ประวิตร 2 ปีหัวหน้าพลังประชารัฐ ส.ส.ลาออกครั้งใหญ่ เหลือไม่ถึง 100 คน

ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ
ภาพจาก พรรคพลังประชารัฐ

ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ 2 ปีแห่งการกุมบังเหียน พรรคพลังประชารัฐ และปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่ – ส.ส.โดนปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย เหลือ ส.ส.สังกัดพรรคไม่ถึง 100 คน

พรรคพลังประชารัฐ ก่อร่างสร้างตัวมาจากนักการเมืองที่มีพื้นเพความเป็นกลุ่ม-ก๊วน และมีรากเหง้ามาจากบ้านใหญ่ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน แต่ต่างแรงบันดาลใจ

นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่นที่มีชนักปักหลัง ที่อยู่ในกระบวนการถูกดำเนินคดีทุจริตค้างคามาตัั้งแต่ยุคก่อน รวมทั้งคดีการเมือง ไปจนถึงคดีอาญา ทั้งที่มีมูล-ไม่มีมูล ไม่ครบองค์ประกอบความผิด ต้องพลิกวิกฤติย้ายพรรค แลกกับการเป่าคดี

อาทิ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว คดีประวัติศาสตร์ที่ทำสถิติมีความเสียหายมากที่สุด ศาลฎีกา พิพากษาอุทธรณ์ในชั้นที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา จำคุกเพิ่มอีก 6 ปี รวมเป็น 48 ปี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ – บิดา นายเดชนัฐวิทย์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวที่พูดกันในหมู่นักการเมืองว่า นายบุญทรงอาจได้รับการ “ลดโทษ” เหลือ 10 ปี

นอกจากนี้ ศาลฏีกา สนามหลวง พิพากษาตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ตัดสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจังหวัดราชบุรี

ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยให้นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวันถึงที่สุดเมื่อปี 38

ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้ครอบครัว “บ้านใหญ่รัตนเศรษฐ” ประกอบด้วย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ-ภรรยา นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา และน้องเมีย-นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ในคดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา

คดีที่ศาลอาญา พิพากษาจำคุกนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 7 ปี และ 6 ปี 16 เดือนตามลำดับ ในคดีชุมนุมขับไล่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนี้ยังมีผลนายพุทธิพงษ์และนายณัฏฐพลขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี และพ้นจากตำแหน่งรมว.ดีอีเอส และรมว.ศึกษาธิการตามลำดับ

นอกจากนี้ยังมีศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา จำคุก 1ปี ให้รอการลงโทษ 2 ปี น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ คดีเสียบบัตรแทนกัน ขณะนี้อยู่ในชั้นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา

ศาลฏีกาพิพากษาจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา อดีตแกนนำคนเสื้อแดง นปช.- พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ คดีชุมนุมล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่จังหวัดพัทยา เมื่อปี 52
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จังหวัดขอนแก่น พิพากษาเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง 10 ปี นายเอกภาพ พลซื่อ ผู้สมัคร-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ร้อยเอ็ด คดีผิดกฎหมายเลือกตั้ง พร้อมมกับต้องชดใช้เงินจำนวน 34 ล้านบาทให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ใหม่

ประวิตร มา มวลมหามิตร โบกมือลา

ตั้งแต่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ยึดพรรคพลังประชารัฐ-กุมบังเหียนหัวหน้าพรรค มวลมหามิตรที่ลงทุน-ลงแรงประกอบร่างขึ้นโครงเป็น “นั่งร้าน” ให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ทยอยโบกมือลา-ยกธงขาวกับเกมชิงอำนาจภายในพรรค

กลุ่มแรก คือ กลุ่มสี่กุมาร นำทีมออกโดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ปรึกษาทางใจ ตามมาด้วยแกนนำสี่กุมาร นายอุตตม สาวนายน อดีตหัวหน้าพรรค – นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตเลขาธิการพรรค – นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรองหัวหน้าพรรค และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตโฆษกพรรค รวมถึงนายวัชระ กรรณิการ์
หลังจากนั้นลูกทีมก็ค่อย ๆ ทยอยออก เพื่อไปอยู่บ้านหลังใหม่ ชื่อ พรรคสร้างอนาคตไทย ได้แก่ นายวิเชียร เชาวลิต อดีตนายทะเบียนพรรค นายสันติ กีระนันท์ และนายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ-กรรมการบริหารพรรค

การลาออกครั้งใหญ่ที่สุดของพรรคพลังประชารัฐ คือ การขับออก 21 ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พหรมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น ประกอบด้วย

  1. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา
  2. นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  3. นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร
  4. นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา
  5. นายปัญญา จินาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน
  6. นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง
  7. นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก
  8. นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก
  9. นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร
  10. นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  11. นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น
  12. นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น
  13. นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา
  14. นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา
  15. นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา
  16. นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี
  17. นายณัฏฐพงษ์ จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์
  18. นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร
  19. นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  20. พล.ต.ต.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  21. นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

อีก 1 คน คือ มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มดาวฤกษ์ พร้อมกับการ ทิ้งบอมบ์ ก่อนจะย้ายไปพรรคประชาธิปัตย์

หลังจากนี้ยังต้องจับตาดูการขยับตัวของ 5 ส.ส.กทม.กลุ่มดาวฤกษ์ ได้แก่

  1. นายศิริพงษ์ รัสมี
  2. นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา
  3. น.ส.ภาดาห์ วรากานนท์
  4. น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์
  5. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ (อยู่ระหว่างอุทธรณ์)

ท่ามกลางกระแสข่าว ส.ส.ย้ายค่ายอีก บิ๊กล็อต จากเอฟเฟ็กต์งานเบิร์ธเดย์ “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่แห่งภูมิใจไทย โดยมี ส.ส.พลังประชารัฐ 7 คนที่ไปร่วมเป่าเทียนเค้กวันเกิด ประกอบด้วย นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท

นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี

โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง-ส.ส.กลุ่ม กทม. ที่ต้องลุ้นกระแสพล.อ.ประยุทธ์จนวินาทีสุดท้าย-7 กุมภาพันธ์ 2566 อาทิ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร นายกษิดิ์ ชุติมันต์ นายชาญวิทย์ วิภูศิริ นายประสิทธิ์ มะหะหมัด

ไม่นับรวมคนที่ไม่มีพื้นที่ภายในพรรคจนต้องถอดใจย้ายสำมะโนครัวไปสร้างบ้านหลังใหม่ เช่น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ “แรมโบ้” นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ไปตั้งพรรคเทิดไท นายปรพล อดิเรกสาร ไปอยู่พรรคสร้างอนาคตไทย “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชช์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ตั้งพรรครวมแผ่นดิน พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ที่ย้ายไปอยู่พรรคกล้า ปัจจุบันอยู่พรรคสร้างอนาคตไทย

นอกจาก ส.ส.ที่มีคดีเป็นชนักปักหลังทยอยถูกสอยเป็นใบไม้ร่วง และการลาออกครั้งใหญ่ นับตั้งแต่พล.อ.ประวิตรมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โควตารัฐมนตรีที่เคยถูกพล.อ.ประยุทธ์ริบไปยังไม่สามารถทวงกลับมาได้

โดยเฉพาะเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ รมช.แรงงาน จากการปลดฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ถูกพล.อ.ประยุทธ์ ยึดไปแล้วยังไม่ยอมคืน

4 ปีของพลังประชารัฐ 2 ปีที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค จาก ส.ส.121 ที่นั่ง ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 100 เสียง สถานการณ์เลือกตั้งครั้งใหม่ ยังห่างไกลกับคำว่าสถาบันทางการเมือง