ทำไม? เขตเศรษฐกิจ APEC จึงปล่อย CO2 มากที่สุด

APEC

ขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยประเด็นสำคัญของการประชุมว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นส่งเสริมความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

Bnomics เพจความรู้ทางการเงินของธนาคารกรุงเทพ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ทำไม? ประเทศกลุ่ม APEC จึงปล่อย CO2 มากที่สุด” โดยธนัชญา ปิยวรไพบูลย์ Economics Data Analytics ของธนาคารกรุงเทพ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

โลกกำลังเกิดสภาวะ Climate Change หรือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากเมื่อต้นปี 2022 มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกสูงขึ้นถึง 1.2% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019)

จากข้อมูลของ Our World In Data พบว่าในปี 2020 ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อจำนวนประชากรทั่วโลกอยู่ที่ 4.61 ตันต่อคนต่อปี ซึ่งทวีปเอเชีย (ซาอุดีอาระเบีย มองโกเลีย) ออสเตรเลีย และอเมริกา มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดตามลำดับ

ปัจจัยจากจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจ

ด้วยประชากรโลกที่แตกต่างกัน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยออกมา ตัวอย่างเช่น เอเชียเป็นทวีปขนาดใหญ่และมีประชากรมากที่สุด ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซโดยรวมสูงเป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในทวีปเอเชียประกอบด้วยสมาชิกประเทศที่เรียกว่า กลุ่ม APEC (Asia-Pacific Economics Cooperation) จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มีความร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตั้งแต่ปี 1989 ที่มีการก่อตั้งและเปิดประชุมครั้งแรก พบว่าค่าเฉลี่ยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกจนถึงปัจจุบัน

โดยในปี 2020 ค่าเฉลี่ยต่อหัวประชากรของการปล่อยก๊าซจากประเทศในโลก ยกเว้นประเทศในกลุ่ม APEC อยู่ที่ 4.28 ต้นต่อคนต่อปี แต่ในประเทศกลุ่ม APEC อยู่ที่ 7.74 ตันต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอย่างมาก ลองมาดูกันว่าจำนวนประชากรเป็นหนึ่งในสาเหตุด้วยหรือไม่

ประชากรที่อยู่ในกลุ่ม APEC มีสัดส่วนมากถึง 38%

ในปี 2020 พบว่าจากประชากรจำนวน 2.9 ล้านคน มีสัดส่วนประชากรที่อยู่ในประเทศเขตเศรษฐกิจ APEC ถึง 38% โดยจีนยังคงมีสัดส่วนประชากรสูงที่สุดถึง 18% ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซียอยู่ที่ 4%

จะเห็นว่าประเทศในเขตเศรษฐกิจ APEC มี GDP อยู่ที่ 52 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 62% (ข้อมูลจาก asia-pacific economic cooperation) โดยเกาหลีใต้ขึ้นมาอยู่อันดับ 5 แทนที่รัสเซีย นอกจากนี้ หากรวมเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐจะมีสัดส่วนเป็น 68% ของ GDP ในภูมิภาค และคิดเป็น 42% ของ GDP ทั่วโลก

จำนวนประชากรและ GDP ในกลุ่มประเทศ APEC นั้นอยู่ในระดับที่สูง เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลุ่ม APEC ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

1) บรูไนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซมากที่สุดในกลุ่ม APEC อยู่ที่ 23.22 ตันต่อคน ด้วยทรัพยากรของประเทศที่เป็นแหล่งน้ำมัน จึงใช้พลังงานนี้เป็นหลัก นอกจากนี้ บรูไนมีอัตราการเติบโตของการปล่อยก๊าซสูงเป็นอันดับ 1 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2015-2020)

2) สหรัฐอเมริกา มีปริมาณการปล่อยก๊าซต่อคนเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 14.24 ตันต่อคนด้วยสภาพเศรษฐกิจขนาดใหญ่และจำนวนประชากรในสัดส่วนที่มาก

3) แคนาดา สัดส่วนประชากรอยู่ในขนาดเล็ก แต่เมื่อวัดภาพรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนพบว่า การปล่อยมลพิษอยู่ในระดับสูง อยู่ที่ 14.20 ตันต่อคน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงจำเป็นต้องมีการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และใช้พลังงานที่สูง

4) เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซอยู่ในระดับสูงเช่นกัน คิดเป็น 11.66 ตันต่อคน มาจากการที่ประเทศต้องพึ่งพาถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้า และมีเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานสูงกว่าประเทศอื่น

5) จีน ปล่อยก๊าซเป็นอันดับ 5 อยู่ที่ 7.41 ตันต่อคน จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และจำนวนประชากรที่หนาแน่นเพิ่มขึ้น

6) ไทย ปล่อยก๊าซแต่อยู่ในระดับที่น้อย อีกทั้ง 5 ปีที่ผ่านมา (2015-2020) มีการปล่อยก๊าซในปริมาณที่ลดลง และยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 14 จาก 21 เขตเศรษฐกิจ จากการที่ประเทศมีการรณรงค์เรื่องสภาวะโลกร้อนจากการหันมาใช้ถุงผ้า รวมถึงนำโซลาร์เซลล์มาใช้ตามบ้านเรือนมากขึ้น

โดยสรุป ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ในที่นี้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยด้านขนาดประเทศจากจำนวนประชากรและสภาพเศรษฐกิจ โดยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มักมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศที่มีสัดส่วนรายได้น้อยก็จะมีโอกาสปล่อยก๊าซน้อยเช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมการปล่อยก๊าซในบางประเทศจะอยู่ในระดับสูง แต่หากเฉลี่ยต่อคนแล้วอาจจะค่อนข้างต่ำ ด้วยขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ที่ค่อนข้างต่ำก็เป็นได้