ควบรวมพรรคหนีตายสูตรหาร 100 สมคิด-สุดารัตน์ สนธิกำลังชิงเก้าอี้นายกฯ

พรรคการเมือง
รายงานพิเศษ

พรรคใหม่-พรรคเล็ก ควบรวม-หนีตาย กติกาการเลือกตั้งบัตรสองใบ-หารด้วย 100 บางพรรคปิดดีลด้วยแท็กติก-อภินิหารทางกฎหมาย บางพรรคแม้พูดจาภาษาเดียวกันแต่ลงท้ายคนละคีย์

ดีลควบรวมพรรคสร้างอนาคตไทย ที่มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นประธานพรรค กับพรรคไทยสร้างไทยของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ยัง “ปิดดีลไม่ลง” ในตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” กับ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเบอร์ 1”

ดีลพรรคสมคิด-สุดารัตน์จบไม่ลง

กระบวนการพูดคุย “ควบรวมพรรค” ยังเกิดขึ้นเป็นระยะ “ควบคู่” ไปกับการลงพื้นที่เพื่อปักหมุด ส.ส.เขต ของพรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคไทยสร้างไทย เพื่อนำมาเป็นข้อต่อรองบนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง

“ปุ้ม” สุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย-ประธานภาคกรุงเทพฯ คู่แข่งขันกับ “ผู้การปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย จึงช่วงชิงพื้นที่กันอย่างเข้มข้น-ถึงพริกถึงขิง

“สุรนันทน์” ยืนยันทุกเวทีสาธารณะในพื้นที่จริง-พื้นที่เสมือนจริง ว่า สนับสนุนนายสมคิด เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เบอร์ 1 ไม่อ่อนข้อให้กับคุณหญิงสุดารัตน์

ตรงกันข้ามพื้นที่ภาคอื่นที่อุตตม-หัวหน้าพรรค และสนธิรัตน์-เลขาธิการพรรค ยังไม่สามารถปักธงพื้นที่ยุทธศาสตร์ได้ จนกลายเป็น “จุดอ่อน” ในการต่อรองกับพรรคไทยสร้างไทย

“May be it is time to move on เก็บความทรงจำดี ๆ เมื่อทีมงานดี ทำงานสนุก ขอบคุณทุก ๆ คนครับ” นายสุรนันทน์โพสต์ข้อความปริศนากลางดึกวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา-ส่งสัญญาณพรรคป่วน

สำหรับขั้นตอนทางกฎหมายการควบรวมพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง มาตรา 97 กำหนดไว้ว่า การควบรวมพรรคการเมืองให้กระทำได้เฉพาะเป็นการรวมกันเพื่อจัดตั้งเป็น “พรรคการเมืองใหม่”

โดยมาตรา 98 ระบุว่า ในการควบรวมพรรคการเมืองให้พรรคการเมืองที่จะรวมกันขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง

เมื่อที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมืองเห็นชอบให้รวมกันแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนพรรคการเมืองละ 10 คน ประชุมร่วมกันเพื่อดำเนินการร่างข้อบังคับของพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่

ให้ดำเนินการจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกของทุกพรรคที่จะรวมกัน เพื่อประชุมตั้งพรรคตามมาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อกำหนดชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค

นโยบายของพรรคการเมือง และข้อบังคับ เลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค นายทะเบียนสมาชิกและกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง และยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง

มาตรา 99 เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองแล้ว พรรคการเมืองที่รวมกันเป็นอันสิ้นสุดลง โดยให้สมาชิกพรรคเดิมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ รวมถึงโอนบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ ไปเป็นของพรรคการเมืองใหม่

ไทม์ไลน์กรณ์ “ย้ายพรรค”

ขณะที่พรรคที่ “ดีลจบ” เปลี่ยนหัว-จัดทัพใหม่ จนสามารถรีแบรนดิ้งเป็น “ชาติพัฒนากล้า” โดยใช้แท็กติกทางกฎหมาย พ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับปี’60 มาตรา 96 ซึ่งบังคับไว้ว่า “ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้”

โดยเริ่มจากนายกรณ์พร้อมคณะกรรมการบริหารพรรคบางส่วนลาออกจากหัวหน้าพรรค-กก.บห.พรรคกล้าอย่างลับ ๆ คู่ขนานไปกับการ “ย้ายพรรค”

วันที่ 2 กันยายน 2565 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนาขณะนั้น กับ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้าขณะนั้น ร่วมกันแถลงข่าว “จับมือทางการเมือง” ที่บ้านเลขที่ 333

วันที่ 5 กันยายน 2565 “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เลขาธิการพรรคกล้าขณะนั้น นำทีมแถลงถึงทิศทางการเมืองของพรรคกล้า หลังการปรากฏตัวของนายกรณ์ที่ “บ้านเลขที่ 333”

“คุณกรณ์เลือกทำอย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมาย คือลาออกจากพรรคและไปสมัครพรรคใหม่โดยมีท่านอดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรคกล้าท่านกอร์ปศักดิ์ตามไปด้วย”

“เราเองยังสังกัดพรรคกล้า จะไปข้องเกี่ยวไม่ได้ กฎหมายพรรคการเมืองก็ระบุไว้ชัดเจน ผมก็ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการพรรคกล้า เพื่อจัดประชุมใหญ่พรรคในเดือนนี้ให้แล้วเสร็จ”

“วันนี้ผมเองยังรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการพรรคกล้า ผมไปแทรกแซงเรื่องพรรคเขาไม่ได้ ผมยังมีงานที่ยังค้างอยู่” รักษาการเลขาธิการพรรคกล้าระบุ

เปิดตัว “ชาติพัฒนากล้า”

วันที่ 26 กันยายน 2565 กรณ์-อรรถวิชช์ นำทีมอดีตสมาชิกพรรคกล้ากว่า 80 ชีวิต ตบเท้าเข้าพรรคชาติพัฒนา พร้อมกับที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 รีแบรนด์-เปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็น “พรรคชาติพัฒนากล้า”

โดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคแทนตำแหน่งที่ว่าง 4 ตำแหน่ง ได้แก่ 1.นายกรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคกล้า 2.นายอรรถวิชช์ อดีตเลขาธิการพรรคกล้า 3.นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรคกล้า และ 4.นายวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตรองหัวหน้าพรรคกล้า

วันที่ 16 ตุลาคม 2565 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ลาออกจากหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา โดยที่ประชุมใหญ่สามัญได้เสนอชื่อนายกรณ์ และมีมติด้วยคะแนนเอกฉันท์ให้นายกรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค “ชาติพัฒนากล้า”

นอกจากนี้ยังเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 30 ตำแหน่ง อาทิ 1.นายกรณ์ หัวหน้าพรรค 2.นายเทวัญ เลขาธิการพรรค 3.นายอรรถวิชช์ รองหัวหน้าพรรค 4.นายวรวุฒิ รองหัวหน้าพรรค

โดยมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานพรรค นายกอร์ปศักดิ์ ประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ดำเนินการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังมีการรีแบรนดิ้ง-ปรับโลโก้ของพรรคใหม่ “โลโก้ ชาติพัฒนากล้า ช.แทนความหมายถึง ‘ชาติ’ ที่พร้อมจะ ‘พัฒนา’ ให้เจริญรุ่งเรือง โชติช่วงดุจเปลวเพลิงชัชวาลที่ไม่มีวันดับได้นั้น ต้องอาศัยความ ‘กล้า’ เป็นสำคัญ”

ชาติพัฒนากล้า-ไพบูลย์โมเดล

ขณะที่การ “รวมพรรค” รวมไทยสร้างชาติ ของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” กับ “พรรคสุเทพ” รวมพลังประชาชาติไทย หรือพรรครวมพลังในปัจจุบัน อาจจะใช้ “ชาติพัฒนากล้าโมเดล” หากต้องรวมกัน

“ปกติแล้วทุกคนที่ตั้งพรรคขึ้นมา ก็ต้องมีแนวคิดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรวมกันไม่ได้ แต่เป็นการรวมกันแบบจับมือกันทำงาน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ถ้าเป็นการรวมแบบควบรวมพรรคกันเลยคงไม่ใช่เรื่องง่าย”

“แต่หากมีการควบรวมพรรคกันแล้วทำให้แข็งแรงขึ้น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้มากขึ้น ก็อาจจะมีการรวมกันได้ ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ปิดประตูรวมพรรค

อีก 1 โมเดล-ไพบูลย์โมเดล คือ การ “เลิกพรรค” ประชาชนปฏิรูป และสังกัดพรรคพลังประชารัฐของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” โดยใช้มติกรรมการบริหารพรรคและสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน

หลังจากนั้นก็มีพรรคจิ๋วเดินตามรอย “ไพบูลย์โมเดล” เช่น พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชานิยม

หาร 100-500 ชี้ขาดรวมพรรค

สถานการณ์ที่นักการเมืองรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ มีผลต่อการควบรวมพรรค คือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับตีความกฎหมายลูกที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2 ฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่แก้ไขเรื่องขั้นตอนการทำไพรมารี่โหวต

โดยเฉพาะสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถูกแก้กลับไป-กลับมา จากหาร 100 เปลี่ยนเป็น 500 แล้วก็กลับมาใช้ 100 อีกครั้ง เป็นจุดที่นักเลือกตั้งเฝ้าระวัง มีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งตัวผู้เล่นลงสนาม หรือวางแผนเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน

สถานการณ์โน้มเอียงมาที่สูตรหาร 100 ด้วยเปอร์เซ็นต์ 70 : 30 หากที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้ “ไฟเขียว” สูตรหาร 100 ตามร่างเดิมที่สภาอนุมัติ นายกฯก็จะนำขึ้นสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า สูตรหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ อาจกลายเป็น “เรื่องใหญ่”

เพราะต้องดูคำวินิจฉัยว่า ประเด็นสูตรหาร 100 ผิดใน “สาระสำคัญ” ของกฎหมายหรือไม่… ถ้าใช่ กฎหมายจะตกไป ต้องมีการตั้งลูกร่างกฎหมายลูกกันอีกยกหนึ่ง นักเลือกตั้งต้องเร่งลงมือคลอดกฎหมายลูกโดยเร็ว

แต่ถ้านายกฯตัดสินใจยุบสภาก่อนมีกฎหมายลูกบังคับใช้ และวันนั้นไม่มีสภาคลอดกฎหมาย อาจเกิด deadlock ต้องงัด มาตรา 5 เรื่องประเพณีการปกครองมาใช้หรือไม่ เป็นเสียงที่สะท้อนมาจากนักวิจารณ์การเมือง

แต่ถ้าศาลเห็นว่า หาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่สาระสำคัญของกฎหมาย รัฐสภาก็จะนำกลับมา “แก้ไข” ให้ถูกต้องตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย