CPALL โกยกำไร 9 เดือน 1 หมื่นล้าน โต 61% ธุรกิจร้านสะดวกซื้อฟื้น

CPALL กำไรกระฉูด 9 เดือนแรกโกย 1 หมื่นล้านบาท พุ่ง 61.3% ชี้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นทุกหน่วยธุรกิจ-ควบรวม “โลตัสส์” หนุน เลิกมาตรการคุมโควิดดัน “ร้านสะดวกซื้อ” ฟื้นไตรมาส 3 กวาดรายได้ 9 หมื่นล้าน ทุ่มงบฯ 1.2 หมื่นล้านบาท ปูพรมเปิดสาขาใหม่ 700 สาขาในปีนี้

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ จำนวน 9,560 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 115.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรสุทธิเท่ากับ 3,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

โดยมีสาเหตุหลักจากการฟื้นตัวของผลประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ได้รับปัจจัยบวกต่อเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และความได้เปรียบจากฐานที่ต่ำในปีก่อน รวมถึงธุรกิจแม็คโครที่มีผลประกอบการที่ดีเช่นกัน ทั้งนี้ กำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวมในไตรมาส 3 ปี 2565 มีจำนวน 0.39 บาท

ขณะที่ 9 เดือนแรกปี 2565 บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวมจำนวน 627,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรสุทธิมีจำนวน 10,134 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวม มีจำนวน 1.05 บาท จากผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นทุกหน่วยธุรกิจตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการรวมธุรกิจโลตัสส์

ขยายสาขา “ร้านสะดวกซื้อ” เพิ่มต่อเนื่อง

สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดร้านสาขาใหม่รวมทั้งสิ้น 227 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทมีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 13,660 สาขา แบ่งเป็น

(1) ร้านสาขาบริษัท 6,738 สาขา (คิดเป็น 49%) ร้านเปิดใหม่สุทธิ 208 สาขา ในไตรมาสนี้

(2) ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 6,922 สาขา (คิดเป็น 51%) ร้านเปิดใหม่สุทธิ 19 สาขา ในไตรมาสนี้

ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นร้านที่ตั้งเป็นเอกเทศ ซึ่งคิดเป็น 86% ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ปี 2565 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 90,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสนี้มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน เท่ากับ 76,612 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมเพิ่มขึ้นเท่ากับ 22.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 82 บาท

ในขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 928 คน ทั้งนี้ ลูกค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากการยกเลิกมาตรการต่าง ๆที่ควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 รวมถึงมีมาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ประกอบกับรายได้จากการขายสินค้าส่วนเพิ่มผ่านกลยุทธ์ O2O อาทิ 7-Eleven Delivery, AlL Online และ 24Shopping ซึ่งยังคงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภาวะปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยมีสัดส่วนสูงกว่า 10% ของรายได้จากการขายสินค้ารวม

ในไตรมาส 3 ปี 2565 สัดส่วนของรายได้จากการขาย 74.1% มาจากสินค้ากลุ่มอาหาร และ 25.9% มาจากสินค้าอุปโภค ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จากการขายสินค้ากลุ่มอาหารเพิ่มขึ้น จากการเติบโตของยอดขายในทุกกลุ่มสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าไตรมาสนี้

กำไรขั้นต้นร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้น 33.6%

ไตรมาส 3 ปี 2565 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีกำไรขั้นต้นจำนวน 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นเท่ากับ 27.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2564 ที่อัตราส่วน 27.4% สาเหตุหลักมาจากการปรับกลยุทธ์ด้านสินค้าโดยยังคงเน้นเรื่องความต้องการและพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าเป็นหลัก รวมถึงให้ความสำคัญต่อการบริหารอัตรากำไรขั้นต้นของสินค้า เพื่อให้สามารถดึงดูดลูกค้า และสามารถสร้างยอดขายและกำไรส่วนเพิ่มต่อธุรกิจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

นอกจากนี้ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังมีรายได้อื่นอีกจำนวน 5,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มีการบันทึกเงินปันผลรับจากบริษัทย่อยจำนวน 1,112 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 947 ล้านบาท เนื่องจากเงินปันผลจาก MAKRO ลดลง

ในไตรมาส 3 ปี 2565 ต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารมีจำนวน 26,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเติบโตของรายได้รวม โดยบริษัทยังคงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และให้มีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในไตรมาส 3 ปี 2565 กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีกำไรจากกิจกรรมดำเนินงานเท่ากับ 5,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 3,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ปูพรมเปิด 700 สาขาใหม่ในปีนี้

ทั้งนี้ แนวโน้มปี 2565 บริษัทวางแผนที่จะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขาต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แหล่งท่องเที่ยว และทำเลที่มีศักยภาพอื่น ๆ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และอำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยบริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่อีกประมาณ 700 สาขาในปี 2565 โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 11,500-12,000 ล้านบาท