ประยุทธ์ ปาฐกถาเปิดเอเปค ชูเศรษฐกิจ BCG ปั้นไทยศูนย์กลาง EV

นายกเอเปค

ประยุทธ์ ปาฐกถา APEC CEO Summit ปั้นไทยเป็นฐานการผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลักแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไปให้ไกลมากกว่าการสร้างผลกำไรให้มากที่สุด MSMEs เข้าถึงตลาด-แหล่งเงินทุน เพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล ร้อยละ 30 ของ GDP ภายในปี 2573 จัดทำนโยบายตามเพศสภาวะ-รับฟังเสียงเยาวชน

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรม ดิ แอทธินี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุม APEC CEO Summit โดยมีประธานเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท ปี 2565 ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน คณะผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) และนักธุรกิจเข้าร่วมรับฟัง ดังนี้

ในฐานะที่เอเปค ซีอีโอ ซัมมิท เป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค การกลับมาอีกครั้งของการประชุมในรูปแบบพบหน้ากัน ถือเป็นการส่งสัญญาณบวกให้แก่ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการที่ทุกท่านมาเข้าร่วมประชุมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคของเรากลับมาเดินหน้าทำธุรกิจอย่างเต็มที่อีกครั้งหลังจากที่ชะงักงันมาหลายปี การกลับมาครั้งนี้เป็นโอกาสให้เราฟื้นฟูความเชื่อมโยง รื้อฟื้นความสัมพันธ์ และสานต่อความร่วมมือระหว่างกันอย่างน่ายินดียิ่ง

ปั้นไทยฮับอีวีใหญ่สุดของโลก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขณะที่โลกกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้งในยุคหลังโควิด ไทยกำลังขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปคในประเด็นที่ท้าทายและมีวิสัยทัศน์ ได้แก่ ประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ความจำเป็นในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการเดินทาง วาระความยั่งยืนของโลก โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจที่มีพลวัตสูงในปัจจุบัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้สะท้อนอยู่ในหัวข้อหลักของเอเปคปีนี้ คือ OPEN.CONNECT.BALANCE

“ภายใต้หัวข้อหลักนี้ ประเด็นสำคัญของเอเปคถูกนำทางโดยแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจีที่เป็นวาระแห่งชาติ และประเทศไทยได้นำมาเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูจากผลกระทบของโควิด-19 ตลอดจนเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาและการเติบโตในระยะยาวที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม เศรษฐกิจ บีซีจีผสานแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเข้าด้วยกัน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับมุมมองและการสนับสนุน จากภาคธุรกิจในการดำเนินความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยมีสามประเด็นที่ผมเชื่อว่าภาครัฐและภาคธุรกิจสามารถร่วมมือกันได้อย่างเข้มแข็งดังนี้ ประเด็นแรก การส่งเสริมความยั่งยืน ในการผลักดันการเติบโตที่สมดุลและครอบคลุม เราได้กำหนดให้ความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญสูงสุดของเอเปคในปีนี้ และเรามุ่งมั่นที่จะนำเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม อย่างครอบคลุม พร้อมทั้งหาหนทางที่เหมาะสมให้ธุรกิจยังสามารถมีผลกำไรได้

“สำหรับเส้นทางไปสู่ความยั่งยืนของไทย เรากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2025 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV และการพัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ไทยมุ่งจะเป็นฐานการผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้ โดยเราพร้อมร่วมมือทางด้านการเงินและด้านวิชาการ ตลอดจนการแบ่งปัน ความรู้ การเผยแพร่เทคโนโลยี และการพัฒนาขีดความสามารถกับทุกท่าน อย่างรอบด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่นี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

BCG ไปไกลกว่าสร้างผลกำไร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเด็นที่สอง การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม เราต้องมั่นใจว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังใน เส้นทางการพัฒนาของเรา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่ผลักดันให้เรามองไกลไปกว่าเพียงแค่การสร้างผลกำไรให้มากที่สุด และหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน การเจริญเติบโตนี้ต้องเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในภูมิภาคของเรา จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำธุรกิจ ผ่านการเสริมทักษะที่จำเป็น ขยายโอกาสในการจ้างงาน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เอเปคผลักดันให้มีการปฏิรูปทางโครงสร้างและมาตรการที่จำเป็น เพื่อสร้างแรงจูงใจ ทางการเงินสำหรับการลงทุนที่มีคุณภาพ และขจัดอุปสรรคของการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกฎระเบียบภายใน การส่งเสริมบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน การช่วยเหลือ MSMEs และกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมี ความรับผิดชอบ และเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีดิจิทัล และปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ

“เราต้องดูแล MSMEs ของพวกเรา ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 98 ของธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาค และคิดเป็นร้อยละ 40-60 ของ GDP ในเขตเศรษฐกิจเอเปคส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้เรามุ่งที่จะร่วมมือกับพวกท่านเพื่อทำให้ MSMEs ของพวกเรามีขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ สตรีและเยาวชนก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ควบคู่กับการคำนึงถึงเพศสภาวะในการจัดทำนโยบายต่าง ๆ เราจะผลักดันการเสริมพลังสตรีและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอย่างแท้จริง สำหรับเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของเรา เราต้องรับฟังเสียงของพวกเขา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเด็นที่สาม การมุ่งไปสู่ดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นมิติใหม่ของการสร้างอาชีพ และการเจริญเติบโตในภูมิภาคของเรา เอเปคจึงเน้นให้เรื่องการมุ่งไปสู่ดิจิทัลเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในปีนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพจะสร้างโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค อนาคตของภูมิภาคขึ้นอยู่กับเราที่จะต้องร่วมมือกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพ ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นตัวเร่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญขณะที่เราฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคระบาด และจะมีส่วนต่อการพัฒนาของภูมิภาคในระยะยาวต่อไป

เศรษฐกิจดิจิทัล 30% ต่อจีดีพีในปี’73

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนของไทย เรากำลังปรับตัวเพื่อให้เท่าทันต่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วในภาคดิจิทัล และดำเนินการปฏิรูปทางโครงสร้างที่จำเป็น เพื่อให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 14 ของ GDP ของไทย ไทยมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดลำดับต้น ๆ ของโลก โดยมีอินเทอร์เน็ตบ้านเร็วติดอันดับหนึ่งในห้าของโลก ตามการจัดอันดับความเร็วอินเทอร์เน็ตโลก ด้วยปัจจัยนี้ไทยมองว่าภาคธุรกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของ GDP ของไทยภายในปี 2573

“ประเทศไทยมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับท่าน และยินดีต้อนรับการลงทุน และแรงงานที่มีทักษะและแรงงานขั้นสูงเพิ่มเติมในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล เรากำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ผ่านมาตรการจูงใจทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยเน้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และธุรกิจที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มี ความสามารถเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เปิดตัวโครงการตรวจลงตราประเภท ผู้พำนักระยะยาว 10 ปี พร้อมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ไทยได้จัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรืออีอีซีดี เป็นเขตนวัตกรรมดิจิทัลแห่งใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC และเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของภูมิภาค ที่นักลงทุนและนักบุกเบิกด้านดิจิทัลสามารถเข้ามาเป็นหุ้นส่วนและสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศที่มีนวัตกรรมและโครงการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง

“สิ่งที่ผมกล่าวไปข้างต้นคือ ทิศทางที่ไทยเชื่อว่าเป็นหนทางที่ภูมิภาคและโลกต้องก้าวไปให้ถึง หากเราจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากผลกระทบของโควิด-19 และเติบโตในระยะยาวอย่างสมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ดังนั้น เพื่อบูรณาการปัจจัยขับเคลื่อนเป้าหมายที่กล่าวมาทั้งหมด ไทยจึงจะเสนอให้ผู้นำเอเปครับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในปลายสัปดาห์นี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า


“ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาคเอกชน การเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง ระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ภูมิภาคของเราก้าวไปข้างหน้าและเติบโตไปสู่ อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล ด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว