ศาลรัฐธรรมนูญ นัดลงมติ กฎหมายพรรคการเมือง 23 พ.ย.นี้

ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ นัดลงมติกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง เหตุแก้ไขขั้นตอนไพรมารี่โหวต-ลดเงินค่าสมาชิกพรรค ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารผลการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีวาระสำคัญคือ กรณีที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. …. มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2) หรือไม่ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ส.ว. 77 คน โดยมี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.เป็นตัวแทน ได้ยื่นหนังสือต่อนายชวนให้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย สืบเนื่องจากร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เมื่อรัฐสภาผ่านความเห็นชอบ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (2) ได้ต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ความเห็น

โดยทางรัฐสภาได้ส่งเรื่องไปให้ กกต. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ก่อนที่ กกต.จะมีมติเห็นชอบ โดยไม่มีการแก้ไข และกลับมาที่สภา กระทั่ง ส.ว. 77 คนเข้าชื่อให้ประธานรัฐสภา ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นคำร้องของ 77 ส.ว. มีประเด็นต่าง ๆ อาทิ การปฏิรูปด้านการเมือง และมีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบในกิจกรรมทางการเมืองและคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งผู้ยื่นคำร้องเห็นว่ามีประเด็นต่าง ๆ ในร่างกฎหมายที่ยังขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติในมาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท มีการแก้ไขว่าเรียกเก็บจากสมาชิกพรรคการเมืองปีละไม่น้อยกว่า 20 บาท และการเก็บค่าสมาชิกแบบตลอดชีพจากเดิมต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท โดยมีการแก้ไขให้เรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 บาท

ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการแก้ไขลดค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรครายปีนั้นจะทำให้สภาพของพรรคการเมืองต่าง ๆ กลับไปสู่สภาพเดิมที่เคยปรากฏและดำรงอยู่ คือการจ้างคนเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วยการออกเงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค ซึ่งเปิดช่องให้กลุ่มทุนครอบงำพรรคการเมืองได้ง่าย และนำไปสู่การทำลายความหวังที่จะนำไปสู่การพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมืองของประชาชน

การแก้ไขเรื่องตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ที่มีการแก้ไขว่า ในจังหวัดใดที่ไม่ได้ตั้งเป็นสาขาพรรคการเมือง หากมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน พรรคอาจตั้งสมาชิกที่มาจากการเลือกของสมาชิกให้เป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ ตามจำนวนที่เห็นสมควร ซึ่งอาจทำให้สมาชิกที่จะร่วมคัดเลือก ส.ส.ที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งมีสิทธิ์ไปคัดเลือกในพื้นที่ที่ตนไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนา จะเป็นการย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ