ประยุทธ์ เว้นระยะการเมือง ปักธงเอเปคทิ้งทวนทำงบปี’67 รับเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “นั่งต่อ” บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้อีกเพียง 2 ปี อาฟเตอร์ช็อกสะเทือนไปถึงพรรคพลังประชารัฐ

38 วัน ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “หยุดปฏิบัติหน้าที่-พักงาน” จึงเป็นโอกาสให้ได้ทบทวนอนาคตทางการเมืองหลังคำวินิจฉัยที่ออกมาไม่เกินความคาดหมาย 1 ใน 3 แนวทาง

พล.อ.ประยุทธ์กลับมาตั้งหลัก-โฟกัสไปที่การเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปค โดยงดให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง โดยเฉพาะความชัดเจนในการสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

หลังจาก “วีระกร คำประกอบ” ส.ส.นครสวรรค์-กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ ที่มี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มสามมิตรเป็นประธาน “ยื่นคำขาด” ให้ พล.อ.ประยุทธ์สมัครเป็นสมาชิกพรรค ภายในสิ้นเดือนตุลาคม

รวมถึงข้อเสนอ “นายกฯคนละครึ่ง” ของ “รงค์ บุญสวยขวัญ” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ

และการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลัง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งชื่อ “นริศ ขำนุรักษ์” ส.ส.พัทลุง-โควตาภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ นั่ง รมช.มหาดไทย

รักษาสิทธิ์-ทดแทน นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ลาออกไปสู้คดีไม่อนุมัติการเบิกจ่ายค่ารถซ่อมบำรุงอเนกประสงค์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา

พล.อ.ประยุทธ์ลุยงานเอเปค เดินสายประชุมความมั่นคง 3 การประชุมใน 2 วัน เพื่อซักซ้อมแผนรักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศมหาอำนาจ อาทิ สี จิ้นผิง ปูติน และรองประธานาธิบดีสหรัฐ

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565

ต่อด้วยการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 10/2565 โดย พล.อ.ประยุทธ์มี “ข้อสั่งการ” เรื่องการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปค โดยให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้การสนับสนุนกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อม เพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับบุคคล-สถานที่อย่างเข้มงวดและรัดกุม และซักซ้อมแผนการแก้ปัญหาวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2565

คู่ขนานไปกับการสั่งงาน-แจกงาน วาระร้อน-เร่งด่วน ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวบรวมมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมภายใน 1 สัปดาห์ และสรุปความเสียหายเพื่อชดเชยโดย “ไม่ต้องรอน้ำลด”

“ขีดเส้น” ภายใน 3 เดือน กวาดล้างยาเสพติด-ปืนเถื่อน จัดระเบียบ-รื้อระบบการออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธ-ครอบครองปืน (แบบ ป.4) ตลอดจนเข้มงวดคลังอาวุธของตำรวจ-ทหาร

หลัง พล.อ.ประยุทธ์กลับมานั่งหัวโต๊ะ ครม. มติ ครม.อย่างน้อย 3 เรื่อง ที่สั่งงาน-แจกงานหน่วยงานในสาย-ข้ามสายงานแบบเป็นลายลักษณ์อักษร แยกเป็นเรื่องชัดเจน ไม่มัดรวมเป็นข้อสั่งการเหมือนที่ผ่านมาที่มักหายเข้ากลีบเมฆ

การประชุม ครม.วันที่ 18 ตุลาคม 2565 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ออกหนังสือ “ด่วนที่สุด” 3 ฉบับ

ฉบับแรก หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 463 เรื่อง การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้แก่ประชาชน โดยเสนอต่อ ครม.โดยเร็ว ภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565

ฉบับที่ 2 หนังสือ ที่ นร 0503/27120 เรื่อง การแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องของประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน ถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ฉบับที่ 3 หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว (ล) 27079 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.-ผู้ว่าการ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มันสมองระดับเสนาธิการตึกไทยคู่ฟ้า-นักการเมืองเก๋าเกม ฟันธงตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาแน่นอน แต่จะยุบก่อนครบวาระ 1 วัน เพื่อเป็น “รัฐบาลรักษาการ” ต่อไปอีก 3 เดือน

ดีดลูกคิดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่โยงอีกไม่ต่ำกว่า 5 เดือน-จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่-ฟอร์มรัฐบาลสำเร็จ

ก่อนศึกเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ “ทิ้งทวน” จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567-แบ่งเค้กให้กับ “พรรครัฐบาล” เป็นก้อนสุดท้าย ก่อนยุบสภา-ครบวาระ

โดยที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณ-ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ไทม์ไลน์ ตุลาคม 2565-มกราคม 2566 การพิจารณาทบทวน ปรับปรุงข้อมูล และจัดทำรายงาน เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี’67 ของหน่วยรับงบประมาณ

ไฮไลต์อยู่ที่หน่วยงานรับงบประมาณที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ที่มีรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ให้เสนอ ครม.อนุมัติ ก่อนเสนอรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายปี’67

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ครม.พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี’67

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายผู้มีอำนาจกำกับแผนงานบูรณาการประจำปีงบประมาณปี’67

วันที่ 1-27 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง

เดือนธันวาคม 2565-มกราคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี’67

วันที่ 28 ธันวาคม 2565-6 มกราคม 2566 กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธปท. และสำนักงบประมาณ ร่วมกันพิจารณาประมาณการรายได้ นโยบาย กรอบวงเงินรายจ่าย เสนอ ครม.

วันที่ 10 มกราคม 2566 ครม.พิจารณาให้เห็นชอบนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี’67

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียด พร้อมแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี’67

ช่วงที่คาบลูกคาบดอกที่สุด คือก่อนสภาครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 มติ ครม.ได้ “หมายเหตุ” ไว้ว่า

“เมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ตามมาตรา 99 ของรัฐธรรมนูญ (ครบวาระ 4 ปี) เป็นเหตุให้ ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง สำนักงบประมาณจะจัดทำข้อเสนอปฏิทินงบประมาณรายจ่ายปี’67 ต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป”

รัฐธรรมนูญมาตรา 167 (2) รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เพราะอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยมาตรา 168 ประกอบมาตรา 169 ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไข

“ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี” มาตรา 169 (1) ระบุ

วันที่ 28 มีนาคม 2566 ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดและมอบให้ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำงบประมาณประจำปี’67

วันที่ 25 เมษายน 2566 ครม.รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และให้จัดพิมพ์ร่างฯ-เอกสารประกอบ

วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และเอกสารประกอบงบประมาณและนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

วันที่ 31 พฤษภาคม-วันที่ 1 มิถุนายน 2566 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างฯ งบฯปี’67 วาระที่ 1

วันที่ 16-17 สิงหาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างฯ งบฯปี’67 วาระที่ 2-วาระที่ 3

วันที่ 28-29 สิงหาคม 2566 วุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณาร่างฯ งบฯปี’67

วันที่ 5 กันยายน 2566 สลค.นำร่างฯ งบฯปี’67 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ฟ้าลิขิตวันอยู่-วันไปของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไว้แล้ว