องกลายมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีแทนรุ่นน้องสุดที่รัก
การขึ้นมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นไปตาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 237/2563 เรื่อง การมอบหมายให้ราชการแทนนายกรัฐมนตรีฯ ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ระบุว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ดังนี้
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
- นายวิษณุ เครืองาม
- นายอนุทิน ชาญวีรกูล
- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
- นายดอน ปรมัตถ์วินัย
- นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
ทั้งหมดนี้ คือเส้นทางแห่งบารมีและการมีหน้ามีตาทางการเมือง ทางทหาร ของชายที่ชื่อ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ”