ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7:2 กฎหมายเลือกตั้ง สูตรหาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7:2 กฎหมายเลือกตั้ง สูตรหาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ กฎหมายเลือกตั้งสูตรหาร 100 ตราขึ้นถูกต้อง มาตรา 25 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ไม่มีข้อความขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และ 94

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมและมีมติกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 105 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนําไปสู่การวินิจฉัย และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และมาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 และมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และ 94

ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวยื่นโดยกลุ่ม 105 ส.ส.พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่

โดยหัวใจของคำร้องที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น มีประเด็น อาทิ วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหลังเลือกตั้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ, ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ตราไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยใช้เทคนิคพิจารณาให้เวลาเกินกรอบ 180 วัน

ใน 1 ปีหากมีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะการทุจริตหรือเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรม การห้ามนำคะแนนที่ได้จากเลือกตั้งซึ่งไม่สุจริตเที่ยงธรรมมารวมคำนวณ ซึ่งเขียนไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 ที่กำหนดให้ความเชื่อมโยงกับมาตรา 93 ไว้ และคาดว่าจะเกิดปัญหาในอนาคตได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับดังกล่าว เป็นร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ยกร่างขึ้นมาและส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 100 แบบสัมพันธ์ทางตรงกับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564 (ที่แก้ไขบัตรเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เรื่องจำนวน ส.ส.เขต เพิ่มเป็น 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อลดเหลือ 100 คน ยกเลิกระบบพึงมี-จัดสรรปันส่วนผสม มาเป็นสัมพันธ์ทางตรงกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน)

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ผ่านการรับหลักการโดยที่ประชุมรัฐสภา จากนั้นมีการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ได้เห็นชอบกับร่างสูตรหาร 100 ตามร่างฯ ของคณะรัฐมนตรี ที่ยกร่างโดย กกต. แต่แล้วเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณารายมาตรา

ปรากฏว่าช่วงเดือนมิถุนายน กลุ่มพรรคเล็กบุกมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อขอคำชี้แจงเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำโดยนายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เป็นตัวแทนกลุ่มพรรคเล็ก

โดยพรรคเล็กเสนอว่า ควรใช้การคำนวณหาร 500 และพล.อ.ประวิตร ให้คำตอบว่าไม่มีปัญหา จะหาร 500 หรือหาร 100 ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จะไปพูดคุยกัน โดยเป็นเงื่อนไขของการขอเสียงพรรคเล็กยกมือให้รัฐบาลในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงที่ฝ่ายค้านเตรียมจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หารือกับรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค-แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ถึงการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าควรจะใช้สูตรหาร 100 หรือหาร 500

เมื่อวงถกกับนายกฯ เคาะสูตร 500 จึงส่งสัญญาณไปที่การประชุมรัฐสภา ในวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติโหวตเปลี่ยนสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 มาเป็นสูตรหาร 500 เหมือนที่เคยใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 ตามคำร้องขอของพรรคเล็ก เหตุผลก็เพราะพรรคเล็กที่เป็นฐานกำลังของรัฐบาลได้ประโยชน์ พรรคขนาดกลางก็ไม่เสียเปรียบมากนัก

แต่ปรากฏว่าคล้อยหลังการโหวตไปประมาณ 2 สัปดาห์ บรรดานักการเมืองฝ่ายรัฐบาลไปคำนวณใหม่ กลับพบว่าสูตรหาร 500 แบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีแต่ “เสีย” มากกว่า “ได้” เพราะสูตรหาร 500 ครั้งนี้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือมีบัตรแบบ ส.ส.เขต และบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต่างจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ ใช้สูตรหาร 500 แต่เป็นบัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบ กาครั้งเดียวได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

20 กรกฎาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ออกมาจุดพลุเปลี่ยนสูตรอีกรอบ จากหาร 500 กลับมาเป็นหาร 100

21 กรกฎาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยอมรับว่า ผมลองไปหารเล่น ๆ ผมอาจจะไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะมันไม่เหลือ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ผมเลย ก็ไม่เป็นไร ถือว่าสิ่งสำคัญคือผู้แทนราษฎรได้รับการเลือกตั้งโดยตรงมาจากพื้นที่ เขาจะสามารถทำงานให้กับพื้นที่ได้ ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เราก็จะพยายาม แต่ดูวิธีหารแล้วก็ยาก

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจบลง จึงพลิกเกมกลับมาใช้สูตรหาร 100 อีกครั้ง โดยใช้เทคนิคกฎหมาย ทำให้การประชุมรัฐสภาล่ม 2 ครั้งซ้อน เพื่อให้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.สูตรหาร ที่รัฐสภาโหวตใช้สูตรหาร 500 ไปก่อนหน้านี้พิจารณาไม่ทันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 180 วัน แล้วกลับไปใช้สูตรหาร 100 ตามร่างเดิมของวาระที่ 1 อันเป็นร่างกฎหมายที่ กกต.เขียน แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีชงเข้าสภา

กระทั่ง นพ.ระวีล่ารายชื่อ ส.ส.และ ส.ว. 105 คน ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และผลออกมาคือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ