เปิดสภาเทอมสุดท้ายเขย่าประยุทธ์ เดดไลน์ ส.ส.งูเห่าย้ายพรรค

ประยุทธ์

1 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 นับเป็นสมัยประชุมสุดท้าย ปีสุดท้ายในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ที่สถาปนาอำนาจหลังการเลือกตั้ง 2562

และอาจเป็นสมัยประชุมที่ปั่นป่วน-ผันผวนที่สุด

ใช่ว่า “นักเลือกตั้ง” จะหนีสภา โดดไปหาเสียงในพื้นที่ แต่เป็นเพราะสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่แน่นอน เพราะ “นักเลือกตั้ง” ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ไม่อาจเดาใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้ว่า จะอยู่ครบเทอม 24 มีนาคม 2566 หรือชิงยุบสภาไปก่อน

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สภาจะเกิดความผันผวนได้ คือเดตไลน์นับถอยหลังเลือกตั้ง 90 วัน ซึ่งนักเลือกตั้งทุกคนกำหนดในปฏิทินชีวิตไว้ คือ วันที่ 24 ธันวาคม 2565

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์กัดฟันตัดสินใจอยู่ครบเทอม 90 วันก่อนเลือกตั้ง จะมีความหมายกับชีวิตนักเลือกตั้งทุกคนทันที

เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 41 (3) บังคับให้ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน จนถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่จะมีการ “ยุบสภา” เวลาสังกัดพรรคจาก 90 วัน จะลดเหลือ 45 วัน

ดังนั้นในเดือนธันวาคม สภาอาจ “ปั่นป่วน” เป็นช่วงที่นักเลือกตั้งที่คิดจะย้ายพรรค ต้องตัดสินใจทิ้งพรรคเก่า ไปสวมเสื้อคลุมพรรคใหม่ งานนี้จะได้เห็นมิตร (ไม่) แท้ ศัตรู (ไม่) ถาวร

ขณะที่พรรคเพื่อไทย เตรียมเปิดเกมรุกใส่รัฐบาลตั้งแต่สัปดาห์แรก หากไม่สามารถเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อนำเหตุกราดยิงหนองบัวลำภูเข้าถกในสภาได้ พรรคเพื่อไทยก็เตรียมเข็นเป็นญัตติด่วน ที่จะนำเรื่องดังกล่าวไปถกในสภาตั้งแต่สัปดาห์แรก

สัปดาห์ที่สอง ของการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ มีรายงานว่า ร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง ที่มีพรรคภูมิใจไทยเป็นต้นเรื่องจะนำเข้าบรรจุในสภาเป็นวาระ 2 อีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ แท็กทีมขวาง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ให้ถอนกลับไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการใหม่ กระทั่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความขัดแย้งภายในพรรครัฐบาล

ดังนั้น วาระกัญชากัญชง เตรียม “ระเบิด” อีกครั้ง หากพรรคร่วมรัฐบาลยังตกลงกันไม่ลงตัว รวมถึงเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู จะนำมาเป็น “สารตั้งต้น” ในการถกเถียงในประเด็นนี้ด้วย

สัปดาห์ที่สาม ฝ่ายค้านกำลังหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า จะเตรียมเปิด “ซักฟอก” อภิปรายผลงานรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 หรือไม่ พุ่งเป้าไปที่ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง แต่มีวาระใหม่ที่จะนำมาผนวกรวม คือ ปัญหายาเสพติด ยาบ้า 4 เม็ดร้อย

ขณะที่พรรคก้าวไกล ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตัวทำเกมในสภาของพรรค เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลจะดัน 2 กฎหมายให้ผ่านวาระที่ 3 ทั้งร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล

นายธีรัจชัยกล่าวว่า เพราะหากปลดล็อกเรื่องสุราในเมืองไทยที่ผูกขาดจากทุนใหญ่ได้สำเร็จ อาจทำให้เพิ่มขึ้นให้กับประเทศได้ นอกจากนี้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็จะเป็นการประกาศสิทธิให้คนในกลุ่มนี้ได้มีสิทธิเหมือนประเทศอื่น ๆ ในโลก

ทว่า ไฮไลต์สำคัญของพรรคก้าวไกล คือ เตรียมรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการทำประชามติทำรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566

เพื่อปรับ-เปลี่ยนโครงสร้างประเทศ ปลดล็อกจาก 250 ส.ว.

ปูทางไปสู่การชูแคมเปญหาเสียง ประกาศให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ที่วางแผนเล่นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยจะคิกออฟในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ ไฮไลต์ที่นักการเมืองเฝ้ารอ คือ ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. …

ที่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามีถ้อยคำขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง เพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง 7 พฤษภาคม 2566 ตามปฏิทิน กกต.

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประเมินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้ 3 ทาง

1.เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับไม่มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามคำชี้แจงของ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กฎหมายลูกตก ต้องแบ่งออกเป็น 2 ช่วง หากสภาอยู่จนครบวาระ ระยะเวลาที่เหลือประมาณ 6 เดือน หากเร่งนำกฎหมายลูกเข้าสู่รัฐสภาแล้วปรับแก้ให้สอดคล้องกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็น่าจะทันการเลือกตั้ง

3.หากกฎหมายลูกตก และมีการยุบสภาช่วงนี้ แล้วทำกฎหมายลูกไม่ทัน การออกเป็นระเบียบ กกต.ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ กกต.ไม่มีกฎหมายรองรับการออกระเบียบเช่นนี้

อีกทั้งการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดต้อง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น และหากจะไปออกเป็น พ.ร.ก.จากฝ่ายบริหาร เรื่องนี้มีข้อกำกัด เนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีศักดิ์ต่างจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทั่วไป แต่ พ.ร.ก.ใช้แทน พ.ร.บ.กรณีมีเหตุเร่งด่วนเท่านั้น

และการออก พ.ร.บ.ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา เมื่อยุบสภาแล้วจึงไม่สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้

“เห็นมีนักวิชาการบางคนเสนอว่า ถ้าถึงทางตันจริงอาจไปใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 5 ที่ระบุเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ผมมองว่าการหาทางออกให้ประเทศวิธีนั้นก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เพียงแต่ขอให้กติกาที่ออกมาต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่อยู่ในกระแสหลัก แต่สำคัญ คือ กรณีที่คณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร มีมติกรรมการรับเรื่องตรวจสอบ “ศุภชัย โพธิ์สุ” รองประธานสภาคนที่สอง

กรณีครอบครองที่ดินบริเวณป่าดงพะทาย ต.พะทาย อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่าง 15 วัน ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

หากผิดจริง ไม่สะเทือนแค่ “ศุภชัย” แต่อาจสะเทือนไปถึงพรรคภูมิใจไทยช่วงโค้งสุดท้าย-ปลายเทอมรัฐบาลประยุทธ์