แคมเปญเลือกตั้ง เพื่อไทย-ก้าวไกล ชูแก้รัฐธรรมนูญ

พานรัฐธรรมนูญ

จู่ ๆ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็มีมติ “เอกฉันท์” เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบ ญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่รัฐสภามีมติในการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 324 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง แกะญัตติด่วนดังกล่าวมาจาก 2 ญัตติ จากพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่ต้องการให้มีการทำประชามติ ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาเป็นผู้ยกร่าง

แต่เรื่องดังกล่าวยังต้องผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งคาดหมายว่าจะมีการลงมติกันในเดือนมกราคม 2566 ดังนั้น ด่านหินประชามติ มิได้อยู่ที่วุฒิสภา แม้จะทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2560 มาโดยตลอด

เพราะมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มอบสิทธิขาดการจัดประชามติไว้ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ชะตาว่าจะทำประชามติหรือไม่

เนื้อหาในมาตรา 11 ระบุว่า “เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ทำประชามติ) ในการที่จะให้มีการออกเสียง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนดตามที่ได้หารือร่วมกับ กกต.”

“ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เว้นแต่กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นในทางงบประมาณหรือเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันแตกต่างจากที่กำหนดไว้ได้”

“ในประกาศดังกล่าวต้องระบุ เรื่องที่จะขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้ผู้มีสิทธิออกเสียง เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้โดยสะดวก”

นักการเมืองในสภา รู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกว่าผ่านยาก ดังนั้น เจ้าของญัตติทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มิได้มีแพลนเดินหน้าขับเคลื่อนในสภา

หากแต่หวังผล “นอกสภา” ต่อยอดไปถึงการเลือกตั้ง

1 ใน 4 แผนบันได 4 ขึ้นแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยคือ “เพื่อการเมืองใหม่” รัฐธรรมนูญต้องมีที่มาจากประชาชน วุฒิสภาต้องไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล เปิดนโยบาย “การเมืองก้าวหน้า” ชูประเด็น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเป็นไปโดยตัวแทนของประชาชน โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงจากประชาชน ซึ่งหากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล จะจัดการประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันทีภายใน 100 วันแรก

นักเลือกตั้งไม่สนใจ ส.ว.เตะถ่วงยื้อไปลงมติเดือนมกราคม

ไม่สนใจท่าทีรัฐบาลตอนนี้ แต่หวังจุดกระแสแก้รัฐธรรมนูญจากนอกสภา ทางหนึ่งใช้กระแสสังคมบีบให้รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญ


แต่อีกทางที่สำคัญกว่า ต่อยอดในการโหมกระพือช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ระหว่างเอา-ไม่เอา ประยุทธ์ และ 3 ป. บวกทายาท