จับตาศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณา พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. สูตรคำนวณสูตรหาร 100
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานได้เผยแพร่เอกสารข่าวการประชุมขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 105 คน ขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนําไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กําหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องดังกล่าวยื่นโดยกลุ่ม 106 ส.ส.พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่
โดยหัวใจของคำร้องที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น มีประเด็น อาทิ วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหลังเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ, ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ตราไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยใช้เทคนิคพิจารณาให้เวลาเกินกรอบ 180 วัน, ใน 1 ปีหากมีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะการทุจริตหรือเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรม การห้ามนำคะแนนที่ได้จากเลือกตั้งซึ่งไม่สุจริตเที่ยงธรรมมารวมคำนวณ ซึ่งเขียนไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 ที่กำหนดให้ความเชื่อมโยงกับมาตรา 93 ไว้ และคาดว่าจะเกิดปัญหาในอนาคตได้
ขณะที่ ส.ส. 106 คน ที่ร่วมยื่นคำร้อง มาจากพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรครวมพลัง พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์พรรคพลเมืองไทย ส่วน ส.ว. พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, นายถวิล เปลี่ยนศรี, นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์, พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร, นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน, พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ, นายเฉลา พวงมาลัย, พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ดังกล่าว เป็นที่จับตาของพรรคการเมืองและ ส.ส.จำนวนมาก ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนัดพิจารณาเมื่อใด และมีการลงมติอย่างไร เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการวางยุทธศาสตร์ในการวางตัวผู้สมัครลงเลือกตั้ง และเป็นกฎหมายที่กำหนดชะตาชีวิตของ ส.ส.