ครม.ไฟเขียว ประกันรายได้ข้าว ไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีเดือน พ.ย.

ทำนา นาข้าว
Photo by Boudewijn Huysmans on Unsplash

ครม.ไฟเขียว ประกันรายได้ข้าวปี 4-ไร่ละ 1,000 บาท โอนเงินเข้าบัญชีปลายเดือน พ.ย. ข้าวโพด ยาง มัน ปาล์ม จ่อคิวต่อไป ด้าน รมว.คลัง เผย ครม.ไฟเขียว ประกันรายได้ข้าว 8.1 หมื่นล้านบาท ดันมาตรา 28 เกือบชนเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 32% พร้อมขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปอีก 2 เดือน

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 ใช้วงเงินประมาณ 81,000 ล้านบาท มีเงิน 3 ก้อน

ก้อนแรก เงินส่วนต่างประมาณ 18,700 ล้านบาท ก้อนที่สอง มาตรการคู่ขนานยามที่ข้าวออกมาเยอะจะให้สต๊อกข้าวเก็บไว้ทั้งชาวนาและโรงสีมีเงินช่วยเหลือ จะทำให้ราคาข้าวไม่ตกลงไปวงเงินประมาณ 7,500 ล้านบาท และอีกก้อนคือไร่ละ 1,000 ประมาณ 55,000 ล้านบาท รวมแล้ว 81,200 กว่าล้านบาท ในภาพรวม

นายจุรินทร์กล่าวว่า คาดว่าจะจ่ายได้หลังจากที่บอร์ด ธ.ก.ส. มีมติเพราะต้องโอนเงินเข้าตรงบัญชีชาวนา คาดว่าจะเป็นประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน จะจ่ายเงินส่วนต่างได้รวมทั้งไร่ละ 1,000 ด้วย มี 33 งวด เกษตรกรที่คอยอยู่ให้สบายใจได้ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแล้วทุกข้อ ส่วนประกันรายได้ปาล์ม ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตนได้ลงนามเสนอเข้า ครม.แล้ว รอขั้นตอนกระบวนการที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาเท่านั้น

“แต่สำหรับทั้งปาล์ม ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ตอนนี้เกือบจะต้องไม่จ่ายเงินส่วนต่างแล้ว เพราะราคาดีกว่ารายได้ที่ประกันเยอะ เช่น ปาล์มประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท/กก. ตอนนี้ราคาประมาณ 7 บาท/กก. โดยเฉลี่ย ส่วนมันสำปะหลังประกันที่ 2.50 บาท/กก. ตอนนี้ 3 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท ตอนนี้ 11-12 บาท/กก. ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ดีมาเป็นปีแล้ว ถ้าเสนอเข้า ครม.พิจารณาแค่เห็นชอบในหลักการ ส่วนเม็ดเงินอาจจะไว้ใช้ยามที่เกิดอุบัติเหตุราคาตกจริง อย่างน้อยก็มีประกันรายได้ช่วย” นายจุรินทร์กล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/2566 จำนวน 81,265.91 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็น วงเงินงบประมาณตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังแห่งรัฐ ที่ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่าย จำนวน 66,040.91 ล้านบาท และตั้งงบประมาณของกรมการข้าว เพื่อใช้ในการลดต้นทุนการผลิต จำนวน 15,525 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลังจากอนุมัติวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2565/2566 แล้ว จะทำให้สัดส่วนหนี้ในมาตรา 28 อยู่ที่เกือบ 32% หรือเกือบชนเพดานหนี้พอดี

นอกจากนี้ ครม.ยังได้ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จำนวนลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565-20 มกราคม 2566 โดยจะทำให้คลังสูญเสียรายได้การจัดเก็บงบประมาณอีกไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท

“แม้ว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลงแล้วก็จริง แต่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยยังไม่ลง และยังสูงกว่าราคาที่อ้างอิงอยู่ รวมทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังขาดสภาพคล่อง ถึงแม้ว่าขณะนี้จะเริ่มกู้ได้ก็ตาม ดังนั้นกระทรวงการคลังยังคงต้องอุดหนุนต่อไป” นายอาคมกล่าว

ส่วนหลังจากนี้จะมีการขยายมาตรการต่อไปอีกหรือไม่ นายอาคมกล่าวว่า ก็ต้องรอดูรอบนี้ และติดตามสถานการณ์ต่อไป ทั้งนี้ การขยายเวลาลดภาษีน้ำมันเป็นการบรรเทาเรื่องราคาสินค้าและต้นทุนของประชาชน