ธนาธร อ่านธงก้าวไกล 2566 ลุ้นผลเลือกตั้งร่วมรัฐบาล เพื่อไทย-ภูมิใจไทย

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ปี 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของสมญานาม “ไพร่หมื่นล้าน” และผองเพื่อน ประกาศตัวเป็น “ทางเลือกใหม่” ของวงการการเมือง ตั้งพรรคอนาคตใหม่

1 ปีต่อมา พรรคอนาคตใหม่ของ “ธนาธร” เขย่าการเมืองทั้งกระดาน ด้วยการกวาด ส.ส. 80 ที่นั่ง

แต่แล้วอีก 1 ปีต่อมา พรรคอนาคตใหม่ของ “ธนาธร” ต้องถูกยุบพรรค เขาและเพื่อนกรรมการบริหารพรรคถูกเว้นวรรคการเมือง 10 ปี เขาตั้งคณะก้าวหน้าขึ้นมาทันทีทันใด ส่งไม้ต่อให้พรรคก้าวไกลเดินหน้าการเมืองในสภาต่อ

คณะก้าวหน้าและธนาธรหันกลับไปมุ่งมั่นการเมืองท้องถิ่น ในนามคณะก้าวหน้า “ธนาธร” เตรียมตัวที่จะมาเป็น “ผู้ช่วยการเลือกตั้ง” ให้กับพรรคก้าวไกล ถ้าได้รับการร้องขอ ในการเลือกตั้งปี 2566

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ธนาธร” มองเศรษฐกิจ-การเมืองไทยในปี 2566 และพรรคก้าวไกลจะไปอยู่ตรงไหนบนกระดานการเมืองหลังเลือกตั้ง

เศรษฐกิจไทย 2566

ธนาธรตอบคำถามแรกถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในมุมมอง “ประธานคณะก้าวหน้า” ว่าผมมองเห็นโอกาสของประเทศเยอะแยะไปหมด 2-3 ปี หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ มีโอกาสทำให้เราเห็นปัญหาของพี่น้องชนบท ประชาชน ที่เอามาสร้างเป็นดีมานด์ สร้างเป็นความต้องการทางธุรกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้

ปี 2566 มีการเลือกตั้งใหม่ น่าสนใจว่าถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล สามารถนำไอเดีย เอาปัญหาสังคมเป็นตัวตั้ง และให้ปัญหาสังคมเป็นดีมานด์ เพื่อให้เกิด solution ในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนทั้งซัพพลายเชน

เช่น น้ำประปาดื่มได้ คือเศรษฐกิจ ผมคำนวณจากประสบการณ์ 2 ปีที่ผ่านมา จากการไปดูโรงผลิตตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ 8 หมื่นล้านบาท ที่ local content ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ ลงทุนปุ๊บเงินไม่หาย 8 หมื่นล้าน อยู่ในประเทศทั้งหมด

ถ้าเราเอาระบบน้ำประปาทั้งประเทศเป็น IOT (internet of thing) ทั้งหมด มาทำ สมาร์ทมิเตอร์ ซึ่งมีส่วนประกอบทองแดง ยางพารา มีชิป ครัวเรือนในประเทศไทย 20 ล้านครัวเรือน ต้องใช้สมาร์ทมิเตอร์ 20 ล้านชุด ยังไม่นับโรงงานอุตสาหกรรมและคอนโดฯ

20 ล้านครัวเรือนต้องใช้ 20 ล้านชุด รวมกัน 4 หมื่นล้านบาท สร้าง Smart industry ได้ในประเทศ และปริมาณเท่านี้น่าจะเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อการเริ่มผลิตชิปในประเทศไทย

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีน้ำที่สูญเสีย 30% ไปกับท่อประปาแตก มีน้ำที่มีราคา เพราะใช้ไฟฟ้าสูบน้ำมาผลิต ใส่สารเคมีต่าง ๆ ผ่านกระบวนการ มีต้นทุนไปแล้ว ถ้าเราจะแก้ปัญหานี้ ง่ายนิดเดียว
ติดเซ็นเซอร์ทั้งระบบท่อ นี่คือเศรษฐกิจทั้งนั้น

8 ปี สามารถทำสำเร็จได้ทั้งประเทศ เฉพาะเรื่องน้ำอย่างเดียวสร้างเศรษฐกิจ แสนกว่าล้านบาท ตอบโจทย์คุณภาพชีวิต ทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศ ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ในประเทศ

ยังมีเรื่องอีกมหาศาลที่สร้างเศรษฐกิจในประเทศได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อนาคตเศรษฐกิจอยู่ในกำมือของเรา เพราะเวลาไปโรดโชว์เศรษฐกิจต่างประเทศ เท่ากับเอาอนาคตทางเศรษฐกิจไปฝากอยู่ในกำมือของ CEO เขา ว่าจะขยายกำลังการผลิตในเมืองไทยหรือเปล่า

“นี่คุณกำหนดเกมได้เอง เป็นเกมของเราที่จะทำให้เกิดซัพพลายเชน แกะสมาร์ทมิเตอร์ออกมา เจอยางพารา ที่มาจากเกษตรกร เจอทองแดง จากอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เจอพลาสติก เจอชิป ชิปคือหัวใจของอนาคต แล้วจะเริ่มผลิตอย่างไรถ้ารัฐบาลไม่ขับเคลื่อน ไปเชิญต่างชาติไปลงทุนเหรอ… ใครจะมา เราจะเอาอะไรไปแข่งให้เขามาลงทุน”

“เพราะตอนนี้ประเทศต่าง ๆ เขาแย่งบริษัทผลิตชิปไปลงทุน ดังนั้น เราต้องสร้างดีมานด์แล้วลงทุนเอง นี่ยังไม่นับตัวคูณ ยังไม่นับ multiplier ทางเศรษฐกิจ แสนกว่าล้านบาทเป็นอย่างน้อย”

แก้โจทย์ใหญ่ ทุนนิยมไทย

ธนาธรฉายภาพ “ทุนนิยมไทย-ในธุรกิจไทย” ว่า ถ้าธุรกิจไหนมีกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำอยู่ ธุรกิจนั้นจะปิด ไม่เกิดการแข่งขัน ธุรกิจไหนที่คนกลุ่มนี้ไม่อยู่จะเปิดเสรีแล้วต่างชาติเอาไปหมด นี่คือภาพรวมทุนนิยมไทย

ส่วนที่ปิดคือปิดสนิท แต่ส่วนที่เปิด คิดอย่างเดียวคือดึงลงทุนจากต่างชาติ ไม่เคยคิดที่จะสร้างเศรษฐกิจในประเทศ ต่างกับต่างประเทศที่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง

ดังนั้น รัฐบาลควรจะเข้าไปมีบทบาท พาบริษัทไทยไประดับโลก ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย จำเป็นต้องมี big corporate แต่บทบาทไม่ใช่มาขูดรีดแสวงหากำไรในประเทศ แต่กลุ่มทุนแบบนี้ต้องออกไปแข่งกับโลกาภิวัตน์ ไปดึง market share จากตลาดโลกเข้ามาเมืองไทย แล้วมาแบ่งกัน แล้วค่อยว่ากัน นายทุนได้เท่าไหร่ แรงงานเป็นเท่าไหร่ ภาษีเป็นเท่าไหร่ นี่คือหน้าที่ทุนใหญ่

รัฐบาลต้องผลักดัน แล้วคุยกับทุนใหญ่ แปรรูปขั้นกลาง แปรรูปขั้นต้น เลิกทำ ให้ SMEs เริ่มทำ ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้าไปคุยให้เป็นวาระของประเทศไทย ถ้าเราไม่ทำ โอกาสในการแข่งขัน 10-20 ปี แย่มาก

นอกจากนี้ เราต้องมีเหมือนญี่ปุ่น เวลาเขาจะมาลงทุนในประเทศ จะมีบริษัทมา สมาคมการค้ามา ธนาคารมาทั้งประเทศ และซัพพลายเออร์มาด้วย เราต้องมีแบบนี้

“และที่ที่เราไปได้ และเป็นจุดเริ่มต้นคือ ภูมิภาคอาเซียน กัมพูชา เวียดนาม ลาว พม่า ถ้าเรากุมหัวหาดไม่ได้ คุณไม่ต้องไปที่อื่น corporate ไทยกับรัฐไทยต้องเป็นพี่เบิ้มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

รัฐต้องผลักดันเศรษฐกิจ เปิดประตูบานใหม่ และแก้ปัญหาสังคมได้ด้วย

รัฐบาลต้องทะเยอทะยาน

ส่วนหน้าที่ของรัฐบาลไทย “ธนาธร” กล่าวว่า อย่างแรกต้องมีความทะเยอทะยาน ต้องทำให้ได้ เช่น รถเมล์ไฟฟ้า มีประเทศน่าอยู่ที่ไหนไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีบ้าง… ไม่มีเลย รถเมล์ไฟฟ้าทำไมผลิตในประเทศไทยไม่ได้ รถเมล์ไฟฟ้าผลิตได้ทันที มีรถเมล์ที่ตรงเวลา สะอาด สะดวก ราคาถูก ประชาชนเข้าถึงได้ ต้องใช้รถยนต์มหาศาล แค่ กทม.ต้องใช้ 1 หมื่นคัน ส่วนต่างจังหวัด จังหวัดละ 1 พันคัน รวม 7.7 หมื่นคัน คันละ 3 ล้าน ก็เกิดการผลิตในประเทศแสนกว่าล้าน

“เรากำลังพูดถึงอนาคต คิดว่าเป็นทางเลือกของประเทศไทยไหม…ไม่ใช่ แต่เป็นอนาคตที่ประเทศไทยต้องไปอยู่แล้ว ไม่ใช่ทางเลือก เดินไปในทิศทางที่หนีไม่พ้น คำถามคือ เดินด้วยเวลาเท่าไหร่ 30 ปี 40 ปี หรือ 20 ปี คุณจะเป็น technology importer หรือ technology exporter จะสร้างอุตสาหกรรมพวกนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนมีงานทำไหม หรือจะนำเข้าของพวกนี้ตลอดไป ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ายังไงไปถึงตรงนั้นแน่ สำหรับผมไม่สายเกินไป ว่ากันตรงไปตรงมา สมาร์ทซิตี้ยังไม่เทกออฟด้วยซ้ำ”

อำนาจประยุทธ์เสื่อม

แต่ถ้ามีแต่วิสัยทัศน์อย่างเดียว แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ขับเคลื่อนได้ยาก “ธนาธร” ไม่แย้งข้อนี้…

“ถูกต้อง ต้องมีสองขา ทั้งบริหาร และนิติบัญญัติ เชื่อว่าสภา 2566 กฎหมายต่าง ๆ ที่คาดว่าพรรคก้าวไกลจะเสนอ เช่น พ.ร.บ.ขนส่งสาธารณะ พ.ร.บ.น้ำประปาดื่มได้ มีโอกาสผ่าน เพราะสภา 2566 จะมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายน้อยกว่าสภา 2562 เพราะไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ถึงต่อให้มี พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้คุมเบ็ดเสร็จ เลือกตั้งรอบที่แล้ว คสช.ต้องการต่ออำนาจตัวเอง คุมประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง เขียนรัฐธรรมนูญ ดึงนักการเมืองเข้ามา โดยใช้คดีไปขู่ บุญคุณความแค้นทดแทนกันหมดไปในปี 2562 แล้ว

แม้แต่ ส.ว.เวลาลงคะแนนช่วงต้นรัฐบาลโหวตกันเป็นหุ่นยนต์ แต่พอใกล้หมดสมัยผู้มีอำนาจกุมไม่ได้เหนียวแน่นเท่าเดิม ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภาเริ่มโหวตตามมโนสำนึกตนเองบ้าง และเชื่อว่าสภา 2566 จะดีกว่านี้ และถ้ากฎหมายของฝ่ายค้าน หรือรัฐบาลมีความสมเหตุสมผล เชื่อว่าจะผ่านสภา

เดิมพันพรรคก้าวไกล

ในฐานะที่คณะก้าวหน้าเป็นการเมืองขาคู่ขนานของพรรคก้าวไกล “ธนาธร” มั่นใจว่า พรรคก้าวไกลจะทำให้ดีที่สุดในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ และต้องได้เสียงมากกว่าเดิม เพื่อใช้เสียงต่อรองในสภา

“ทุกอย่างขึ้นอยู่กับจำนวนเสียงจริง ๆ ถ้ามีอำนาจต่อรองเยอะก็มีโอกาส แต่สมมุติได้ 30 เสียง ตัวก็เหลือนิดเดียว จะเสนอวาระอะไรก็ลำบากหน่อย แต่ถ้าเป็นพรรคอันดับสอง อันดับสาม อ่า… น้ำหนักก็จะเยอะหน่อย ดังนั้น ต้องดูหลังเลือกตั้งว่าประชาชนจะไว้วางใจพรรคก้าวไกลเท่าไหร่”

ในใจ “ธนาธร” คาดหวังว่าพรรคก้าวไกลจะพูดเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะภาพลักษณ์เป็นภาพการเมืองอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน คุณไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ดี ถ้าโครงสร้างทางการเมืองไม่ดี…มันทำไม่ได้

แต่การปรับโครงสร้างทางการเมืองกว่าจะโยงกลับมาถึงเรื่องเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชนมันไกลไปหน่อย อย่างเรื่องกระจายอำนาจ เป็นเรื่องเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย

“พรรคก้าวไกลอาจ (ถอนหายใจ) อธิบายน้อยไป คงต้องปรับตัวเรื่องนี้ พูดเรื่องเศรษฐกิจให้มากขึ้น”

ธนาธรกับเสียง “ล้มเจ้า”

เมื่อถามถึงข้อครหา “ล้มเจ้า” ธนาธรบอกว่า ตอนนี้ประชาชนเข้าใจขึ้น ดีขึ้นเยอะ เรื่องล้มเจ้าจะมาเมื่อไหร่…มาทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีการเลือกตั้งเรื่องพวกนี้จะไม่ยุ่งกับผมเลย

แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ใช้ได้ผลน้อยลงเรื่อย ๆ ไม่แน่ใจประชาชนเข้าใจวาระปฏิรูปสถาบันของเรามากขึ้น หรือเป็นเพราะเหตุอันใดไม่ทราบได้ แต่การทำลายในข้อหานี้มีประสิทธิภาพน้อยลงเรื่อย ๆ น้อยกว่าช่วงอนาคตใหม่ น้อยกว่าช่วง 2561 เยอะ

ยืนยันอีกครั้งล้มล้างเป็นไปไม่ได้หรอก จะทำอย่างไร ตอนนี้เป็นสังคมสมัยใหม่ไปแล้ว ไม่มีทางจับอาวุธมาฆ่าล้างกันในสังคม ไม่มีทาง ทางออกเดียวที่จะ soft landing คือ ปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูประบบราชการ วาระพวกนี้เป็นวาระหัวใจของประเทศทั้งนั้น

ขั้วรัฐบาลในอนาคต

ถามถึงสมมุติฐาน พรรคฝ่ายประชาธิปไตย สุดท้ายแล้ว เพื่อไทย-ก้าวไกล อาจไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกัน “ธนาธร” ย้อนถามทันที “ก้าวไกลเป็นรัฐบาลเหรอ…” (หัวเราะ)

เขายืนยันว่า การเมืองหลังการเลือกตั้งต้องดูเสียง แต่เชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

“กับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่ง พล.อ.ประวิตรเป็นใคร เป็นผู้นำรัฐประหาร 2557 ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลไม่ร่วม นึกไม่ออกว่าจะร่วมงานได้อย่างไร ในเมื่อมีค่านิยมที่ไม่เหมือนกันเลย”

“เพราะจะร่วมกันต้องมีเชื่ออะไรบางอย่างเหมือนกันถึงร่วมกันได้ ถ้าไม่มีพวกนี้ก็ร่วมกันเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียว จึงนึกไม่ออกว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะร่วมงานกับ พล.อ.ประวิตรด้วยเรื่องอะไร”

แล้วถ้าร่วมงานเพื่อไทย บวกภูมิใจไทย ไหวไหม ? ธนาธรตอบว่า ก็ต้องดูเงื่อนไข ดูจำนวนเสียง คงตอบแทนพรรคก้าวไกลไม่ได้ แต่ที่ชัดเจน 1 อย่างคือ กับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ร่วมงานกันไม่ได้ เพราะผิดค่านิยมพื้นฐานสังคมไทยที่เราอยากเห็น

ธนาธรไม่ลืมว่า 1.5 ล้านแต้มที่เทมาให้พรรคอนาคตใหม่ มาจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) คำนวณดูแล้ว พรรคอนาคตใหม่ได้ 6 ล้านแต้ม ประมาณ 1.5 ล้านแต้มที่เป็น ทษช.เอฟเฟ็กต์ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้านับคะแนนดิบผมว่าพรรคก้าวไกลไม่น่าจะน้อยกว่าพรรคอนาคตใหม่ ถ้าเป็นคะแนนดิบ

ถ้าได้เท่าเดิมก็ถือว่าชนะแล้ว ดังนั้น ใบปาร์ตี้ลิสต์คิดว่ามี 2-3 เหตุผล ที่จะได้คะแนน เพราะ 1.ตลอด 4 ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นปีละ 8 แสนคน 4 ปีเท่ากับ 3.2 ล้านคน ไปใช้สิทธิประมาณ 65% 2.ผลงานในสภา 3.ผู้สมัครมีคุณภาพมากกว่าเดิม มีเวลาทำงานมากกว่าเดิม