คดีนายกฯ 8 ปี เกมประลองกำลังเครือข่ายประยุทธ์ ลุ้นสัญญาณสุดท้าย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปมการเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ น่าระทึกใจเป็นอย่างยิ่ง

เก้าอี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในยามนี้อาจสั่นคลอนที่สุดตั้งแต่ เขาเป็นนายกฯมา 8 ปี

ยิ่งกว่าตอนที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นำกำลัง ส.ส.ในสภาเตรียมปฏิบัติการโค่นนายกฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อกันยายน 2564 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถ “ปราบกบฏ” ไว้ได้

ทว่าในเกมปมนายกฯ 8 ปี วาระนี้ มีทั้งคนอยากให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ไป และมีคนอยากให้ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ต่อ เพราะผลประโยชน์ทางการเมืองค้ำคอทั้งสองข้าง

ครั้นมองกลับขึ้นไปบนบัลลังก์ศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ก็ย่อมชัดเจนว่า ท้ายที่สุดมติ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ คำตัดสินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจไม่ได้ออกมาด้วยเสียงเอกฉันท์

นักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร จึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ หรือพอแค่นี้ ยากเกินคาดเดา ต้องวัดกันที่ “สัญญาณสุดท้าย” ล้วน ๆ

อาจเป็นเพราะความไม่ชอบมาพากล เรื่องปม 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ที่ส่อเค้าความผิดไปจากปกติ

ย้อนกลับไปในวันที่ 6 กันยายน ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากห้องทำงานที่กระทรวงกลาโหม มายังทำเนียบรัฐบาล

จู่ ๆ ก็มีเอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการนับวาระ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่อง “ความเห็นเกี่ยวกับ มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” หลุดออกมาผ่านโซเชียลมีเดีย มีการส่งต่อกันในไลน์เป็นทอด ๆ ตั้งแต่ช่วงเที่ยง

ในหนังสือที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของ “มีชัย” ระบุสาระสำคัญดังนี้

1.รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ผลบังคับ จึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

2.ในส่วนที่เกี่ยวกับ ครม. รัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา 160) ที่มา (มาตรา 88) วิธีการได้มา (มาตรา 159) และมาตรา (272) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 164) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา 158 วรรคสี่) และผลจากการพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 168) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา

ส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ ไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560

3.การที่จะได้มาซึ่ง ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มี ส.ส.และ ส.ว.ที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมี ครม. เพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาล เพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดิน สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด

จึงได้มีบทบัญญัติ มาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า “ให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่” โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ

4.โดยผลของมาตรา 264 ครม.รวมทั้งนายกฯที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือวันที่ 6 เม.ย. 2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้

จึงมีผลต่อ ครม.และนายกฯดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ก็เคยมีมือดีในโซเชียลมีเดีย ขุดเอกสารการประชุม กรธ.นัดที่ 500/2561 เรื่องความเห็นของ “มีชัย” ประธาน กรธ. และ “สุพจน์ ไข่มุกต์” รองประธาน กรธ. ระบุการนับวาระของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องนับรวมก่อนปี 2560 ไว้ด้วย

เอกสารที่ระบุว่า เป็นคำชี้แจงของ “มีชัย” ระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้าขอเรียนว่าเป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน สรุปตามความเข้าใจของผู้จด กรธ.ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และ กรธ.ได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ

“รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ กรธ.ได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า บันทึกการประชุมนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใด ๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ”

แต่ปรากฏว่า ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ก็มีเอกสารอีกชุดหนึ่ง เป็นบันทึกการประชุมที่ 501/2561 บันทึกระเบียบวาระที่ 2 รับรองบันทึกการประชุม “คณะกรรมการมีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 497 วันอังคาร ที่ 28 สิงหาคม 2561 ถึงครั้งที่ 500 วันศุกร์ ที่ 7 กันยายน 2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว โดยไม่มีการแก้ไข”

ขัดแย้งกับหนังสือที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของ “มีชัย” ที่บอกว่า “บันทึกการประชุมนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใด ๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ”

กลายเป็น การเผชิญหน้าของมือที่มองไม่เห็น ปล่อยเอกสารมา 2 ชุด ตอบโต้กัน

อย่างไรก็ตาม หนังสือที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของ “มีชัย” ไม่มีใครที่สามารถยืนยันได้ว่าเป็น “ของจริง” หรือไม่ เพราะ

หนึ่ง ไม่มีใครสามารถติดต่อ มีชัย และ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 2 กรธ.ที่เชื่อกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ขอความเห็นของทั้ง 2 คนมาประกอบการวินิจฉัยปมการดำรงตำแหน่งวาระ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

สอง เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เอกสารที่เผยแพร่ ส่งต่อกันนั้นเป็น “ของจริง” เพราะคำชี้แจงหรือความเห็นของพยาน ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ส่วนใหญ่ที่เข้าระบบของสำนักงาน จะไม่เคยหลุดออกมาเช่นนี้

และสาม ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 พร้อมสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในเอกสารข่าว เลขที่ 17/2565 ของศาลรัฐธรรมนูญ ในการเชิญผู้ที่มาชี้แจง ได้ระบุเพียงว่า

“ให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง”

จึงไม่ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีการขอความเห็น จาก มีชัย หรือ ปกรณ์ 2 กรธ.มาให้ความเห็นดังกล่าว

หากเทียบการเชิญบุคคลมาให้ความเห็น เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในเคสก่อนหน้านี้ เช่น กรณีที่ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ ส.ว. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภา แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ครั้งนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกบุคคลมาให้ความเห็น 4 คน อันปรากฏ ในเอกสารข่าว เลขที่ 4/2564 ระบุว่า “เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้ผู้เกี่ยวข้อง คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนดให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันพุธที่ 3 มีนาคม 2564”

ทว่า กรณีปมวาระดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ มีเพียงการปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ขอความเห็น “มีชัย” และ “ปกรณ์” มาประกอบการพิจารณา แต่ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากศาลรัฐธรรมนูญ

กระนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เอ่ยถึง 2 คนดังกล่าว ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมด่วนในวันที่ 8 กันยายน 2565 เกี่ยวกับกรณีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่า ไม่ทราบเรื่องเลย แม้กระทั่งวันที่ 8 กันยายน ตนก็รู้ข่าวจากสื่อมวลชน

แสดงว่าที่ศาลขอความเห็นจากใครต่อใครก็ได้มาหมดแล้ว เขาก็นัดประชุมได้เร็ว แม้มีการกำหนดวันชี้แจง 15 วัน แต่ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะอดีตเลขานุการ กรธ. ส่งความเห็นไปก่อนได้ ก็หารือก่อนได้ แต่จะเสร็จหรือไม่เสร็จในวันที่ 8 กันยายนก็ได้ ตนไม่รู้ เพราะอาจจะไม่เสร็จก็ได้ ถ้าหากตุลาการ 9 คน ถกแถลงแล้วคิดว่าใครอยากได้อะไรเพิ่มเติมก็ต้องเลื่อนเวลาไป

ปมวาระ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากต้องตีความกฎหมายกันแล้ว ยังมีปมที่เป็นข้อสงสัยให้รอการพิสูจน์