ระทึกกฎหมายเลือกตั้ง นักการเมืองทุกพรรคจับตาสูตรหาร 100

เลือกตั้ง

ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน จะมี 2 ชอตสำคัญที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลับมาชี้ขาดทางการเมืองในอนาคตอีกครั้ง

ชอตแรก ที่ 9 ตุลาการ จะต้องตัดสิน คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … (ซึ่งเกี่ยวกับการทำไพรมารี่โหวต และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพรรคการเมือง) ที่พิจารณากันในวันที่ 23 พฤศจิกายน

ชอตที่สอง คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … (แก้ไขสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพึงมี หาร 500 มาสู่สูตร “สัมพันธ์ทางตรง” กับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน) ศาลนัดพิจารณาในวันที่ 30 พฤศจิกายน

หากกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งแท้งไป ย่อมกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการเมืองทั้งกระดาน

ย้อนความไปในเรื่องเดิมถึงสาเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องมาพิพากษา ใน 2 ร่างกฎหมายลูกสำคัญ ทั้งที่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้ว

โดยฉบับแรก คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ปรากฏ ส.ว. 77 คน ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ขัดต่อหลักการปฏิรูปด้านการเมือง และมีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบในกิจกรรมทางการเมือง ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … นั้น ถูกยื่นโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ พ่วง 105 ส.ส.พรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก ที่อยากให้กลับไปใช้สูตรหาร 500

ย้อนไปสู่ต้นเรื่องแบบย่อ ๆ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มี ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ใช้สูตรจัดสรรปันส่วนผสม นำทุกคะแนนจากการเลือกตั้งมาหาร 500 เพื่อให้ได้ ส.ส.พึงมี พรรคไหนได้ ส.ส.เขตมาก ส.ส.บัญชีรายชื่อจะลดน้อย ผันผวนตามสัดส่วน

พรรคเพื่อไทย ไม่อินกับสูตรนี้ เพราะทำให้พรรคตนเองไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว มาวันหนึ่งที่พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำพรรครัฐบาลหวั่นซ้ำรอยพรรคเพื่อไทย ที่ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงคิดพลิกเกมแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตรสองใบ เพิ่ม ส.ส.เขตจาก 350 คน มาเป็น 400 คน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน ในระบบสัมพันธ์ทางตรง

แบบเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2554

เรื่องเดินหน้ามาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านการแก้ไข มีผลประกาศใช้ ถึงตอนร่างกฎหมายลูก คือ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จู่ ๆ ผู้มีอำนาจก็หวั่นเกรงวลี “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย จึงสั่ง ส.ส.และ ส.ว.ในคอนโทรลโหวตปรับให้กลับไปใช้สูตรหาร 500 อีกครั้งหนึ่ง เปลี่ยนเกมกันดื้อ ๆ กลางสภาในวาระที่ 2

โดยอ้างเหตุผลว่า ในมาตรา 93 และมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญยังมีคำว่า “พึงมี” และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ อันเป็นมรดกของสูตรหาร 500 อยู่

ทว่าพรรคเพื่อไทยออก “คำขู่” วางแผนแตกแบงก์พันรอบสองพรรคหนึ่งเก็บ ส.ส.เขต พรรคหนึ่งเก็บ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เกมนี้ฝ่ายรัฐบาลเสียเปรียบ จึงถอยกลับไปสูตรหาร 100 อีกครั้ง โดยใช้แท็กติกในรัฐธรรมนูญให้ร่างหาร 500 ตกไป เพราะรัฐสภาพิจารณาไม่ทันตามกรอบ 180 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนด จนกลับไปใช้สูตรหาร 100

พรรคเล็กและพรรคกลางที่ชื่นชอบสูตรหาร 500 จึงรวมตัวกัน 106 ชีวิต ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

จึงถึงคิวที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตัดสิน

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย วิเคราะห์ฉากสำคัญในศาลว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่คิดว่าน่าจะเป็นปัญหามากนัก ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญจะเคร่งครัดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและสมาชิกพรรค ว่าจะต้องทำอย่างจริงจัง

แต่ไม่ได้แตกต่างกันมากระหว่างผ่านกับไม่ผ่าน ถ้าผ่านศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองก็ทำงานง่ายขึ้น ถ้าไม่ผ่านก็ทำงานยากขึ้น ส่วนจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้จริงหรือไม่ ผมคิดว่าไม่จริง เพราะท้ายที่สุดพรรคการเมืองก็จะทำขั้นตอนเป็นพิธีกรรม ในแง่ความจริงของสังคมไทย ไม่ว่าตั้งตัวแทนเขต หรือทำไพรมารี่โหวตก็ทำแบบปลอม ๆ ถ้าให้เดาทางศาล คิดว่าศาลน่าจะรู้ข้อเท็จจริงของสังคมไทย ไม่ยึดสิ่งที่เป็นอุดมคติ คิดว่ากฎหมายพรรคการเมืองผ่านได้

ส่วน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มีความหมายต่อนักการเมืองมาก เพราะส่งผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบต่อพรรคการเมือง ถ้าผ่านศาลรัฐธรรมนูญ พรรคใหญ่จะได้เปรียบสูงมาก ได้ทั้ง ส.ส.เขตและได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกเต็ม ๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามฝ่ายรัฐบาล แนวคิดไม่ให้ผ่านก็อาจจะมีสูง

และมีเหตุผลที่พอจะชี้แจงได้ เพราะตัวรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข แก้ไขไม่ครบทุกมาตรา ยังมีคำว่า ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ในมาตรา 93 และ 94 ซึ่งอาจยกเป็นข้ออ้างให้ไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญได้

“ถ้ามองในเชิงเหตุผลทางการเมืองและกฎหมายคิดว่าไม่ผ่านสูง” สมชัยกล่าว

ดังนั้น ทางออกจะมีได้ 4 ทาง 1.เสนอกฎหมายเข้ามาใหม่โดยเร็ว ฝ่ายรัฐบาลอาจเตรียมพร้อมไว้แล้ว ในฐานะที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเมืองอยู่แล้ว อาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภา อาจจะเสนอพิจารณา 3 วาระรวดได้หรือไม่

2.ถ้ามีเหตุยุบสภา การออกกฎหมายอาจจะทำไม่ได้ คณะรัฐมนตรีอาจออกพระราชกำหนดเพื่อเป็นกรอบให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง

3.ให้ กกต.ออกคำสั่ง ประกาศ ในการเลือกตั้ง แต่คิดว่า กกต.คงไม่ทำวิธีนี้ และ 4.ยอมกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไปฉบับดั้งเดิม 2560 ก่อนการแก้ไขกฎหมายลูกทั้งหมด

นักการเมืองยังต้องลุ้นระทึกในเกมนี้