เพื่อไทย-สุดารัตน์ พรรคคู่ขนาน ชิงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เติมเงินคนจน

นโยบายพรรค
รายงานพิเศษ

พรรคเพื่อไทย-พรรคไทยสร้างไทย เปรียบเสมือนพรรคการเมือง “คู่ขนาน” ไม่ถึงกับเป็น “คู่แข่ง” ถาวร แต่ก็ยอมแพ้ให้กันไม่ได้

เพราะพรรคไทยสร้างไทย ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค พาลูกน้อง-บุคคลที่ผิดหวัง-พลาดหวังจากเกมเลือกตั้งในพรรคเพื่อไทย มาตั้งถิ่นฐาน สร้างตัวตนทางการเมืองใหม่

ทว่าพรรคเพื่อไทย ที่มี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ทายาทชินวัตร เป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ตั้งข้อสังเกตว่า การก่อร่างสร้างตัวของพรรคไทยสร้างไทย รวมถึงการ “หาเสียง” ในพื้นที่นั้น มีการนำไปเชื่อมโยงว่า พรรคเพื่อไทยคือ “พรรคพี่” ไทยสร้างไทยคือ “พรรคน้อง”

จนต้องออกกฎ “ต้องห้าม” ส.ส.เพื่อไทยคนไหนที่มีญาติ-พี่-น้อง ที่จะไปอยู่พรรคไทยสร้างไทย ถ้าจะไปต้องไปให้ขาดทั้งหมด หรือถ้าคิดจะอยู่พรรคเพื่อไทย ก็ต้องมาอยู่พรรคเพื่อไทยทั้งหมด เพื่อป้องกันการ “แอบอ้าง” โหนกระแสพรรคเพื่อไทย

ในวันที่ต้องเริ่มเข้าสู่สมรภูมิการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ วาระแก้ปัญหาเศรษฐกิจคือ “วาระใหญ่” ที่จะต้องชิงเสียงโหวตเตอร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทย-พรรคไทยสร้างไทย ต่างก็มีฐานเสียงเดียวกัน โดยเฉพาะฐานเสียงภาคอีสาน ออกตัว-เปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจขึ้นพร้อม ๆ กัน ต่อไปนี้คือนโยบายเศรษฐกิจ “ยกแรก” ของ 2 พรรคการเมืองคู่ขนาน

โคขุนล้านตัวโปรเจ็กต์ใหญ่

พรรคเพื่อไทย นำโดย “แพทองธาร” คิกออฟ ชุดนโยบายเศรษฐกิจภายใต้ธีม “เพื่อไทย เพื่อรายได้ใหม่ของประชาชน” เริ่มจากนโยบาย ‘ผ่าตัดเกษตรกรรม’ รดน้ำที่ราก สร้างเงินจากดิน ใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ ใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พร้อมหาโอกาสใหม่ ๆ เช่น

ใช้ความรู้สมัยใหม่เพิ่มผลผลิตจากพืชที่ปลูกอยู่แล้ว อาทิ ข้าว และยาง ผลิต พืชอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง เพื่อทดแทนการนำเข้า และขยายการส่งออก สำหรับการบรรเทาทุกข์ระยะเร่งด่วน นโยบายพักหนี้เกษตรกร พร้อม ๆ กับการสร้างรายได้จะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อไทยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยโครงการบำนาญเกษตรกร

ซึ่งจะทำเพื่อดูแลเกษตรกรรุ่นบุกเบิก และดึงดูดเกษตรกรรุ่นใหม่ เปลี่ยนเงินให้เปล่าเป็นต้นทุนสร้างชีวิต ผลิตรายได้ให้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน โดยมีหลักทำงานคือ ดินนำ น้ำดี มีต้นพันธุ์ ยืนยันราคา จัดหาแหล่งทุน สนับสนุนกรรมสิทธิ์ มีเป้าเปลี่ยนผืนแผ่นดินเดิมจากที่เคยสร้างรายได้ 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี ประชาชนไทยทุกคน ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์

เรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ของพรรคเพื่อไทยคือ โคขุนเงินล้าน “สุทิน คลังแสง” รองหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการขจัดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ขยายความว่า นโยบายดังกล่าวไม่ต่างจากโคล้านตัว ที่ให้ชาวบ้านไปเลี้ยงบ้านละ 5 ตัวในยุคไทยรักไทย แต่ “โคขุน” นั้น จะมีมูลค่ามากกว่า อาจจะให้ครอบครัวละ 2 ตัว โดยรัฐบาลอาจจะเป็นผู้ช่วยในการดูแล มี “คอกกลาง” สำหรับการเลี้ยงดู

คล้าย ๆ กับ contact farming แต่นโยบายนี้จะเป็น contact กับรัฐ และรัฐจะเป็นผู้หาตลาดให้ ก่อนหน้านี้โคขุนต้องนำสายพันธุ์จากต่างประเทศ มาเลี้ยง ทั้งที่โคขุนของไทยก็มีคุณภาพ แต่ต้องนำเทคโนโลยีมาเสริม

ได้เงินโอน แทนจ่ายเงินภาษี

“สุทิน” ที่ได้รับมอบหมายให้นำเสนอนโยบาย ‘เงินโอน คนสร้างตัว’ (Earned Income Tax; EIT) เล่าว่า โครงการนี้จะให้คนได้รับเงินภาษีแทนการจ่ายเงินภาษี จนกระทั่งมีความมั่นคงและสร้างตัวได้ โดยจะเปิดให้คนลงทะเบียนเข้าโครงการ หรืออาจยึดจำนวนประชาชนที่เคยลงทะเบียนไว้กับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรคนจน แต่จะไปสำรวจใหม่ให้ได้ข้อมูลปัจจุบัน เป็นจริงมากขึ้น อาจจะมีการสำรวจใหม่ทุก ๆ 6 เดือน

ยกตัวอย่างว่า สมมติผู้มีรายได้น้อย เช่น ได้ 2 พันบาทต่อเดือน รัฐอาจจะโอนสมทบให้ 10% คือ 200 บาท หรือ 20% คือ 400 บาท แต่ถ้าช่วยแล้วผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถสร้างตัวจนรายได้ต่อเดือนถึงเกณฑ์เสียภาษีเมื่อไหร่ คนนั้นก็ต้องไปใช้สิทธิอื่น โดยต้องเสียภาษีตามกฎหมาย

“นโยบายโอนเงินแทนการจ่ายภาษีนี้ เราทำไม่นาน เพราะเชื่อว่าพอทำโครงการไปได้ระยะหนึ่ง ประชาชนก็จะมีรายได้ ฐานภาษีจะกว้างมากที่สุดเท่าที่เคยมีในประเทศ” สุทินเชื่อ

นโยบาย

โมเดลธุรกิจใหม่

อีกหนึ่งไฮไลต์ นโยบาย “เขตธุรกิจใหม่” (New Business Zone; NBZ) ที่จะมี 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ กทม. ขอนแก่น และหาดใหญ่ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค ในฐานะคณะทำงานด้านยกเครื่องเศรษฐกิจ ชี้ความแตกต่างระหว่าง “เขตธุรกิจใหม่” กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่าง EEC เขตเศรษฐกิจแบบคลัสเตอร์ ของรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงที่เงียบหายไปกับสายลมว่า หลักคิดของ EEC ใช้สิทธิประโยชน์ในการดึงต่างชาติเข้ามานำ แต่ในตัวแก่น คือ แรงงาน กฎหมาย ไม่ถูกแก้ไข

ส่วนของพรรคเพื่อไทย เริ่มจากตัวแก่นในประเทศที่เห็นเป็นปัญหาสำคัญคือ กฎหมาย ทำให้เอกชน SMEs แข่งขันไม่ได้ และต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน ขณะเดียวกัน การกิโยตินกฎหมายก็ทำได้ยาก ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงมีกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ เพื่อนำมาบังคับใช้กับ 4 เขตธุรกิจใหม่ เพื่อดึงดูดต่างชาติ นำไปสู้กับดูไบ ฮ่องกง

กฎหมายธุรกิจชุดใหม่ ครอบคลุมทุกมิติ เรื่องแรงงาน นำเข้า ส่งออก การทำธุรกรรมทางการเงิน ใบอนุญาต การแข่งขันทางการค้า ทุกอย่างที่เคยเป็นปัญหาในประเทศจะได้รับการแก้ไขในเขตธุรกิจนี้

“เอกชนถ้าต้องการใช้กฎหมายใหม่ ก็ต้องเข้าไปในเขตธุรกิจใหม่ ทั้งนี้ เพื่อบ่มเพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันในประเทศได้ เช่น สุรา ถ้าอยู่นอกเขตธุรกิจเขาแข่งขันไม่ได้ เพราะมีกฎหมายต่าง ๆ ที่กีดกันแข่งกับรายใหญ่ แต่ในเขตธุรกิจก็จะมีใบอนุญาตชนิดพิเศษ เพื่อเอื้อรายเล็กไปแข่งกับรายใหญ่”

ใน EEC กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve แต่ “เขตธุรกิจใหม่” ตามนโยบายพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่ทำโซนนั้นเพื่อเอื้อต่อการเกิด SMEs ไม่จำกัดอุตสาหกรรมว่าจะต้องเป็นภาคอะไร เราทำตรงนั้นให้พร้อม เป็นเขตบ่มเพาะ เอื้อให้ธุรกิจโต ส่วนจะทำธุรกิจอะไรไม่มีข้อกำหนด

ส่วนนโยบายอื่น ๆ ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้คือ 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ ซอฟต์พาวเวอร์’ ให้มีศูนย์บ่มเพาะที่อยู่ในชุมชน ทักษะต่าง ๆ เช่น อาหาร แฟชั่น กีฬา การเขียนโปรแกรม เพื่อส่งออกไปสู่เวทีใหญ่ จนก้าวไปถึงระดับนานาชาติ

3 กองทุนล้างหนี้

ด้านพรรคไทยสร้างไทย ดึงตัวจริงภาคธุรกิจอย่าง สุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มานั่งในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ เปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจ ผ่านทฤษฎีในการแก้ 3 เรื่องคือ เพิ่ม-เติม-สร้าง

1.แก้ วันนี้มีปัญหาเยอะ คือแก้หนี้ เติมทุน เพราะทุกคนเป็นหนี้กันเยอะ เรามีกองทุน 3 กองทุน กองทุนฟื้นฟูหนี้ ช่วยคนเป็นหนี้สมัยโควิด-19 โดยต้องช่วยเขา ให้เขาเอาทรัพย์สินไปขาย หรือไปกู้ใหม่เพื่อลดภาระ

และเติม คือทุนสำหรับนักรบพวกนี้ให้กลับมาให้ได้ และเมื่อฟื้นตัวได้เขาก็จะเสียภาษี จากนั้นอีก 3 ปีข้างหน้าจะเห็นน้ำเห็นเนื้อ

กองทุน SMEs ช่วยเหลือในการสร้างนวัตกรรม วิสาหกิจชุมชน ฟื้นฟูท่องเที่ยว และกองทุนเครดิตประชาชน แม่ค้า ค้าขาย เรามีแอปเป๋าตังค์ที่ไม่มีตังค์ ต้องหาตังค์ใส่เข้าไป 3 พัน-5 พัน ผ่อนผ่านแอปได้ เครดิตยิ่งดี เราจะเพิ่มวงเงินให้ เราไม่ได้มีเทคโนโลยีแค่ไว้ด่ากัน เพราะเรามีอินเทอร์เน็ต 5 จี ดีระดับหนึ่งเหมือนในหลาย ๆ ประเทศในโลกนี้

“เราต้องยกให้การฟื้นฟู SMEs เป็นวาระแห่งชาติ”

สร้างแอปเพิ่มรายได้

2.เพิ่ม เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย เราต้องมีแอปที่จะทำให้เขาเพิ่มรายได้ ทั้งแอปท่องเที่ยว เราไม่เคยมี ทุกอย่างต้องพึ่ง shopee Lazada เราต้องเพิ่มในสิ่งที่เราถนัด ทำไมไม่จับมือกับเอกชน เรามีท่องเที่ยว อาหาร เกษตร เวลเนส เรามีเทคโนโลยีดูเรื่องการเกษตรที่ช่วยเขาได้ รวมถึงปรับปรุงเรื่องชลประทาน แต่เราไม่ทำ เรายอมเสียรถไฟฟ้า 1 สายในกรุงเทพฯ ไปทำเรื่องน้ำโขง ชี มูล เพื่อทำให้สินค้าเกษตรของเขาดีขึ้น

“แล้วถ้าดี คนไม่แออัดใน กทม. กลับไปอยู่อีสานบ้านเฮาดีกว่า เราต้องทำภูมิภาคให้ดี สะดวกสบาย เพิ่มตังค์ ลดค่าใช้จ่าย จึงเป็นสิ่งที่เราควรจะทำ” นายสุพันธุ์กล่าว

เรื่องท่องเที่ยวและบริการ ทำไมเราต้องไปใช้แอป Airbnb agoda เราสามารถร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำให้คนมาจองแอปนี้แล้วได้ราคาถูกสุดในโลก โดย ททท.และรัฐบาลจะอุดหนุน ตั้งเป้าราคาดีที่สุด จะได้ไม่ต้องไปให้ agoda Airbnb อยู่ที่รัฐบาลจะสนับสนุนหรือไม่

“วันนี้เราไม่ต้องไปโฆษณา เชียงใหม่ สมุย พัทยา ทุกคนรู้จัก เรามีแลนด์มาร์กในหลายจังหวัด สามารถจัดอีเวนต์ใหญ่ ๆ ทุกเดือนได้ ช่วยกันโปรโมต คนอยากมาเที่ยวเมืองไทยอยู่แล้ว อีกทั้งสุขภาพเรามีหมอที่เก่งมาก ๆ ยิ่งหมอศัลยกรรม ใครผ่าตัดแปลงเพศต้องมาเมืองไทย เรามี ยา รักษาสมุนไพร เรื่องเหล่านี้คือการเพิ่มเงินในกระเป๋าโดยรัฐช่วยเหลือ ถ้าเรามีอำนาจทำได้แน่นอน”

ปรับประเทศรับ ศก.ดิจิทัล

3.สร้างเศรษฐกิจโลกใหม่ เราต้องเตรียมสำหรับโลกในเศรษฐกิจใหม่ digital economy เรามีฐานข้อมูลต้องเชื่อมโยง อุตสาหกรรมไทยต้องได้แต้มต่อ BOI ต้องเปลี่ยนการสนับสนุนจากต่างชาติ มาสนับสนุนคนไทยมากขึ้น รวมถึงอีสปอร์ต เป็นอนาคตของกีฬา ซึ่งเด็กไทยก็เก่ง ได้เป็นแชมป์ระดับต้น ๆ ของโลก เราต้องสร้างให้เป็นผู้นำอีสปอร์ตให้ได้ เราสามารถสร้างเกม สร้างสนามเหล่านี้ได้ ถ้ารัฐบาลสนับสนุน พรรคไทยสร้างไทยจึงมีทีมอีสปอร์ต”

สิ่งสำคัญคือการศึกษา ต้องปรับเปลี่ยน ทันเหตุการณ์ ไทยสร้างไทยจะให้โอกาสทุกคนเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ลดการเรียนลงมา 3 ปี ประถม 1 ปี มัธยม 1 ปี มหาวิทยาลัย 1 ปี หลักสูตรสามารถปรับเข้ากับตลาดได้ จะทำให้คนทำมาหากินได้เร็วขึ้น ลดภาระพ่อแม่ได้มากขึ้น และเศรษฐกิจจะดี

ส่วนนโยบายแจกเงินจะเกทับนโยบายพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น แม้พรรคจะมีกองทุนเครดิตประชาชนที่เป็นลักษณะการให้กู้ยืมเงินได้โดยตรงเหมือนกัน แต่มีระบบเครดิตประชาชน ที่ใช้บัตรประชาชนมายื่นกู้ ดังนั้น ประชาชนต้องรักษาเครดิตของตัวเองเพื่อใช้ในการทำมาหากินต่อ หากปล่อยทิ้งให้หนี้เสียก็จะมีข้อมูลบันทึกไว้

ส่วนนโยบายบำนาญประชาชนจะใช้งบประมาณราว 3 แสนล้านบาท แต่จะให้ผลตอบแทนในหลายด้าน ทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ลดภาระลูกหลานให้มีเวลาไปทำมาหากินมากขึ้น อีกทั้งยังกระจายรายได้สู่ชุมชนได้จริง


แค่ยกแรก ไทยสร้างไทย-เพื่อไทย เกทับกันเดือด