สภาธุรกิจเอเปค เปิดแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสนอที่ประชุมผู้นำเอเปค

สภาธุรกิจเอเปค

สภาธุรกิจเอเปค เผยข้อสรุป 69 ข้อ แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนเวทีเอเปค 2022 ภายใต้แนวทาง “Embrace, Engage, Enable” ที่ต้องเผชิญปัญหาพลังงาน ความขัดแย้ง เศรษฐกิจ พร้อมที่จะเสนอเข้าที่ประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022 เปิดเผยว่า ภาคเอกชนภายใต้การนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ผู้รับหน้าที่ประธานและเจ้าภาพการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจ 2022 และ APEC CEO Summit 2022 ภายใต้แนวทาง “Embrace, Engage, Enable” พร้อมส่งมอบข้อเสนอแนะและแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแก่ภาคนโยบายผ่านเวทีการประชุมเอเปค 2022

โดยพร้อมกันนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก PwC ในฐานะ “พันธมิตรด้านองค์ความรู้” ของงาน APEC CEO Summit 2022 ในการส่งมอบรายงานทางธุรกิจ (Thought Leadership) แก่ภาคธุรกิจ ทิศทางสำคัญต่อการขับเคลื่อนและก้าวข้ามความท้าทายของการดำเนินธุรกิจภาคเอกชนในอนาคตอันใกล้

“คำแนะนำของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคในปีนี้ ได้รวบรวมขึ้นจากความขัดแย้งและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก เราพบความท้าทายหลายประการ ไม่ว่า ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการระบาดใหญ่ การหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ดี หลังสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ผ่านการประชุมใหญ่มาตลอดปีรวม 3 ครั้ง ไม่ว่าที่สิงคโปร์, แคนาดา และเวียดนาม จนมาถึงครั้งสุดท้ายที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ระหว่าง 13-16 พฤศจิกายนนี้ ณ วันนี้เราสามารถกล่าวได้ว่า เราได้ข้อสรุปของข้อเสนอแนะรวมทั้งสิ้น 69 ข้อ ภายใต้เป้าหมายใหญ่ 2 แนวทาง นั่นคือ “การส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน” และ “การกลับมาสร้างแรงกระตุ้นสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และมีความยืดหยุ่น”

โดยในข้อหลัง ประกอบด้วยการก้าวสู่ความยั่งยืน, การบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยผ่านการทำให้เป็นดิจิทัล โดยคณะทำงานจะทำการส่งมอบรายงานฉบับสมบูรณ์แก่ผู้นำเอเปคในลำดับต่อไป

นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ยังรับหน้าที่การเป็นประธานและเจ้าภาพการจัดประชุม APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน ภายใต้แนวทาง “Embrace, Engage, Enable” อีกเช่นกัน

อันนับเป็นการประชุมที่รวมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ผู้นำทางความคิด และซีอีโอชั้นนำจำนวนมาก ในการแลกเปลี่ยนมุมมองทางการค้า การลงทุน และการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อให้ชุมชนเอเชีย-แปซิฟิกได้ร่วมโอบรับโอกาส สอดประสานความร่วมมือ และการผลักดันสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ระหว่างภาคเอกชนด้วยกัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ 2022

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ APEC Business Advisory Council Executive Director 2022 และ APEC Business Advisory Council Thailand Alternate Member กล่าวถึงความสำคัญของการสนับสนุนข้อมูลจากเอกชนต่อภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญยิ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า และลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิกไว้ว่า

แม้บทบาทหลักของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จะเป็นการส่งมอบข้อเสนอแนะต่อภาคนโยบาย แต่เพื่อให้กลไกของภาคเอกชนขับเคลื่อนอย่างรอบด้านและมีพลวัต เราจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการทุกระดับในอีกช่องทาง ผ่านรายงานที่จะเป็นการให้คำแนะนำต่อภาคธุรกิจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่า แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การปรับตัวหลังโควิดจากหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่า การปรับตัวสู่ดิจิทัลของธุรกิจและผู้บริโภคที่รวดเร็วขึ้น รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่ทั้งโลก รวมทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังให้ความสำคัญอยู่ในเวลานี้ เชื่อว่าช่วงเวลาเช่นนี้ ภาคธุรกิจกำลังต้องการข้อมูลที่น่าเชื่อถือ นำไปเป็นแนวทางในการปรับใช้เป็นการเร่งด่วน

นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ Executive Director, APEC CEO Summit 2022 และ APEC Business Advisory Council Thailand Alternate Member กล่าวว่า ด้วยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ยังรับหน้าที่ประธานและการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC CEO Summit 2022

เราจึงเห็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีข้อมูลเชิงลึกประกอบการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ นอกเหนือจากบทสนทนาที่เข้มข้นที่จะเกิดขึ้นระหว่างการประชุม เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

โดยผู้จัดงานมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ PwC ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านองค์ความรู้ (Knowledge Partner) ของ APEC CEO Summit 2022 ได้ร่วมสนับสนุนในการส่งมอบรายงาน (Thought Leadership) ดังกล่าว เราเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสำหรับการประชุมอันทรงคุณค่า และการเป็นแนวทางของภาคธุรกิจในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

นายศรีดารัน ไนร์ (Mr.Sridharan Nair) รองประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวถึงการสนับสนุนด้านรายงาน (Thought Leadership) ภายใต้ชื่อ “การรับมือต่อโลกแห่งความเป็นจริงใหม่” (Asia Pacific’s Time : Responding to the new reality) ฉบับนี้ไว้ว่า

ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และนำพาภูมิภาคนี้ไปสู่อนาคต ในฐานะขุมพลังทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน

สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ เปลี่ยนความไม่แน่นอนของความเป็นจริงในวันนี้ให้เป็นโอกาส ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องมีความกล้าที่จะปรับตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความไว้วางใจ และร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

ซึ่งเราพบว่า มีปัจจัยห้าประการที่มีความสอดคล้องและส่งเสริมกัน ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทาน การเติบโตขององค์กรระดับภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัล กำลังแรงงาน และภูมิทัศน์ของ ESG ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้จะช่วยขับเคลื่อนการสร้างความแตกต่างและความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจในภูมิภาคมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป”