เศรษฐกิจเริ่มบวก

เศรษฐกิจไทย
บทบรรณาธิการ

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยด้านต่าง ๆ ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาถือว่าพอทำให้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะออกมาดูดีพอสมควร จากการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 44.6 เป็น 46.1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สูงสุดในรอบ 10 เดือน หรือดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม โอกาสหางานทำ และรายได้ในอนาคต ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชน) เดือน ต.ค. ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 49.9 เข้าใกล้กับ 50 ซึ่งเป็นค่าปกติ หากจำแนกตามภูมิภาคความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับขึ้นเกินระดับ 50 ทุกภาค ยกเว้น กทม.และปริมณฑลยังอยู่ในระดับ 48.9 ชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภาคท่องเที่ยว การค้าชายแดนเริ่มฟื้น เป็นต้น

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (hotel business operator sentiment index : HSI) ประจำเดือน ต.ค. พบว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 49% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามวันหยุดยาวและปิดเทอม รวมถึงใช้สิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเดือนสุดท้าย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยเข้ามา ขณะที่คาดการณ์อัตราการเข้าพักในเดือน พ.ย. 2565 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 52%

ยังไม่นับสถานการณ์ธุรกิจต่าง ๆ ที่ตัวเลขยอดขาย-กำไรออกมาดีถึงดีมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะฐานเดิมค่อนข้างต่ำ บวกกับสถานการณ์โควิดที่เบาบางลง อีกทั้งคนไทยเริ่มชินแม้จะยังใส่หน้ากาก ล้างมือไม่ต่างจากเดิม แต่ความวิตกกังวลน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จนแทบจะให้อารมณ์ใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ ที่แม้จะรุนแรงแต่ไม่ได้น่ากลัวมากนัก โดยเฉพาะคนที่รับวัคซีคมาแล้วหลายเข็ม

ส่วนในระดับโลกตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 7.7% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แม้จะเพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่าประมาณการที่คาดว่าจะดันขึ้นไปถึง 0.6% ส่งผลให้ตัวเลขทั้งตลาดหุ้น ค่าเงินและอื่น ๆ ออกมาแนวบวกทั้งหมดไม่ว่าตลาดต่างประเทศ หรือไทย จนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ ด้วยตัวเลขหลากหลายที่ออกมาในเชิงดีเช่นนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโตปกติเหมือนก่อนเกิดโควิด

กระนั้นก็ตามยังมีอีกหลายปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้อาจส่งผลในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหารัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ การถดถอยทางเศรษฐกิจโลก การระมัดระวังเรื่องใช้จ่ายจึงยังมีความสำคัญสำหรับคนไทยทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางลงมา ที่ส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นไข้จากโควิด ราคาพลังงาน และสินค้าแพง