Bangkok Goals ไฮไลต์ “เอเปค 2022”

เอเปค

เริ่มแล้ว สัปดาห์ประชุมผู้นำเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ Open-Connect-Balance

“ประชาชาติธุรกิจ” ไล่เรียงไฮไลต์สำคัญในรอบนี้ จะเริ่มจากการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting : AMM) ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

โดยภายในงานมีกำหนดจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Cooperation Arrangement : SECA) ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย จากเดิมที่มีความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียระหว่างกัน

พร้อมกันนี้ในที่ประชุมมีกำหนดนำเสนอแผนงานการขับเคลื่อนสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบออกเป็นแถลงการณ์ จากที่ได้เตรียมแผนงาน FTAAP ระยะ 4 ปี

ระหว่างปี 2566-2569 มุ่งสู่การจัดทำ FTAAP ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืนไปก่อนหน้านี้

ทั้งยังมีเวทีการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และ APEC CEO Summit 2022 จัดคู่ขนานกันไป

ส่วนไฮไลต์สำคัญที่สุดของ APEC 2022 จะอยู่ที่ “การประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานร่วมกับตัวแทน 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่แม้ว่าจะไร้เงา “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ และ “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย แต่ยังมี “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีนเข้าร่วม

ทั้งยังมีพันธมิตรนอกกลุ่มเอเปคอย่างนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน “เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด” มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซาอุดีอาระเบีย และ “นายเอมมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ตอบรับเข้าร่วมในฐานะ “แขกพิเศษ” เพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับคู่ค้านอกภูมิภาค และแนวทางการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ

ประเด็นหารือที่สำคัญในเอเปครอบนี้จะอยู่ที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังยุคโควิด-19 ซึ่งไทยในฐานะเจ้าภาพจะผลักดันให้ผู้นำร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ (Bangkok Goals on BCG Economy) ใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ 2.การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และ 4.การจัดการขยะ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

และกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศจะเข้าร่วมการประชุมเพื่อนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ด้วย