โจทย์ปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/5 ทีม 3 ป.คุมเกมเลือกตั้ง สืบทอดทายาท

3 ป.
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

การออกมาปูดชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นแท่นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แบบไร้รอยต่อ ตอกลิ่มความไม่เป็นเนื้อเดียวกันของ 3 ป.

ตอกฝาโลงรอยปริร้าวจากการยื้อปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐที่ว่างอยู่ 2 เก้าอี้ เว้นวรรคมานานเกือบ 1 ปี

“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพี่-น้อง 3 ป.

ความไม่ลงล็อกในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/5 และการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ

ปรับ ครม. วางทายาทอำนาจ

“ดร.สติธร” เริ่มต้นวิเคราะห์การปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/5 ที่ยังกลับไม่ได้-ไปไม่ถึง ว่าเป้าหมายของ 3 ป. มี 2 โจทย์ซ้อนกันอยู่

โจทย์ที่หนึ่ง พี่-น้อง 3 ป.ไปต่อให้สุด และโจทย์ที่สอง-มิชชั่นต่อไปคือ ไม่ให้ระบบที่สร้างมาล่ม เพื่อให้ระบบที่วางรากฐานเอาไว้กว่า 8 ปี ไปต่อ

โดยมีชื่อของ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปลิวว่อนอยู่บนหลังคาทำเนียบรัฐบาล-บ้านป่ารอยต่อ

“เราพูดวิธีการในมุมที่ว่า การสืบทอดอำนาจของกลุ่ม 3 ป.ผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่มีสืบต่ออำนาจอีกมุมหนึ่งคือ การสืบทอดทายาท จังหวะและโอกาสที่สำคัญคือ การปรับ ครม.”

“การปรับ ครม.รอบนี้ ระยะสั้นคือ การวางคนให้การเลือกตั้งครั้งหน้าเข้าทางรัฐบาล ระยะยาวคือ การเปิดตัวทายาทที่จะมารับไม้ต่อ เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ได้แสดงฝีมือ หากรอเปิดตัวทายาทในรัฐบาลหน้าอาจจะไม่ทัน หรือไม่มีโอกาส”

“ในมุมของนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ คิดแต่เพียงว่ามีโควตาเท่าไร ต้องการเอาคนของกลุ่มตัวเองไปเป็นรัฐมนตรี แต่ 3 ป.คิดถึงผลประโยชน์ของระบอบระยะยาว ไม่ให้การปรับ ครม.เสียของ จึงยังไม่ลงล็อก แต่อาจจะล็อกลงไปแล้วก็ได้”

ส่วนความเห็นไม่ตรงกันระหว่างกลุ่มหนุน-กลุ่มต้าน พล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตร ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ

“ดร.สติธร” เห็นว่า ยังไม่ต้องรีบตัดสินใจวันนี้ ใส่ชื่อไปก่อนเพื่อโฆษณา-โปรโมตให้เต็มที่ เมื่อถึงเวลาหน้างาน-ผลการเลือกตั้งออกค่อยมาปรับเปลี่ยนแท็กติก

“หน้างานต้องบอกว่า 2 คนนี้มีโอกาสเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้งคู่ ใครเป็นก่อนเป็นหลังค่อยว่ากันอีกที ต้องเปิดประตูรอบด้าน ไม่ปิดโอกาสตัวเอง”

ประยุทธ์มี 3 ล้านเสียง-12 ที่นั่ง

โจทย์จึงเป็นข้อสอบเก่าเมื่อปี 62 แต่เพิ่มคำตอบมาให้เลือกอีก 1 ข้อคือ พล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถขายได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

“ดร.สติธร” ถอดรหัสการเลือกตั้งปี 54 กับการลงประชามติเมื่อปี 59 และการเลือกตั้งเมื่อปี 62 เพื่อหาค่าในการเลือกตั้งในปี 66 พล.อ.ประยุทธ์น่าจะมีคะแนนติดตัวขายได้ในตลาดประมาณ 2.5-3 ล้านเสียง

“การเลือกตั้งปี 54 เพื่อไทยได้ 14 ล้านเสียง ประชาธิปัตย์ได้ 10 ล้านเสียง เลือกตั้งปี 62 เพื่อไทยเหลือ 7 ล้านเสียง หายไป 7 ล้านเสียง ไปอยู่กับอนาคตใหม่ 2-3 ล้านเสียง 1 ล้านไปอยู่กับเสรีรวมไทย เพื่อชาติ ประชาชาติ อีก 3 ล้านเสียงไปพลังประชารัฐ คือคะแนนที่พลังประชารัฐดูดไป”

“แสดงว่าพลังประชารัฐมี 8 ล้านเสียง เอาจากเพื่อไทยไป 3 ล้านเสียง อีก 5 ล้านเสียงมาจากประชาธิปัตย์ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ประชาธิปัตย์ยังเก็บไว้ประมาณ 3-4 ล้านเสียง ส่วนที่เหลือคือคะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ ประมาณ 3 ล้านเสียง ไม่ว่าจะเอาชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไปแปะไว้ที่ไหน 3 ล้านเสียงจะเทไปหา”

“ถามว่าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังมี 3 ล้านเสียงนั้นอยู่ไหม จากการประเมินน่าจะยังอยู่ กองเชียร์ฝ่ายประยุทธ์ แต่อาจจะอยู่ไม่เต็ม 3 ล้านเสียง อย่างมากอาจจะกลับไปประชาธิปัตย์ เพราะเคยเป็นของประชาธิปัตย์ แต่ถ้าประชาธิปัตย์ยังไม่ฟื้น สุดท้ายถ้าไม่มีที่ไปจริง ๆ ก็ยังวนกลับมาที่พรรคที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอยู่ดี”

“ดร.สติธร” ดีดลูกคิดไว ๆ 3 ล้านเสียงจะได้เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 10-15 ที่นั่ง นอกจากนี้ ยังสามารถไปเติมในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ในพื้นที่ 300 เขตเลือกตั้ง และอาจจะพลิกชนะคู่แข่ง

“สุดท้ายเป้าหมายเดียวกัน ต้องคำนวณหาโซลูชั่นออกมาเป็นออปชั่นที่ดีที่สุด เพื่อตัดสินใจว่าจะไปทางไหนที่มีโอกาสมากที่สุด วันนี้ยังอยู่บนกระดานคำนวณอยู่ อาจจะยังมองไม่เห็น”

ออปชั่นบนกระดานคำนวณของ “ดร.สติธร” มี 2 โซลูชั่น ที่มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย โซลูชั่นแรก-รวมพลัง พรรคเดียวกัน เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 ชื่อ “พรรคใหญ่” จะได้ 70-100 ที่นั่ง

โซลูชั่นที่สอง-แยกกันเดินรวมกันตี พล.อ.ประยุทธ์ 1 พรรค กับ พล.อ.ประวิตร อีก 1 พรรค จะกลายเป็น “พรรคขนาดกลาง” ทั้ง 2 พรรค

“ถ้าใช้โมเดลแตกพรรค ต้องชนะภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ให้ได้ก่อน เพื่อให้มีความชอบธรรมในการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปแข่งกับเพื่อไทย”

สัมพันธ์ 3 ป. ลงเรือลำเดียวกัน

“ดร.สติธร” วิเคราะห์ไปไกลกว่านั้น ถึงความสัมพันธ์ 3 ป.เป็นเนื้อเดียวกันอยู่เพื่อรักษาอำนาจร่วมกัน จึงทำให้ดูเหมือนว่าขัดแย้งกันเองในบางเรื่อง

“อย่างน้อยในเชิงเป้าหมาย ลงเรือลำเดียวกัน ต้องอยู่ในอำนาจให้ได้ มีมิชชั่นอะไรบางอย่างร่วมกันอยู่ เพียงแต่วิธีการไปสู่เป้าหมายต่างกัน วิธีใดไปสู่เป้าหมายได้ดีกว่าในแต่ละช่วงเวลา บางช่วงเห็นตรงกันก็รวมพลัง”

“บางช่วงพี่ใหญ่อยากให้ไปทางนี้ พี่รองอาจจะบอกว่าให้ไปอีกทาง น้องเล็กบอกว่าเป็นทางนี้ดีกว่า”

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกเพียง 2 ปี ภายใต้เงื่อนไขต้องชนะการเลือกตั้ง จึงกลายเป็นทั้งช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” และทางสองแพร่งจะได้ไปต่อหรือไม่-ไปได้ด้วยวิธีการใด

“ถึงแม้จะอยู่บนเส้นทางที่ต้องเลือก แต่สุดท้ายแล้วด้วยเป้าหมายเดียวกัน ถึงจุดหนึ่งที่ต้องตัดสินใจ อาจจะต้องกลับมาที่วิธีการที่เห็นตรงกัน มีจุดลงตัวบางอย่างและไปด้วยกัน ไม่ว่าจำใจหรือเต็มใจ ไม่อย่างนั้น mission มัน fail ลงเรือลำเดียวกัน แต่พายไปคนละทาง มีแต่จะล่ม สุดท้ายถึงจุดหนึ่งก็ต้องยอมกัน”

“เรือลำนี้อาจจะไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ เพราะสภาพไม่ค่อยน่านั่ง มีเรือลำใหม่มาจอดอยู่หลายลำ แนวโน้มอยากจะเปลี่ยนเรือ แต่ก็กลัวเรือจะล่ม วันนี้เหมือนพลังประชารัฐมาส่งที่เกาะแห่งหนึ่ง และกำลังจะต่อเรือไปอีกฝั่งหนึ่งให้ได้”

วันนี้วิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย-ไปต่อคือ ต้องชนะเลือกตั้ง-เป็นรัฐบาลอีกสมัย

หนึ่งในสมการอำนาจของพี่-น้อง 3 ป. คือ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อเข้าสู่ช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม เดิมพันได้-เสียการเลือกตั้ง ผู้ที่ถูกเพ่งเล็งจากนักการเมืองพรรคพลังประชารัฐ เพราะกุมสภาพกระทรวงมหาดไทยตลอด 8 ปีเต็ม

“การปรับ พล.อ.อนุพงษ์ออกจากตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ต้องมีอะไรอื่นที่สำคัญกว่า เช่น การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพไว้ในช่วงถ่ายโอนอำนาจ”

“โดยตัวของ พล.อ.อนุพงษ์เองกับ 3 พี่น้อง พล.อ.อนุพงษ์คือตัวเชื่อม กลุ่มของ พล.อ.ประยุทธ์กับกลุ่มของ พล.อ.ประวิตรให้ประนีประนอมกันได้” ดร.สติธรอ่านไพ่ในมือของ พล.อ.อนุพงษ์ที่ไม่เคยหงายให้ใครเห็น

ฟางเส้นสุดท้ายแตกหัก

“ดร.สติธร” ฟันธงว่า สมการแตกหักใช้ไม่ได้กับความสัมพันธ์อันแนบแน่นของพี่-น้อง 3 ป. เพราะตราบใดที่ทุกการตัดสินใจมาจากการ “ปิดห้อง” คุยกันก่อน-ไม่หักกัน

“ยากด้วยเป้าหมาย ขัดแย้งกันบ้างไม่เป็นไร แต่อย่าถึงขั้นแตกหัก แตกหักไม่ได้เด็ดขาด พังทั้งระบบ ถ้าแตกหักก็เจ๊งเลย วันนี้คิดถึงแค่ปัจจัยคู่แข่งรายล้อม ถ้าแตกวันนี้แปลว่า แตกไปจับขั้วใหม่เพื่อเอาตัวรอด”

ส่วน “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่จะนำไปสู่การ “แตกหัก” คือ พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร “หักดิบ” กันทั้งคู่

“ยากหน่อย วันนี้เหมือนอำนาจยันกันอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ อำนาจในฐานะนายกฯ อยู่ในมือ ปรับ ครม.ตามใจตัวเองทั้งหมด 100% ไม่ฟัง พล.อ.ประวิตรเลย”

“กลับกัน ฝั่ง พล.อ.ประวิตรเอง เชื่อนักการเมืองในพรรคตัวเอง เอา พล.อ.ประยุทธ์ออกไปจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเลย โดยไม่คุยกันก่อน” ดร.สติธรฟันธง