ตั้งลูกรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นับถอยหลัง ส.ว.นั่งร้านประยุทธ์พ้นอำนาจ

รัฐธรรมนูญ

วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกบรรจุไว้ใน “นโยบายเร่งด่วน” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ผ่านมา 4 ปี เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็น “ประชาธิปไตย” ตามนิยามของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ดูเหมือนไม่ใช่วาระเร่งด่วนของ ผู้มีอำนาจและเครือข่าย ส.ว.

เพราะ 4 ปี มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ครั้ง 5 ยก ตกไป 25 ฉบับผ่านแค่ 1 ฉบับ คือ แก้ระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ เพิ่ม ส.ส.เขต จาก 350 เขต เป็น 400 เขต และลด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จาก 150 ที่นั่ง เหลือแค่ 100 ที่นั่ง ในระบบ คำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบ “สัมพันธ์ทางตรง”

ถูกใจนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ โดยเฉพาะพรรคใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย

แต่ปมแก้รัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนต้องการ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ “ทั้งฉบับ” การลดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ไม่เคยเข้าใกล้ความเป็นจริง

เพราะการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้งต้องให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ตัวเลขกลม ๆ 375 เสียง ขึ้นไป และจะต้องได้เสียง ส.ว.เห็นชอบ 1 ใน 3 คือ 83 เสียง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ที่เป็นปีสุดท้ายที่ ส.ว. 250 คน จะอยู่ในอำนาจ และเป็นปีสุดท้ายที่จะมีสิทธิร่วมโหวตนายกฯ หลังเลือกตั้ง

ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญจะกลับมาร้อนระอุอีกครั้งหนึ่ง

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ประกาศวาระที่จะรณรงค์ตั้งแต่ต้นปีคือ วาระ ปิดสวิตช์ ส.ว.

การรณรงค์ในช่วงต้นปีอาจจะไม่เกี่ยวข้องการเลือกตั้งโดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้ง คือปิดสวิตช์ ส.ว.อย่างเป็นระบบ

ถ้าไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. นายกฯอาจไม่ได้มาจากมติของประชาชนก็ได้ และถ้า ส.ว.มีอำนาจอย่างนี้ ทำให้การตัดสินใจของประชาชนบิดเบือนไปหมด

ดังนั้น ต้องปิดสวิตช์ ส.ว.ให้ได้ จึงต้องฝาก ประชาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ ต้องรณรงค์เรื่องปิดสวิตช์ ส.ว. ต้องประกาศล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เอาเสียงของ ส.ว.ไปแอบอ้างในการต่อรองตำแหน่งนายกฯได้

“ถ้าจะเอาระบบนี้จริง เลือกตั้งครั้งหน้าไม่มีใครเดินไปหาเสียงกับประชาชน เพราะ ส.ว. 1 เสียง กับ ส.ส. 1 เสียงในสภา มีค่าเท่ากัน แต่ ส.ส. ต้องมีประชาชนเลือก 3-4 แสนเสียง กว่าจะได้เป็น ส.ส. ดังนั้น ผมไปหา ไปกินข้าวกับ ส.ว.ไม่ดีกว่าหรือ”

เรื่องปิดสวิตช์ ส.ว.ในช่วงต้นปี จึงโยงมาถึงการที่พรรคเพื่อไทย เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2 มาตรา คือ

แก้มาตรา 159 ที่มานายกรัฐมนตรี ผู้ที่สมควรได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หรือ เป็น ส.ส.ของพรรคการเมืองที่มีเสียงในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือจำนวน 25 เสียงขึ้นไป

และให้ยกเลิกมาตรา 272 มาตรา ที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ทิ้งไป

แกนนำพรรคเพื่อไทย คาดว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับล่าสุดของพรรคเพื่อไทย หากไม่มีอะไรผิดพลาด หรือมีการเตะถ่วง จะต้องได้รับการพิจารณาภายในสมัยประชุมนี้ คือ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ยังมีญัตติทำประชามติให้สอบถามประชาชนว่าจะให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ที่เป็นวาระค้างอยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา

ย้อนกลับไป 3 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 324 ต่อ 0 เสียง ให้คณะรัฐมนตรี ทำประชามติ เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ พร้อมกับการเลือกตั้ง ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ประชามติ) ก่อนส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ

ทว่า เมื่อ ส.ว.รับมาพิจารณา ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา และขยายเวลาศึกษาไปอีก 45 วัน มกราคม 2566 จะมีคำตอบจาก ส.ว.

ตลอด 4 ปี ส.ว.ถูกมองว่าเล่นเกม “เตะถ่วง-เตะสกัด” การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว.กำลังจะหมดวาระในพฤษภาคม 2567 หมดอำนาจในการขัดขวาง

ดังนั้น การตั้งลูกแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2566 เพื่อปลุกกระแสแล้วไปเอาจริงในปี 2567 จึงเป็นสิ่งสำคัญ-พลาดไม่ได้