เศรษฐา ทวีสิน ประวัติ ความคิดการเมือง ว่าที่นายกฯ ในบัญชีเพื่อไทย

ประวัติ เศรษฐา ทวีสิน
PRACHACHAT/Illustration/Bhattarada Manee

แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฎ เปิดตัว แบบไม่เปิดตัว ชื่อเศรษฐา ทวีสิน อยู่ในวงประชุมแกนนำพรรคเพื่อไทย ในนามหมายเลข 1 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

เศรษฐา ทวีสิน ชื่อที่ถูกปล่อยว่า จะเป็น 1 ในบัญชีคู่แข่งนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย

คนการเมือง ที่ฝึกฝนจะช่ำชอง ย่อมรู้กาละ เวลา ในการแสดงตัว

บางรายแสดงตัวราวกับผีพุ่งใต้

บางรายปรากฏตัวคล้ายพลุพุ่งขึ้นฟ้า

เหล่านี้ย่อมไม่ใช่คุณสมบัติของ “เศรษฐา ทวีสิน”

เพราะกว่าจะปรากฏตัวใน “ข่าวการเมือง” ชื่อและพฤติการณ์ของเศรษฐา ทวีสิน นั้นอยู่ในพื้นที่การเมืองมาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ปี

ทั้งในเวทีสัมมนาธุรกิจ-การเมือง ในโลกทวิตเตอร์ ที่มุ่งเจาะและเข้าถึงความคิดของคนระดับเยาวรุ่น

ก่อนนำธุรกิจที่อยู่อาศัย เข้าไปอยู่ในใจฐานลูกค้าคนรุ่นหัวคิดทันสมัย “เศรษฐา” นัดสนทนา-live กับ “สื่อใหม่” ทุกแห่งในบรรณพิภพ

เขาทำการบ้าน เข้าใจไวยากรณ์ และสภาพการณ์ปัจจัยแวดล้อม หลังม่านการเมือง มาอย่างดี

ไม่นับการเจรจาหลังม่าน ผ่านคนการเมืองระดับพระกาฬ หลายคน หลายครั้ง

คำตอบเรื่องการบริหารบ้านเมืองของเขา ล้วนส่งนัยสำคัญ ถึงเส้นทางข้างหน้า

ครั้งหนึ่ง เขาตอบเรื่องทิศทางเปิดประเทศและการจัดการเชิงนโยบายไว้ว่า…

“บางเรื่องยังไม่สุก เป็นเรื่องของเวลา สุก หรือไม่สุก ประสบการณ์จะบอกเราเอง ยิ่งแก่ ยิ่งต้องทำงาน ต้องหาความรู้”

ครั้งหนึ่งเขาถูกจู่โจมถามเรื่อง “ม็อบ” ที่นัดชุมนุม ด้วยข้อเสนอ 3 ข้อ ว่า จุดยืนบางจุดของม็อบยังได้รับการยอมรับไม่มาก “เพราะบางเรื่องขัดกับจารีตคนไทย เป็นความรู้สึกไม่สบายใจของหลายฝ่าย แต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ…รับได้ ว่าต้องแก้เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ส่วนข้อเสนออื่น ต้องเสนอให้เหมาะสมกว่านี้”

เศรษฐาระบุว่า เยาวชนคืออนาคตของชาติ ทุก ๆ ฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งในสังคมไทยต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดปะทะกันถึงกับเสียเลือดเนื้อ ซึ่งจะเป็นชนวนลุกลามให้เกิดการใช้ความรุนแรงโดยไร้เหตุผล และนำไปสู่ความหายนะของประเทศชาติได้

“ความไม่เท่าเทียมคือต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งหลายในโลก มันยากนักหรือกับการที่ไม่ต้องพยายามทำตนให้เหนือคนอื่น อยู่กันด้วยความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันน่าจะนำมาซึ่งความสุขที่ยั่งยืน”

ในช่วงวิกฤตสาธารณสุข คู่ขนานวิกฤตเศรษฐกิจการเมือง “เศรษฐา ทวีสิน” โชว์วิสัยทัศน์ Call out ทุกฝ่าย ก่อนออกมาขายหุ้นกู้ของแสนสิริ ไว้ว่า…

“ผมคิดว่ายังมีความหวัง เป็นความหวังที่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนด้วยนะ ผมคิดว่าปีหน้า (2565) จะดีกว่าปีนี้แน่นอน ปีนี้ฐานการเติบโตของเราต่ำมาก ปีหน้าเผลอ ๆ การเติบโตอาจดับเบิลดิจิต ถ้าฉีดวัคซีนได้ครบภายในไตรมาสแรก”

“แต่เป็นแค่ระยะสั้น ถ้าคุณไม่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจอาจดีแต่ปัญหาสังคม ปัญหาต่าง ๆ ก็จะวนกลับมา”

เขาขยี้-ขยายผล ปมปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่มาจากและสาเหตุจากการเมือง “ความเหลื่อมล้ำมันเริ่มตั้งแต่กฎ กติกา ของการอยู่ร่วมกันคือ รัฐธรรมนูญที่พิกลพิการ วันนี้เห็นอยู่ว่าไปไกลมากขนาดไหน คนที่ได้ฉีดวัคซีนบางคนไม่ควรจะได้รับการฉีดเป็นกลุ่มแรก ๆ แต่ก็ได้”

เขาบอกว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน เป็นเรื่องอะไรที่ไม่ว่าจะทั้งเศรษฐกิจและการเมืองก็ต้องการความเสมอภาค และภาษีเป็นเครื่องมือที่นำมาเรื่องความเสมอภาค

“ผมใช้ทรัพยากรเยอะก็ต้องจ่ายภาษีเยอะ หรือภาษีมรดก เมื่อคุณได้รับมาก็ต้องจ่ายภาษี รัฐบาลจะได้เอาภาษีไปใช้เรื่องสร้างถนน สนับสนุนเรื่องการรักษาพยาบาล ประกันราคาพืชผล เรื่องของการศึกษา เพื่อให้คนที่อยู่ข้างล่างขึ้นมาได้บ้าง”

เรื่องปัญหาสังคม “เศรษฐา ทวีสิน” พูดได้จับใจ เห็นภาพ “ที่ผมว่าน่าเศร้า วันนี้ถ้าผมเกิดไม่สบาย ผมไปเข้า รพ.เอกชน ได้ตรวจรักษาแน่นอน แต่กับคนทั่วไปแค่โรงพยาบาลสนามยังเป็นเรื่องยากเลย ต้องนอนกอดศพแม่ โอ้โห มันเศร้ามาก”

“นี่คือความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค การเข้าถึงวัคซีนแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ยิ่งถ่างออกไป คนที่ไม่ได้คือไม่ได้ คนที่ได้ก็ไปเข็มสามแล้ว”

ทุกครั้งที่ตอบคำถามเรื่องรัฐธรรมนูญ จุดดำในดวงอาทิตย์ สำหรับ “เศรษฐา” คือ “การเลือกตั้ง ทุกคนควรมีสิทธิ 1 เสียงเท่ากัน หรือ 250 ส.ว. ผมไม่ได้ว่า ส.ว. เป็นคนไม่ดี แต่มีที่มาไม่ถูกต้อง ซึ่งสมควรต้องแก้ ถ้าไม่แก้จะเป็นปัญหา”

เขาอ่านปรากฏการณ์ปัญหาคู่ขนาน ที่อาจเป็นต้นธารในการออกแบบนโยบายสาธารณะ ในรัฐบาลถัดไปว่า “เศรษฐกิจและการเมืองต้องไปด้วยกัน ถ้าปีหน้าเกิดเศรษฐกิจดี แต่จะไปไม่สุด จะถูกฉุดจากการเมืองอยู่ดี”

“เศรษฐา ทวีสิน” สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ผ่านการสอนลูกด้วยหลักการว่า “อย่าเริ่มต้นด้วยการเป็นเจ้าของกิจการ ต้องไปเป็นขี้ข้า ไปเป็นลูกน้องเขาก่อน เข้าใจคนถูกใช้ก่อน อย่าเริ่มด้วยการเป็นเจ้าคนนายคน จะได้รู้ซึ้งถึงการถูกกระทำ”

ในฐานะผู้นำองค์กร ผู้นำประเทศ “เศรษฐา” บอกว่าต้องมีคำหนึ่งในใจคือ “เราทำได้” หากผู้นำแก้ตัวว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เขาบอกว่าคำแก้ตัว “ไม่ควรรับฟัง”

เศรษฐา ทวีสิน พูดเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และม็อบไว้อย่างต่อเนื่อง แต่คำตอบ คำหนึ่ง ที่หลายคนอยากรู้ว่า นักการเมืองในดวงใจ หรือนักการเมืองที่เขาชื่นชอบ และคิดว่าดี คือใคร ?

เขาเคยตอบไว้ว่า “ผมชอบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นะ ท่านมีนโยบายที่ก้าวหน้า นำพาพรรคที่มี ส.ส. แค่ 18 คน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี”

เขาอ้างถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ชื่อถูกพระราชทานจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ผู้จบมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เกียรตินิยม ตั้งแต่หนุ่มวัย 24 เป็นผู้จัดการธนาคาร ก่อนก้าวเข้าสู่ถนนการเมือง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในฐานะผู้นำพรรคกิจสังคม ที่มีสโลแกน “เราทำได้” ใช้นโยบาย “เงินผัน ประกันราคา และรักษาฟรี” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 13


เมื่อทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่า บัญชีนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้า หมดเวลาพวกเบบี้บูมเมอร์ ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ในวัย 59 ก็ยิ่งสดใสกาววาว ยิ่งถูกยั่วด้วยคำว่า “ชนะแบบแลนด์สไลด์” จึงเร้าใจนักการเมืองหน้าใหม่