พรหมินทร์ เปิด 10 แคมเปญเลือกตั้ง ไขรหัสขั้วเพื่อไทยรัฐบาลใหม่

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ 
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ การัณยโสภณ

นโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท ปรับเงินเดือนปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาท ภายใน 2570 ของพรรคเพื่อไทย ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์หน้าม่านของ “แพทองธาร ชินวัตร” ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย 

สร้างแรงสั่นสะเทือนระดับ “แผ่นดินไหว” ทั้งในสังคมการเมือง สังคมภาคธุรกิจ และภาคแรงงาน นโยบายนี้มีทั้งเสียงต้าน เสียงชม ทั้งมุมลบและบวก

24 ชั่วโมงหลังเปิดตัวนโยบาย 10 แคมเปญเลือกตั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” ประธานนโยบายพรรคเพื่อไทย หัวขบวนและมันสมองด้านนโยบายพรรคเพื่อไทย ไข “บิ๊กไอเดีย” คิดใหญ่ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน

ทำไมต้องคิดใหญ่ ทำไมต้องทำเป็น แล้วทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวข้องแค่ไหน อะไรคือจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทย

สุดท้ายพันธมิตรพรรคเพื่อไทย ในการจัดตั้งรัฐบาลคือใคร ถ้าชนะเลือกตั้ง

นโยบายออกมาตอกย้ำสไตล์ชัดว่าทักษิณ คิด เพื่อไทยทำ ?

เป็นความเข้าใจที่ผิดว่า ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ขณะนี้พรรคเพื่อไทยระดมความคิด สิ่งที่สำคัญคือเราใกล้ชิด มีผู้ที่ใกล้ชิดประชาชน เราระดมความคิดร่วมกัน หารือร่วมกัน จากคนกว้างขวาง แล้วกลั่นเป็นนโยบาย  เราเชื่อมั่น คงจะส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพื่อมั่นใจว่าเราจะได้บริหารได้อย่างถูกต้อง

คุณทักษิณเกี่ยวข้องอย่างไร กับแคมเปญปัจจุบัน

ท่านเองเป็นคนที่มีประสบการณ์ แน่นอนที่สุดเราใช้ประสบการณ์ที่เราเคยทำมาร่วมกันในสถานะนายกฯ ทักษิณ หลักคิดต่างๆ ที่เราระดมความคิดมาก็อยู่ในแกนความคิดเดิม ดังนั้น ถือว่าท่านทักษิณเป็นคนที่เป็นแกนความคิดท่านหนึ่งที่พวกเราใช้ยึดมา เห็นได้ว่าจะยืนบนแกนหลักการเดิม ไม่ใช่ท่านทักษิณคิดนะครับ

คุณทักษิณยืนอยู่บนแกนหลักของการคิด หรือไม่

แกน แกนที่เราใช้ เป็นหลักที่เรายึดมั่นเป็นหลักที่เรา จนเรากลายเป็นความคิดของพรรคไปแล้ว และการระดมสมองตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป เราระดมสมอง ไม่เพียงแต่คนในพรรค เราระดมสมองทั้งจากภาคเอกชน คนที่เกี่ยวข้อง คนที่รู้สึกว่าเป็นผู้เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ว่าเป็นเรื่องของประชาชน เกษตรกร พ่อค้า นักวิชาการต่างๆ ร่วมกัน

ใครที่จะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คนนำนโยบายไปปฏิบัติ ทำให้เป็นจริง

ทีมเศรษฐกิจแกนเดิมของเรามีอยู่ ผมว่า..การระดมสมองเราจะเห็นได้ว่าอยู่ใน track เดิม ทีมที่อยู่ในเศรษฐกิจทั้งหมด มีหลายท่าน เป็นอดีตรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการคลัง อาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ยังเป็นที่พึ่งในการระดมสมอง  ยังมีคนจากข้างนอกที่ไม่ขอเอ่ยชื่ออีกหลายท่าน ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ หรืออยู่ในวงการธุรกิจอีกหลายท่าน

คนที่อยู่ในพรรคจะมีท่าน กิตติรัตน์ ณ ระนอง ท่านพิชัย นริพทพันธุ์ สุชาติ ธาดาดำรงเวช กิตติ ลิ่มสกุล นี่เป็นตัวอย่างบ้าง คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาอีกเยอะ ทั้ง ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล ดร.ธีราภา ไพโรหกุล ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ที่เป็นสตาฟของเราใสการหารือ และยังมีน้อง ๆ อีก มีกลุ่มที่เราเคยสร้างมาจากกลุ่มที่เราเคยสร้างมาจาก change maker ล้วนแต่เป็นทีมงานที่ระดมสมอง หาข้อมูล และ feedback เข้ามา

ถ้าชนะเลือกตั้งคนเหล่านี้จะได้เป็นรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจ

ผมว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคนที่ร่วมทำงานผลักดันนโยบาย ส่วนตำแหน่งอะไรเป็นเรื่องในอนาคต ต้องเลือกผู้ที่เหมาะสม

ปัจจัยชี้ขาดที่จะทำให้คนเลือกเพื่อไทย นอกจากนโยบาย ในแง่ตัวบุคคลที่จะทำให้คนเลือกมั่นใจว่าทำได้แน่ หรือแคนดิเดตนายกฯ คนๆ นั้นคือใคร

เรามีหลายคน ที่จะสร้างความมั่นใจคือแคนดิเดตนายกฯ ถึงเวลาก็คงเสนอและเสนอครบ 3 ท่าน

ให้พูดถึงคุณสมบัติ ของคุณแพทองธาร ชินวัตร

โอ้.. คุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เป็นคนรุ่นใหม่ อายุอานามก็เหมาะสม การศึกษาก็เหมาะสม และยังมีประสบการณ์การบริหารมา  เป็นท่านหนึ่งที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้ ทันยุคทันสมัย เข้าใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลก เรียนรู้เร็ว มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ เป็นการผสมผสานระหว่างความคิดใหม่ ระดมตัวแทนใหม่ของคนรุ่นใหม่ ผสมผสานกับประสบการณ์ของคนที่มีประสบการณ์แล้วเข้ามาได้

คุณสมบัติ ของหมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

หัวหน้าพรรคท่านเป็นคนที่อยู่กับพรรคเรา เป็น ส.ส.ตั้งแต่ตั้งพรรคไทยรักไทย ปี 2544 ท่านเป็น ส.ส.ครั้งแรก จึงรู้ประวัติยาวนาน รู้จัก เข้าใจนโยบาย ท่านเคยเป็นดาวสภา ทุกวันนี้ก็ยังเป็นดาวสภาอยู่ในการอภิปรายและสื่อสาร

มีแนวคิดของท่านอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกน ก็สืบทอดมา ก็อยู่ในนี้ ทุกคนก็ได้รับผลสะเทือนนี้

คุณเศรษฐา ทวีสิน ซีอีโอ บมจ.แสนสิริ พูดถึงพรรคเพื่อไทยบ่อย อยากให้คนเพื่อไทยพูดถึงคุณเศรษฐา บ้าง 

คุณเศรษฐา เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และผ่านร้อนผ่านหนาวมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตปี 40 วิกฤตหลายๆ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่อง ดังนั้น ความสำเร็จในเชิงของธุรกิจคือความสำเร็จในการบริหารแล้วประสบความสำเร็จ

อย่าลืมว่าพรรคของเราเปลี่ยนแปลงมาจากการบริหารที่เข้าใจธุรกิจมาสู่ภาคการเมือง ดังนั้น คุณเศรษฐาก็จะเป็นคนที่เหมาะสม ที่จะเข้าใจ หากว่าได้ตัดสินใจมาร่วมทางการเมือง ท่านก็จะเป็นคนที่มีส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง

ในฐานะที่ นพ.พรหมินทร์ คุมหลายทีม มั่นใจแค่ไหนจะได้ ส.ส.เกิน 250 มาจากไหนบ้าง

เรื่องง่าย ๆ เลยครับ เราปักหลักปักธงเสียก่อนว่า เพื่อที่จะหวังว่าเอาชนะเผด็จการที่มาจากการปล้นประชาธิปไตยของประชาชน เขียนรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ โดยมี ส.ว.มานั่งแช่ ถ่วงความเจริญของประเทศ

เราต้องยืนหลักปักฐานให้แน่น เฉพาะพรรคเดียวต้องมีเสียงมากกว่า 250 เสียง จะมากไปเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร เพื่อให้เห็นว่าอีกฝั่งหนึ่งการเป็นรัฐบาล..ไม่ง่าย หลังจากนั้นก็เป็นผู้แทนฝั่งประชาชนจะมาผสมรวมกันให้เกิน 250+125 ก็จะเป็น 375 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง เพื่อเอาชนะเสียงที่เป็นเสียงของ ส.ว. เป็นก้าวแรกแบบสันติวิธีในการเปลี่ยนแปลง ทวงคืนอำนาจประชาธิปไตยของประชาชน

ปัจจัยอะไรที่จะทำให้ชนะแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

เรื่องสำคัญ คือ ขณะนี้ โลกเปลี่ยนแปลงไป ประชาชนประจักษ์ชัดว่าเขาควรจะยืนอยู่ตรงไหนถ้าเขาจะทวงสิทธิเสรีภาพของเขาคืนมา ประชาชนเรียนรู้แล้วว่าเขาควรจะเลือกอะไร

ใคร พรรคไหนคือ พันธมิตรในการจัดตั้งรัฐบาลขั้วเพื่อไทย

หลักการสำคัญคือ หนึ่ง เราเป็นหลัก สอง เรามีนโยบายของเราที่ประกาศไว้ สาม ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย หลักเรื่องประชาธิปไตยเหล่านี้คงเป็นเงื่อนไขที่มาร่วม ใครที่เคยไม่เป็นมิตรต่อประชาชน และมีประวัติที่ไม่ชัดเจนต่อการสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว น้ำหนักที่จะมาร่วมกับเราก็คงน้อยลง

ขั้วของฝ่ายค้านเดิม คือขั้วรัฐบาลอนาคตหรือไม่

ผมว่าสถานการณ์วันนี้บอกยาก ต้องยืนอยู่ให้ชัดในเวทีต่อสู้เพื่อให้เห็นว่าพละกำลังต่าง ๆ มีอะไรบ้าง แล้วเงื่อนไขวันนั้นจะบอกเองว่าเราจะก้าวต่อไปอย่างไร

ประเมินอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผมว่าเขาแถ มาจนกระทั่ง 7 ปี 8 ปี เป็นเรื่องที่นับเลขไม่ถูกอย่างนี้แล้วก็ไม่แน่ใจ ผมว่าข้อแนะนำของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนก็มีข้อเสนอที่ชัดเจนว่าลงอย่างสง่างามอย่างไร แต่ถ้าเลือกเส้นทางที่จะไปข้างหน้าก็ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร ผมขอไม่วิจารณ์

อ่านอนาคตของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ผมขอไม่วิจารณ์ อนาคตของ พล.อ.ประวิตร ต้องไปถาม พล.อ.ประวิตร อนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไปถาม พล.อ.ประยุทธ์

มีการวิเคราะห์ว่าพรรคก้าวไกล เพื่อไทย ไม่อาจจับมือเป็นรัฐบาลได้ ปัจจัยอะไรที่จะบอกแบบนั้น

ผมยืนอยู่บนหลักเดิม ผลของการเลือกตั้งแล้วปัจจัยที่จะไปสู่การขจัดอำนาจของเผด็จการเป็นเป้าหมายหลักของเรา เพื่อที่จะเอาอำนาจรัฐของประชาชนคืนมาเป็นเรื่องสำคัญ

คู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทยคือใครกันแน่

คู่แข่งของเรา คือ ต้องไปแข่งเอาชนะใจประชาชน

คู่แข่งในแง่ของพรรคการเมือง

ผมว่าขณะนี้มันชัดเจนว่า พรรคอันดับหนึ่งคือพรรคเพื่อไทย

แต่ปัจจัยชี้ขาดการได้เป็นรัฐบาล คือพรรคที่ได้เสียงเป็นอันดับสอง

เขาก็ต้องเลือกว่ายืนอยู่กับประชาชน หรือฝืนประชาชน

ถ้าพรรคภูมิใจไทย ได้อันดับสอง ประเมินว่าพรรคภูมิใจไทยคือโอกาสหรืออุปสรรคของเพื่อไทย

ผมว่าอย่าไปพูดถึงอนาคตเลย เรายืนบนหลักเราแม่น เราเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องเลือกผู้ที่มีคะแนนเสียงเอาชนะเสียงของฝ่ายเผด็จการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียก่อน เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชนที่มาจากกระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เราปักหลักไว้ตลอด ต้องเห็นร่วมกัน ร่วมกับเราในนโยบายของเรา นโยบายอะไรที่มีปัญหา ที่เรารับไม่ได้ก็คือรับไม่ได้

อะไรคือนโยบายที่พรรคเพื่อไทยไม่เอาร่วมรัฐบาลด้วยเด็ดขาด

นโยบายที่สนับสนุนเผด็จการ นโยบายที่กดหัวประชาชน นโยบายที่ขยายอำนาจของรัฐมาขยายอำนาจของประชาชน

แคมเปญการเมืองสำหรับการเลือกตั้งที่แหลมที่สุดของพรรคเพื่อไทยคืออะไร

วันนี้เราเสนอชัดเจน เรื่องการทวงคืนประชาธิปไตย เราปักธงไว้ว่าก้าวแรกที่สำคัญคือชนะแลนด์สไลด์ เป็นก้าวแรกของการทวงคืนประชาธิปไตยของประชาชนด้วยสันติวิธี

หัวใจการเลือกตั้งครั้งหน้า คือปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อไทยโฆษณาว่าเคยทำได้ ทำมาแล้ว และจะทำต่อไป อะไรคือรูปธรรมของสิ่งนั้น

ผมว่าขณะนี้ สิ่งสำคัญคือประวัติเดิมที่เราสร้างรายได้ได้ และทุกตัวเป็นตัวบอกอยู่แล้วว่าเราทำได้และเราทำเป็น วิธีคิดต่างหาก ไม่มีพรรคไหนเลยที่พูดเรื่องของการสร้างรายได้ มีแต่พรรคที่กะใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร ซึ่งขณะนี้รายได้ของประเทศก็น้อย เก็บภาษีไม่ได้เพราะเศรษฐกิจฝืดเคือง

ทางเดียวที่จะหาเงินคือกู้ สร้างภาระไปข้างหน้า กู้ไม่พอ ก็ขยายเพดานกู้ แอบกู้จากทางนู้น ทางนี้ แอบใช้เงินที่ซ่อนไว้หลายที่

สำหรับพรรคเพื่อไทย แตกต่างกันแน่นอน เพราะเรารู้จักในการหารายได้ให้กับประชาชน เพื่อเป็นฐานภาษีในการหารายได้ให้ประเทศแล้วมาบำรุงรักษา เราจะเพิ่มสวัสดิการได้เมื่อเรามีรายได้เพียงพอ ดังนั้น สิ่งที่เราพูด เราระมัดระวังมากในการรับปากในเรื่องอะไร เรารับปากในสิ่งที่ทำได้

เพื่อไทยจะหารายได้จากไหน

รายได้ใหม่ เพราะรายได้เดิมเรามีอยู่แล้ว รายได้ใหม่มาจาก  1.ภาคการเกษตร 40% ของประชากรเป็นภาคการเกษตร แต่มีรายได้แค่ 8% ของจีดีพี ส่วนนี้เป็นส่วนที่เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด พลิกฟื้นจากเกษตรดั้งเดิมให้เป็นเกษตรก้าวหน้า

หมายความว่า ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ วิธีการ วันนี้เราผลิตข้าวเกินกว่าความต้องการของตลาด 4 ปีที่ผ่านมา เราผลิตเกินความต้องการของตลาด แล้วขายไม่ออก 2-3 ล้านตันต่อปี ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนวิธี ปลูกอย่างอื่นไหมที่มีรายได้เพิ่ม ถ้าปลูกได้ดีก็ปลูกต่อไป

2.แต่ถ้าปลูกแล้วไม่ได้ผล เปลี่ยนไหม เปลี่ยนเป็นการปลูกพืชทดแทนการนำเข้าอาหารสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหรือถั่วเหลือง เพราะเรานำเข้า 3 แสนล้านบาทต่อปี

3.มีรายได้ใหม่ๆ อาจจะมีโอกาสในการเลี้ยงวัว ซึ่งมี 2 ล้านครัวเรือนที่เลี้ยงวัวอยู่ทุกวันนี้ แล้วเราเข้าไปขุน สร้างรายได้ส่งออกนอก ทั้งจีน และตะวันออกกลาง มีตลาดประมาณ 4 ล้านตัวต่อปี มากโข ทุเรียน เรายังขยายตลาดไปได้ ปีที่แล้วรายได้จากทุเรียนคือ 1.3 ล้านบาท มากกว่าการขายข้าว ยังมีดีมานด์อีกเยอะแยะ

ส่วนภาคธุรกิจ รายได้ที่เข้ามาเร็วที่สุดคือภาคบริการที่ถือเป็น 56% ของจีดีพี เราจะโปรโมทด้วยการท่องเที่ยว หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย จึงประกาศว่ารายได้ท่องเที่ยวก่อนโควิด 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มอีก 50% เป็น 3 ล้านล้านบาท ถามว่าทำได้ไหม ได้แน่นอน

ในยุคของรัฐบาลทักษิณ เราเคยทำงานสงกรานต์เป็น water festival จัดที่ถนนราชดำเนิน เป็นอีเวนต์ใหญ่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมามากมาย งานลอยกระทง งาน Bangkok fashion week สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรามั่นใจ

ภาคอุตสาหกรรมเราคงต้องส่งเสริม ภาค SMEs เราต้องยกระดับให้เท่าทันกับเทคโนโลยี เราจะแมชต์สตาร์ทอัพ กับSMEs ได้งาน ได้รายได้เพิ่มแน่นอน

ขึ้นค่าแรง 600 บาท ในปี 2570 เท่ากับเอาแรงงานเป็นตัวประกันเพื่อชนะการเลือกตั้ง 2 ครั้งหรือไม่

คนที่วิจารณ์อาจมองเพียงแต่ข้อสรุปสั้นๆ 1 ประโยค เราไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน ตรงกันข้ามเราใช้เป็นเป้าหมายชี้วัด คำนึงถึง 2 เรื่องของประเทศ คือ เศรษฐกิจประเทศต้องโต และ ต้องลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำเกิดที่ภาคเกษตร ซึ่งเราเพิ่มรายได้ของเขาได้

ส่วนภาคแรงงาน เราเป็นหลักประกันว่า ถ้าเราทำให้เศรษฐกิจโต ภาคธุรกิจโต เราจัดแบ่งปันสิ่งที่โตขึ้น หรือผลกำไรเหล่านี้ให้ไปถึงภาคแรงงานด้วย ดังนั้น การดำเนินการคงต้องให้เศรษฐกิจโตขึ้นเสียก่อน จึงมาตกลงกันว่าแล้วคุณจะแบ่งค่าแรงอย่างไร เราเคารพกติกา ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างอะไร เรามีโครงสร้างไตรภาคี ต้องร่วมกันทั้งสามฝ่าย รัฐก็คงต้องช่วย

ประการสำคัญ เราตระหนักดีว่ารัฐเก็บภาษีจากกำไร 20% แปลความในเชิงธุรกิจคือเราถือหุ้นในบริษัททุกบริษัท 20% เราไม่ยอมให้คุณขาดทุน เราจะทำให้คุณขายได้และมีกำไร เราจะได้กำไรด้วยกัน

เราคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ เราติดอันดับความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1 ของโลก ผลัดกับรัสเซียดังนั้น เราต้องกระจายรายได้นี้กลับมาด้วยวิธีการหาภาษี แล้วหากลไกที่เป็นสวัสดิการที่เป็นไปได้และเหมาะสมที่สุด

รับประกันว่าถ้าเป็นรัฐบาลเพื่อไทยจะไม่กู้

การกู้อาจจะมีความจำเป็นแต่เรากู้ด้วยความระมัดระวัง ดูว่ากระเป๋าเราเป็นอย่างไร มีรายได้เป็นอย่างไร เรารอบคอบเพราะเราเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาได้ เงินกู้อาจเป็นความจำเป็นในการลงทุน แต่กู้ด้วยความระมัดระวังว่ามีโอกาสคืนได้อย่างไร คงไม่ทิ้งเป็นภาระให้กับคนอื่น

อนาคตการใช้แรงงานคนลดลง ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่ค่าแรงเพิ่มเป็น 600 บาท จะทำให้เอกชนลดการจ้างงานลงหรือไม่

แรงงานเกษตรไม่ใช่แล้ว จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเยอะ ดังนั้น คนรุ่นใหม่จะกลับเข้าสู่ภาคเกษตร แรงงานจะขาด อีกขาหนึ่งสร้าง soft power 1 ครอบครัว 1 soft power จะสร้างงานอีก 20 ล้านตำแหน่ง ถ้าคนไทยมีศักยภาพ อื่นแรงงานจะขาด ราคาแรงงานก็จะขึ้นไปเอง

เพราะเมื่อแรงงานเขามีทางเลือก ภาคเอกชนก็ต้องแย่งคนงานกัน ในที่สุดถ้าเอกชนต้องการให้ต้นทุนถูกเรามีแพ็คเกจที่จะเพิ่มผลิตภาพให้

มีการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต learn to earn เรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ เชฟที่ดัง ๆ ก็จบเศรษฐศาสตร์จุฬา แสดงว่าเขามีความสามารถอีกด้าน แรงงานมีโอกาสเป็นไทให้ตัวเอง และมีโอกาสโตขึ้นไปอีก ไม่ต้องมาเป็นลูกจ้าง

นอกจากนี้ ประเทศไทย เรื่อง coding สำคัญ เมื่อปี 2016 การเติบโตของฝั่งดิจิทัลอีโคโนมี เติบโต 12% เป็น 2.5 เท่าของการเติบโตเศรษฐกิจปกติ ในปี 2025 จะโตเป็น 25% ของการเติบโตของเศรษฐกิจปกติ ดังนั้น เราต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ให้เป็นดิจิทัลอีโคโนมี เราทำแล้ว เอาเด็ก ม.2 ม.3 มาเรียนเขียน coding โดยใช้คอร์สออนไลน์ล้วน

สุดท้ายจะทำจ็อบแมตชิ่ง โลกจะไปออนไลน์หมด เบื้องหลังความสำเร็จนี้ เราอ่านเทรนด์ของโลกแล้วเอาดิจิทัลอีโคโนมีมาเป็นเป้าหมาย

อะไรคืออุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล

Food industry  Agri-food industry เพราะเรามีทุนด้านการเกษตร เราต้องยกระดับ food ยกระดับอาหารขึ้นมาเอาฝีมือของเชฟมาผสมลงไป วันนี้ไปที่อังกฤษ ร้านอาหารไทย ชื่อว่า speedboat แต่เจ้าของเป็นฝรั่งที่เคยอยู่ภูเก็ต แต่โต๊ะเป็นโต๊ะพับได้ เก้าอี้เป็นพลาสติกสีแดง คนไทยไปต้องเข้าคิว นี่คืออาหารรสชาติของคนไทย ดังนั้น ไม่ต้องไปสร้างอะไร เพียงแค่แมตช์เรื่องนี้

นี่คืออุตสาหกรรมที่จะแตกต่าง agri-food  agriculture ต้องดี แล้วที่เราพูดถึง blog chain เพราะในที่สุดก็จะเป็น traceability เป็นเรื่องของสามารถตรวจสอบได้ เกษตรกรก็จะบอกได้ว่าตลอดทาง certified ไม่มีสารพิษอย่างไร  Ingredient วัตถุดิบนี้มาจากของอันนี้ ต่อไปนี้ไม่ต้องไปสนใจเรื่องยาฆ่าแมลง

นอกจากนี้ เพื่อไทย มีนโยบายเรื่อง New business zone ต้องอยู่ร่วมกับมหาวิทยาลัย เหตุผลชัดมาก มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ แต่อยู่บนหิ้ง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นความรู้ทาง commercial ได้

เบื้องหลังการคิด New business zone มีคนมาเล่าให้ฟังว่า คนไทยมีคนเขียน coding ที่เก่งมาก อยู่เบื้องหลังเหรียญคริปโตฯ ต่าง แต่ต้องไปทำงานที่ดูไบ และสิงคโปร์  เขาจึงแนะนำให้ทำเหมือนดูไบ ให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ  ที่มีคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ บังคับว่าคุณต้องทำตามผม และจะมี BOI Plus ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งต่างจาก EEC แม้มีกฎหมายเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหากฎหมายที่ rule of law ต้องจ่ายใต้โต๊ะ โดยเฉพาะเรื่องใบ รง.4

แต่ประเทศคู่แข่ง เพื่อนบ้าน มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น รถยนต์อีวี  

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทย ไม่ว่า รถอีวี ขาดรูปธรรมในทางปฏิบัติ เพราะทำไม่เป็น จะทำในสิ่งที่ไม่มีดีมานด์ได้อย่างไร ประเทศจีนเขาผลิตดีมานด์ ไม่ใช่ดีมานด์ที่เพียงแค่ลดภาษี เรื่องนี้หมูมาก รัฐบาลสามารถสั่งการให้รถ ขสมก. หรือ รถบรรทุกทุกคนใช้รถไฟฟ้า

ถ้าจะผลักดันความสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปเป็นการกระทำ คุณทำได้ยังไง คุณต้องเข้าใจทุกเม็ด วิธีการที่มาจากภาคธุรกิจเขารู้ดีว่าคุณต้องครีเอทดีมานด์

รัฐเองครีเอทดีมานด์ได้ เช่นเราจะสร้างคนเขียนซอฟต์แวร์ได้ เรามีคนที่เขียนซอฟต์แวร์เก่ง แต่เป็นคนเขียนตามคำสั่ง เราไม่มีนักธุรกิจ ในภาษาพวกเขา เรามี blue collar 90% เรามี white collar 10%

ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะต้องพัฒนานักซอฟต์แวร์ที่เข้าใจธุรกิจ ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าได้เราต้องพัฒนานักพัฒนาซอฟต์แวร์ white collar มากขึ้น business engineering แปลว่าสอนให้เขาเข้าใจธุรกิจ เรื่องนี้ไม่ต้องไปปรับปรุงหลักสูตรใดๆ เพราะมหาวิทยาลัยหลายแห่งก้าวหน้าไกลไปแล้ว มีสอนเรื่องนี้แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ใน New business zone

พรรคเพื่อไทย ยังมีอะไรที่เป็นจุดอ่อนไหม

เราเปิดหู เปิดตา รับฟังความคิดเห็นตลอดเวลา ข้อสำคัญอะไรที่ไม่สอดคล้องเราพร้อมปรับเปลี่ยน แต่วันนี้เรามั่นใจ

จุดอ่อนจริง ๆ คืออะไร

จุด่อนคือ คนจะไม่เลือก แต่เรามั่นใจว่า เราชนะใจประชาชนและทำให้คนเลือกได้