ส.ส.ทิพย์-ฝ่ายค้านถาวร

บทความสามัญสำนึก
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

ไม่เร็ว-ไม่ช้า ที่จะกะเกณฑ์จำนวน ส.ส.ที่คาดว่าจะได้ของแต่ละพรรค ในการเลือกตั้งปีหน้า 2566

แม้ว่าจำนวน ส.ส.ที่คาดว่าจะได้ จะไม่ใช่ ส.ส.พึงได้ ตามความเป็นจริง แต่ทุกพรรคก็วางเป้า ปักหมุดในการทำงานการเมืองแบบนับถอยหลัง

ออกตัวแรงก่อนพรรคไหน คือพรรคเพื่อไทย ประสานเสียงทั้งจากทักษิณ ชินวัตร และหัวหน้าพรรค-หัวหน้าครอบครัว ชลน่าน-แพทองธาร ปักธง 250 เสียง ด้วยแคมเปญ “ชนะขาดเลือกเพื่อไทยอย่างแลนด์สไลด์อย่างถล่มทลายให้มีเก้าอี้ ส.ส. ในสภาอย่างน้อย 250 ที่นั่งขึ้นไป” จากปัจจุบันมี 132 เสียง ท่ามกลางเสียงพิจารณ์ลั่นสนาม “ชนะแต่อาจไม่ถึงเส้นชัย”

แกนนำรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ ที่มีหัวหน้าเป็นแกนนำ 3 ป.เปี่ยมบารมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตั้งโจทย์ให้หัวหน้ามุ้ง หาจำนวน ส.ส.เลือกตั้งใหม่ให้ได้ 150 ที่นั่ง จากปัจจุบันที่นั่งต่ำ 100 มีเพียง 97 ที่นั่ง ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ ยังขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปต่อ หรือพอแล้ว

หากพรรคพลังประชารัฐ “ไม่เชิดประยุทธ์” ขึ้นเป็นผู้นำในยุคต่อไป แต่เสนอ “คนแบบประยุทธ์” และได้ ส.ส.ต่ำกว่าคาดการณ์

สูตรนี้จะพลิกผันให้พรรคภูมิใจไทย ขึ้นกระดานหกสูงเป็นแกนนำ ในการจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม

เพราะภูมิใจไทย จะเป็นพรรคแกนหลัก-ไม่ใช่ชนะอันดับ 1 แต่สำคัญค้ำยันว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป หรือจะขึ้นสู่เส้นชัย การเป็นนายกรัฐมนตรี เสียเอง นาทีนี้ต้องมีชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และบุคคลเบื้องหลัง เนวิน ชิดชอบ ที่ประกาศชิง 120 เก้าอี้ ในสภาสมัยหน้า จากปัจจุบัน 62 ที่นั่ง

พรรคที่แค่ประกาศนโยบาย ก็รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะต้องนั่งในสภาเป็นซีก “ฝ่ายค้าน” แม้ฝันได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ ทั้งในป่าและในเมือง คือพรรคก้าวไกล หน้าฉากประกาศไว้ 120 ที่นั่ง แต่หลังไมค์ ปักหมุดไว้ 90 ที่นั่ง ประเมิน ส.ส.เดิมไว้ในระบบเขต 70 ที่นั่ง ปาร์ตี้ลิสต์อีก 20 คน จากปัจจุบันมี ส.ส.เหลือ 51 ที่นั่ง

พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกประเมินจากสนามการเมืองว่าทำผลงานได้ย่ำแย่ครั้งที่ผ่านมา ไม่เพียงอยู่ท้ายตาราง แต่ในเขต กทม.ไม่มีชื่อ ส.ส.ในตารางด้วยซ้ำ การเลือกตั้งรอบใหม่ จึงเผื่อใจไว้ทั่วทั้งภาคใต้ต้องได้มากกว่า 40 ที่นั่ง รวมทั้งประเทศแม้ไม่เคยพูดเป้าหมาย จากปัจจุบันครองทั้งในสภา 52 เสียง หากต่ำกว่าเดิมมีตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นเดิมพัน

พรรคที่ไม่ค่อยได้เป็นฝ่ายค้าน ชาติไทยพัฒนา พี่น้องตระกูลศิลปอาชา ขอคุมเสียงไว้ ไม่ต่ำกว่า 25 ที่นั่ง เพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ

ที่เหลือเป็นพรรคสะวิงโหวต ต้องจับขั้วกันไว้เพื่อสะวิงไปอยู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง แล้วดันตัวเองเข้าร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคไทยสร้างไทย-พรรคสร้างอนาคตไทย ที่ต่างตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 25 เสียง และพรรคชาติพัฒนากล้า เอ่ยไว้แต่เพียงว่า ไม่น่าจะต่ำกว่า 10 เสียง

ทว่า รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วินิจฉัยไว้ล่วงหน้า “ถ้าพรรคของคุณหญิงสุดารัตน์กับคุณสมคิดรวมกันได้อาจจะเสริมพลังกันสองพรรค อาจจะได้ ส.ส.อย่างสูงถึง 15 ที่นั่ง ก็เป็นไปได้”

ไม่รวมพรรคเบี้ยหัวแตก ที่แต่งตัวลงสมัครเลือกตั้ง ทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคไทยภักดี ที่มีแนวโน้ม อยู่ขั้วเดียวกับฝ่ายอนุรักษนิยม สาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แม้ไม่เคยประกาศว่าจะได้ ส.ส.เท่าไร แต่ตั้งธงไว้ว่าต้องได้ไปถึงฝั่งทำเนียบรัฐบาล อีกครั้ง

ไม่เพียงนโยบาย และตัวผู้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ที่ต้องปัง และชัดเจน มีทั้งกระแสและกระสุนครบมือ ถึงจะได้กลับเข้าสู่สภา แต่ทว่าการเลือกตั้งรอบหน้า มีนโยบายที่แหลมคม ที่ถูกเปิดออกมาแล้ว บรรดานักการเมือง “วงแตก” แยกไม่ร่วมสังฆกรรม คือนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112

เพียงชั่วข้ามคืน ทั้งพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน และรัฐบาล ต่างถีบตัวหนีห่าง ทิ้งให้ก้าวไกลยืนเด่นโดยท้าทาย เป็นฝ่ายค้านล่วงหน้าแต่เพียงพรรคเดียว