ทูลเกล้าฯ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. 2 ฉบับ ประยุทธ์ลงนามแล้ว

ผลงานรัฐบาล ประยุทธ์

วิษณุเผย ประยุทธ์ลงนาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.-พ.ร.ป.พรรคการเมืองแล้ว เตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯรัฐบาลเบรกเสนอกฎหมายใหม่ เชื่อ ส.ส.แห่ลาออก-องค์ประชุมยังเกินครึ่ง ไม่กระทบพิจารณาร่างกฎหมาย เผยยังไม่มีสัญญาณยุบสภา-ยุบก็ไม่บอก แค่แจ้ง ครม.

วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้ากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. … ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงนามแล้ว หลังจากนั้นจะจัดส่งไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันนี้ (16 ธ.ค. 65) หรืออย่างช้าในวันพรุ่งนี้ (17 ธ.ค. 65) เช้า

“เมื่อกฎหมายเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับส่งไปยังสำนักพระราชวังแล้ว ไม่สามารถคัดค้านได้แล้ว ไปคัดค้านอีกทีก็ตอนกฎหมายออกมาแล้ว แต่กระบวนการตอนนั้นไม่เหมือนตอนนี้ที่ร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ร้องตอนนั้นคดีต้องขึ้นสู่ศาล และส่งศาลรัฐธรรมนูญอีกที แต่อย่าไปพูดถึงเลย เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง”

นายวิษณุกล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่าหลังจากรัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ต่อจากนั้นอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย 90 วัน หลังจากนั้น เมื่อประกาศโปรดเกล้าฯ ลงมา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลในวันถัดไป ถือว่ากติกาครบแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้เกิดปรากฏการณ์ ส.ส.ลาออก อาจจะนำไปสู่การยุบสภา นายวิษณุกล่าวว่า ส.ส.เดิมมี 500 คน วันนี้เหลืออยู่ 442 คน องค์ประชุม 221 คน กึ่งหนึ่ง ไม่มีปัญหาอะไร ประชุมกันได้ปกติ ยังทำภารกิจได้ ยังมีเวลาเหลืออยู่อีก 2 เดือนเศษ กฎหมายใหม่ ๆ ของรัฐบาลก็คงจะไม่เสนอเข้าไปอีกแล้ว แต่กฎหมายที่เสนอไปแล้วและค้างการพิจารณาอยู่หลายฉบับ

นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้กฎหมายที่ค้างการพิจารณาของสภามี 3 ประเภท ประเภทแรกคือ กฎหมายที่เสนอไปนานแล้ว กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ประเภทที่สอง กฎหมายที่เสนอไปอยู่ในระเบียบวาระ แต่ยังไม่ได้พิจารณาในชั้นขั้นรับหลักการ หรือวาระที่ 1 มีหลายฉบับ รวมทั้งร่างกฎหมายของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ประเภทที่สามคือ รายงานของคณะกรรมาธิการที่รับไปศึกษาหลายชุดและใช้งบประมาณไปจำนวนมาก ซึ่งศึกษาเสร็จแล้วยังไม่มีผลอะไร จนกว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่สภา และส่งมาให้รัฐบาล

Advertisment

เมื่อถามย้ำว่า ไม่เป็นเงื่อนไขในการยุบสภาในเร็ววันนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ขณะนี้ยัง”

เมื่อถามว่า โดยมารยาททางการเมืองแล้ว นายกรัฐมนตรีควรแจ้งพรรคร่วมรัฐบาลเป็นการภายในหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ผมไม่เคยยุบสภา เพราะเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะที่เคยร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภา 3-4 หน นายกรัฐมนตรีจะไม่นำเข้าปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปกติการจะออก พ.ร.ฎ.อะไรก็ตาม จะเป็นเรื่องที่ต้องผ่าน ครม. แต่การออก พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็น พ.ร.ฎ.ฉบับเดียวที่ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดปรึกษา ครม. สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยุบสภา ท่านก็ออก พ.ร.ฎ.ยุบสภา พอยุบแล้วท่านก็เรียกประชุม ครม. แล้วท่านก็บอกว่า ขอโทษที่ไม่ได้บอกให้รู้ล่วงหน้า จำเป็นต้องตัดสินใจไป เพราะเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

Advertisment

“แต่การจะบอกบางคน หรือแกนนำพรรคเป็นไปได้ สมัยนายกฯอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ อานันท์ 2 ท่านทำพิสดารกว่าทุกนายกฯที่ผ่านมา เพราะจำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพราะภารกิจเดียวเพื่อเข้ามาเป็นนายกฯ เพื่อยุบสภา ซึ่งตนเป็นคนกราบเรียนนายกฯอานันท์ว่า การออก พ.ร.ฎ.ยุบสภาเป็นการบริหารราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ท่านจะ exercise power ใช้อำนาจตรงนี้ออก พ.ร.ฏ.ยุบสภาไม่ได้ ถ้าท่านไม่แถลงนโยบาย ท่านเลยแถลงนโยบายเสร็จ ท่านทำในสิ่งที่นายกฯคนอื่นไม่เคยทำ และจะไม่เกิดขึ้นอีก คือเชิญหัวหน้าพรรคทุกพรรค รวมทั้งฝ่ายค้านด้วย มาประชุมกันเพื่อให้ทราบว่าท่านมีภารกิจเพื่อเข้ามายุบสภา เพราะฉะนั้นอยากให้ยุบวันไหนโหวตมา แล้วก็เป็นไปตามนั้น ซึ่งพิสดาร เพราะปกติจะไม่บอก” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า รอบนี้ได้สัญญาณที่ต้องร่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภาหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่า เตรียมกระดาษ ดินสอ ปากกา เครื่องพิมพ์ดีดเอาไว้มา 2 ปีแล้ว ไม่ได้ประเมินอะไร เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในทางการเมืองอะไร เป็นเรื่องธรรมดา