จุดจบพรรคสืบทอดอำนาจ โดนรัฐประหารซ้ำ ประชาชนไล่ แพ้เลือกตั้ง

นายก รัฐประหาร
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ความขัดแย้งเบื้องลึกระหว่างผู้นำรัฐประหาร ผู้ก่อการปฏิวัติ นำพาไปสู่ “จุดจบ” ของพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่มีภารกิจสืบทอดอำนาจ

พรรคเสรีมนังคศิลา ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องปิดฉากลงด้วยการรัฐประหาร 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

พรรคชาติสังคม ของ จอมพลสฤษดิ์ หมดบทบาทหลังจอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจทำรัฐประหารปี 2501 กลับสู่เผด็จการเต็มรูปแบบ

พรรคสหประชาไทย ของ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ตั้งไว้เพื่อการเลือกตั้งปี 2511 ก็ต้องยุติบทบาท หลังตัดสินใจทำการรัฐประหารปี 2514 นำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาอีก 2 ปีต่อมา

พรรคสามัคคีธรรม หายไปจากการเมืองไทย เพราะการประท้วงใหญ่พฤษภาทมิฬ ปี 2535

วันนี้พรรคพลังประชารัฐ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มาถึงจุดที่สถานการณ์ความขัดแย้งของกลุ่ม “นายพล” กำเนิดขึ้นอีกครั้ง และเป็นอีกครั้งที่พรรคเฉพาะกิจเริ่มถึงจุดเสื่อม

ชัดที่สุด เมื่อเห็นรอยปริแยก 37 วัน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถูก “พักงาน” โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ

การ “อยู่ต่อ” หรือ “ไปต่อ” ของพรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้ที่ 1, 2 หรือ 3 ในการเลือกตั้งปี 2566 แต่ในมุมนักวิชาการรัฐศาสตร์ความมั่นคง-รัฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ ล้วนมองเห็น “จุดจบ” ไม่ต่างกัน

จุดจบพรรคเฉพาะกิจ

“ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งในอดีตเป็นแกนนำนักศึกษาในยุคที่การเมืองไทย ปลดแอกจากรัฐบาลเผด็จการ 14 ตุลา 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มองอนาคตพรรคพลังประชารัฐ เมื่อเทียบกับชะตากรรมพรรคการเมืองเฉพาะกิจ “สืบทอดอำนาจ” ในอดีตว่า

ในอดีตผู้นำทหารเวลาสู้กันก่อน พ.ศ. 2500 อยู่คนละพรรคการเมือง คือ ความขัดแย้งระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือพรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. กับพรรคสหภูมิ ของจอมพลสฤษดิ์ ดังนั้น ยุคนั้นแยกขั้วชัด คนละพรรค คนละฝั่ง

ในช่วงหลังที่มีพรรคทหาร ก็ไม่ได้สู้กันในความหมายอย่างที่เราเห็น เพราะในยุคจอมพลสฤษดิ์ พรรคชาติสังคมเป็นผู้นำก็ไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งภายในผู้นำทหาร ยุคพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ไม่ได้มีความขัดแย้ง อาจจะมีอยู่ แต่ไม่ได้รุนแรงหนักจนเป็นปัญหาใหญ่

ส่วนพรรคสามัคคีธรรม เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่าง จปร.5 กับ จปร.7 ไม่ได้เป็นความขัดแย้งในพรรคโดยตรง

“ส่วนพรรคพลังประชารัฐเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง มีความขัดแย้งภายในพรรคเอง ต่างจากยุคจอมพล ป. เพราะก่อนปี 2500 สู้กันคนละพรรคก็อธิบายง่าย แต่ตอนนี้ผู้นำทหารอยู่ในพรรคเดียวกันเองและสู้กันเอง ดังนั้น ปัญหาพรรคการเมืองจะประสบปัญหามากกว่า มีโอกาสแตกได้มากกว่า”

วิกฤตใหญ่พลังประชารัฐ

และเงื่อนไขที่เป็นสัญญาณพรรคแตกเริ่มเห็นตั้งแต่เหตุการณ์ “กบฏธรรมนัส” จุดนั้นคือจุดเริ่มต้นของสัญญาณว่าพรรคทหารมีอาการภายใน แก้วร้าวมาเรื่อย ๆ เพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะร้าวจนถึงจุดแตก

แต่ในกรณีถอยกลับไป พรรคทหารไม่มีอาการแก้วร้าวอย่างนี้ ดังนั้น โจทย์ชุดปัจจุบัน พรรคทหารที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของผู้นำรัฐประหาร 3 ป. ประสบปัญหามากกว่า แล้วทำให้เห็นชัดว่าพรรคทหารหลังการรัฐประหาร 2557 จะอยู่ได้ยาว …คำตอบเป็นไปไม่ได้

แต่เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” กับ พล.อ.ประวิตร มีกองกำลังทางการเมืองของตนเอง “ศ.ดร.สุรชาติ” วิเคราะห์ว่า เมื่อหัวหน้ามุ้งกลายเป็นผู้นำทหารและมีอำนาจด้วย จึงเกิดการปะทะกันระหว่างขั้วอำนาจภายในพรรคเอง

ต่างจากพรรคที่ไม่ใช่พรรคทหาร เป็นพรรคการเมืองพลเรือน ถ้ามีปัญหาหนัก ก็จะมีตัวแบบอย่างกลุ่ม 16 ในพรรคประชาธิปัตย์

“แต่ในพรรคพลังประชารัฐ ไม่มีอาการที่ใครยอมแยกตัวออกมา จึงทำให้เห็นความขัดแย้งสะสมอยู่ในตัวพรรค ซึ่งอาการอย่างนี้ตอบได้ง่ายว่า จะประสบวิกฤตใหญ่ในพรรคแน่ ๆ”

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้ต่อถึงปี 2568 หรือไม่ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ความน่าลำบากใจของพรรคพลังประชารัฐ คือ ขั้วอำนาจยังอยู่ และยังปะทะกันไม่ต่างจากเดิม แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์หลุดไปตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า ครบ 8 ปี พรรคพลังประชารัฐอาจมีปัญหาก็จริง แต่จะสร้างเอกภาพได้ง่ายกว่า

“ตอนนี้กลายเป็น 2 ขั้วอำนาจที่ชนกัน พรรคนี้วิกฤตใหญ่แน่ ๆ”

ส่องจุดจบพรรคเฉพาะกิจ คสช.

“ศ.ดร.สุรชาติ” กล่าวว่า ถ้าย้อนอดีต พรรคทหาร 3 ช่วงแรก ยุติบทบาทด้วยการทำรัฐประหารทั้งหมด หรืออีกตัวแบบหนึ่งยุติบทบาทด้วยประชาชนไล่ ดังนั้น ทางเลือกของพรรคทหารมีแค่ 2 อย่าง คือ ประชาชนไล่ หรือจะถูกรัฐประหาร

“แต่ปัจจุบันอาจมี 2 ทาง คือ ถูกประชาชนไล่ หรือแพ้การเลือกตั้ง เขาอาจประคองพรรคไปจนถึงการเลือกตั้ง แต่พรรคไม่มีจุดขาย เพราะเอกภาพในพรรคไม่มี”

ส่วนพรรคอะไหล่ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” พรรคพวกนี้ขายไม่ได้ พรรคทหารในประวัติศาสตร์เป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่มีทางที่ผู้นำทหารจะทำพรรคระยะยาวได้ เพราะผู้นำทหารไม่มีความรู้ความเข้าใจทางการเมือง และเมื่อการเมืองเข้าสู่ระบบปกติ ผู้นำทหารไม่มีจุดขาย

“จุดขายของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มี มีแต่จุดบอดและจุดด้อย ดังนั้น โอกาสที่จะไปสร้างพรรคใหม่ จะไม่ประสบความสำเร็จ”

“แม้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมปีกที่อุ้มใหญ่ อาจเรียกว่าปีกสลิ่ม ซึ่งไม่คิดมากเรื่องการเมืองไทย คิดอย่างเดียวคือ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด สิ่งที่สลิ่มจะเผชิญ คือ ไม่เห็นปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ เป็นวิกฤตขนาดใหญ่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งวิกฤตชุดนี้ส่วนหนึ่งมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น การจะเอา พล.อ.ประยุทธ์ไว้ต่อก็จะมีความรุนแรงมากขึ้น”

“ศ.ดร.สุรชาติ” อ่านตอนจบสตอรี่เรื่องนี้ว่า สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐจะยุติบทบาทของตัวเองอย่างไร และการยุติขึ้นอยู่กับผู้นำทหาร 3 คนจะตัดสินใจอย่างไร เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีจุดขาย มีแต่จุดด้อย

ส่วน พล.อ.ประวิตร ถ้าจะขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็มีจุดด้อยอีกมากพอสมควร อีกคนหนึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ไม่มีจุดขาย เป็นได้แค่รัฐมนตรี ไม่มีจุดเด่น เป็นผู้นำทหาร ไม่มีความน่าเชื่อถือทางการเมือง

สุดท้ายจะนำไปสู่ประชาชนขับไล่ หรือแพ้การเลือกตั้ง นี่คือจุดจบ

ขุนทหารแทงกันตลอดเวลา

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต วิเคราะห์ว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ต่างกับพรรคเฉพาะกิจในอดีต เพราะเมื่อผู้นำรัฐประหารต้องเล่นเกมเลือกตั้ง ก็ต้องมีพรรคการเมืองเพื่อเป็นฐานกำลัง เพียงแต่ผู้นำทหารปัจจุบันไม่ได้เข้าไปคุมพรรคตั้งแต่ต้น ปล่อยให้ปีกพลเรือนของตนเองไปคุมพรรค แต่เมื่อถึงวาระหมดความสำคัญเขาก็เชือดควาย เช่น ทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

“พรรคทหารที่เริ่มต้นขึ้น ดูเหมือนมีอำนาจเข้มแข็งในช่วงแรก ดูดนักการเมืองเชิงตัวบุคคล นักการเมืองก็ดูว่าตนเองจะสามารถต่อรองในเกมสภาผู้แทนราษฎร เพราะทหารมีจุดอ่อนที่ไม่สามารถประสานกับ ส.ส.ในฝ่ายต่าง ๆ ได้ เพราะทหารเป็นพวกทุบโต๊ะอยากได้อย่างเดียว แต่ไม่สามารถมีกุศโลบายในการประสานกับกลุ่มต่าง ๆ”

“แต่พอผ่านไปทุกคนรู้แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ขายไม่ได้อีกต่อไป เหลืออีกแค่ 2 ปี จึงไม่มีพลังในการเป็นตัวชูโรงอีกต่อไป เลือกตั้งสมัยหน้าหมดสิทธิ”

“ในหมู่ของทหารที่เป็นกลุ่มแกนนำรัฐประหารพร้อมที่แทงกันตลอดเวลา เพื่อชิงอำนาจกัน เหมือนกับที่เราเห็น จอมพล ป. จอมพลผิน ชุณหะวัณ จอมพลเผ่า ศรียานนท์ เมื่อหมดตำแหน่งแห่งที่แล้วต้องถูกถีบลง เหมือน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่เกษียณแล้ว ต้องถูกผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เชือด พูดง่าย ๆ มันไม่มีความภักดีต่อกันหรอก เพราะทุกคนอยากได้ตำแหน่งแห่งที่และอำนาจ”

“แต่มาถึง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร อยู่มานานแล้วทั้งคู่ ไม่รู้ใครจะแทงใคร แต่เกมนี้ทำไม พล.อ.ประวิตรต้องมาคุมพรรคการเมือง เพราะจะกลายมาเป็นพลังการต่อรองของ พล.อ.ประวิตร ที่ใช้ต่อรองกับ พล.อ.ประยุทธ์”

“การรัฐประหารจะมีอำนาจเข้มแข็งหลังการรัฐประหารใหม่ ๆ แต่จะเริ่มอ่อนแอพร้อม ๆ กับความชราภาพของตนเอง แล้วในที่สุดก็จะถูกเชือดลงหลุมไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง หรือสิ้นชีพทางการเมืองด้วยวิธีการใด หนึ่งมีคณะรัฐประหารขึ้นมาเพื่อรักษาอำนาจไว้ โดยให้คณะรัฐประหารชุดปัจจุบันลง เพื่อรักษาอำนาจไว้ เพราะถ้าชุดนี้จบลงโดยไม่ได้ทำอะไร เท่ากับพลังอำนาจระบบเก่าจะสูญหายไปทันที แต่จะกลายเป็นจุดจบแบบจอมพลถนอมประชาชนคงไม่ยอม”

ประยุทธ์เสื่อม จะถูกบีบออก

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะจุดจบ พล.อ.ประยุทธ์-พรรคพลังประชารัฐว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าเรามองว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นสินค้าทางการเมืองชิ้นหนึ่งก็เป็นสินค้าทางการเมืองที่เสื่อมความนิยม ไม่มีจุดขายแล้ว ปี 2562 ยังขายความสงบ เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่ แต่ตอนนี้ปัญหาประเทศเยอะกว่าปี 2562

ทั้งเศรษฐกิจโลก ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ จึงขายความสงบอย่างเดียวจึงไม่ตอบโจทย์ เพราะประชาชนเดือดร้อนขนาดนี้ไม่ได้ต้องการแค่ความสงบ และเผลอ ๆ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งอาจเป็นชนวนของความไม่สงบด้วยซ้ำ เพราะคนต่อต้านเยอะ

รวมถึงคนแวดล้อม พล.อ.ประยุทธ์ก็มองออก โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ มองออกแน่ ๆ เพราะพวกนักเลือกตั้งอาชีพเขารู้กระแสดีกว่าใครอยู่แล้ว ถ้าลงเลือกตั้ง โอกาสจะกลับมาสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งจึงยากมาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เสื่อมความนิยมลงอย่างมาก ตัวพรรคพลังประชารัฐที่เป็นเหมือนพาหนะที่พาเขาไปสู่อำนาจ ก็เสื่อมความนิยมลงอย่างมากเช่นกัน จึงเป็นเหมือนเตี้ยอุ้มค่อมระหว่างพรรคและแคนดิเดตนายกฯ

ชนชั้นนำมีสิทธิเปลี่ยนตัวเล่น จาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนอื่นหรือไม่ รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ยังเชื่อว่ามีโอกาสถ้าดูจาก pattern ในอดีต นายกฯที่เสื่อมความนิยมมากก็ต้องถูกบีบออกไปด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มีมือที่มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลังตลอด เช่น จอมพลถนอมกิตติขจร นายธานินทร์ กรัยวิเชียร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจะรู้ว่าหลุดออกไปด้วยแรงกดดันบางอย่าง