
สื่อสภาตั้งฉายา สภาปี 65 “3 วันหนี 4 วันล่ม” ประธานชวน ได้ฉายา “ชวน ซวน เซ” ขณะที่ เต้ มงคลกิตต์ ได้ตำแหน่ง “ดาวดับ”
วันที่ 28 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อมวลชนประจำรัฐสภาร่วมกันลงความเห็นในการตั้งฉายาของรัฐสภาในปีนี้ เพื่อเป็นการสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยได้ตั้งฉายารัฐสภาผู้แทนราษฎรว่า “3 วันหนี 4 วันล่ม”
เนื่องจากตลอดการประชุมรอบปี’65 ของ ส.ส.ประสบปัญหาสภาล่มซ้ำซาก ทำให้การทำงานเกิดความล่าช้า ตั้งแต่วันเปิดสมัยประชุมจนส่งท้ายปี โดย ส.ส.ฝ่ายค้านเล่นเกมนับองค์ประชุม ทั้งที่ฝ่ายตนเองนั้นก็มาร่วมประชุมน้อย
เช่นเดียวกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ไร้ความรับผิดชอบในการรักษาองค์ประชุม ทั้งที่เป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภา มิหนำซ้ำช่วงท้ายวาระ ส.ส.ต่างหนีไปลงพื้นที่เพื่อทำคะแนนก่อนการเลือกตั้ง จนละเลยการมาประชุมสภา ซึ่งถือเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของผู้แทนฯ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นที่มาของฉายาข้างต้น
ฉายาวุฒิสภา : “ตรา ป.”
ที่ผ่านมายังคงทำหน้าที่รักษาประโยชน์ให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถูกมองว่าแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ กลุ่มที่สนับสนุน ป.ประยุทธ์ และกลุ่มที่สนับสนุน ป.ประวิตร เพราะการลงมติเรื่องสำคัญแต่ละครั้งจะต้องมีการส่งซิกมาจาก 2 ป. จนกระทั่งล่าสุด ช่วงปลายปีเริ่มเห็นชัดในขั้วของ ส.ว. ว่าจะเลือก ป.ใดเป็นนายกรัฐมนตรี
ฉายานายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร : ชวน ซวน เซ
จากที่เคยเป็นผู้ใหญ่ได้รับการเคารพและเชื่อฟังจาก ส.ส.รุ่นหลัง แต่จากการทำหน้าที่ตลอดปี’65 กลับไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายค้าน ต่างจากในอดีตที่สามารถยุติข้อขัดแย้งต่าง ๆ ได้ แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นผล ถูกลดความยำเกรง
ยิ่งไปกว่านั้น นายชวนยังถูก ส.ส.ท้าทาย จนหลายครั้งลงไปเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประสานของวิปรัฐบาลที่ไม่ดีพอ จนทำให้นายชวนเสียหลัก ซวนเซ ไปด้วย
ฉายานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา : พรเพชร พักก่อน
ควบคุมการประชุม มักโดน ส.ว.ป่วน เพื่อลองของ จนบางครั้งประธานแสดงความรู้สึกผ่านทางใบหน้า เช่นเดียวกับการขึ้นทำหน้าที่ประธานบนบัลลังก์ในการประชุมรัฐสภาครั้งใดมักไม่สามารถควบคุมการประชุมให้ราบรื่นได้
รวมทั้งบทบาทการทำหน้าที่ของนายพรเพชร มักถูก ส.ส.ทักท้วง ทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลเหมือนสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มากกว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบ จึงทำให้เกิดคำถามว่า นายพรเพชร ควรพักก่อนหรือไม่?
ฉายาผู้นำฝ่ายค้านในสภา ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย : หมอ(ง)ชลน่าน
แม้นายแพทย์ชลน่านจะมีความโดดเด่นในการทำหน้าที่ จนได้รับฉายาดาวเด่นปี 2564 แต่เมื่อได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และต่อมาได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านกลับหมอง อภิปรายในสภาไม่โดดเด่นเหมือนที่ผ่านมา ทำหน้าที่เพียงในนามหัวหน้าพรรคเท่านั้น ขาดอิสระ ทำงานภายใต้การควบคุมของบุคคลอื่น
ตำแหน่งดาวเด่นแห่งปี : ไม่มีใครได้ตำแหน่ง
ผู้สื่อข่าวรัฐสภาเห็นว่า ในปีนี้ “ไม่มีผู้ใดเหมาะสม” และโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว
ตำแหน่งดาวดับแห่งปี : มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์
ที่มีความโดดเด่นในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ ส.ส. โหนกระแสสังคมหาพื้นที่ยืนให้ตัวเอง เช่น คดีของนักแสดงสาว “แตงโม” หรือการว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงของ “โตโน่” รวมถึงกรณี “เรือหลวงสุโขทัยอับปาง” ล้วนแต่เป็นการขอมีซีน ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้อง และแสดงความเป็นผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่องทั้งที่ไม่ได้รู้จริง ดังนั้น แม้นายมงคลกิตติ์ จะพยายามหาแสงให้ตัวเองมากเพียงใด แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงดาวดับและตัวตลกการเมืองเท่านั้น
วาทะแห่งปี : นี่ครับคนปฏิวัติ ท่านนายกฯ คนเดียวซึ่งเป็นคำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ ชี้แจงที่ประชุมสภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อ 20 กรกฎาคม 2565
ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเหมือนจะไม่ยี่หระกับคำพูดดังกล่าว ในทางตรงกันข้ามกลับยกมือยิ้มยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิ ท่ามกลางเสียงปรบมือของ ส.ส.อย่างชอบใจทั้งที่ตัวเองมาจากการเลือกตั้ง
การพูดและกระทำเช่นนี้ในสภาที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติ เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ที่สำคัญการปฏิวัติเป็นการกระทำที่ผิดและทำลายระบอบประชาธิปไตย
ส่วนเหตุการณ์แห่งปี : ล้มสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหาร 500 กลับไปใช้สูตรหาร 100 เมื่อ 15 ส.ค. 2565
โดยมีความพยายามของ ส.ส.และ ส.ว. ทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ทันกำหนด 180 วัน เพื่อพลิกสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 500 กลับไปเป็นสูตรหาร 100 ตามร่างเดิม
ซึ่งเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ตลอดปี 2565 รัฐสภาวุ่นอยู่กับเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ช่วงชิงความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า โดยไม่ได้คำนึงว่าประชาชนจะได้อะไร
คู่กัดแห่งปี เป็นของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กับนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. (ตอบโต้กรณี ไม่ใช้หนี้ กยศ. เมื่อ 6 ก.ย. 2565)
ในแมตช์การประชุมรัฐสภาที่ทั้งคู่มีโอกาสประชุมร่วมกัน หลายครั้งเกิดวิวาทะโต้เถียงกันแบบไม่ลดราวาศอก ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นการกู้ยืมกองทุน กยศ.ของนายรังสิมันต์ ยกตัวอย่างเช่น ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกอำนาจการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ที่นายรังสิมันต์อภิปรายพาดพิงถึงที่มาของ ส.ว.บ่อย ๆ จนทำให้นายกิตติศักดิ์ประท้วงและดึงเข้าเรื่องกู้ยืมเงินเพื่อโจมตีกลับ โดยระบุว่าให้สำเหนียกตัวเอง เพราะยังไม่ยอมชำระหนี้ กยศ. และยังเป็น ส.ส.ปัดเศษ ซึ่งนายรังสิมันต์ชี้แจงกลับว่าได้ชำระหนี้มาโดยตลอดจนตอนนี้ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว
คนดีศรีสภา’65 : ปีนี้ซึ่งถือเป็นปีที่ 4 ที่ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ยังไม่เห็นว่าจะมี ส.ส. หรือ ส.ว.คนใด เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว
ทั้งนี้ การตั้งฉายาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ส.ส. และ ส.ว. เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติประจำทุกปีของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว.มาโดยตลอด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนขอเป็นกำลังใจให้ ส.ส. และ ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว มุ่งมั่น ตั้งใจ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วน ส.ส. และ ส.ว.ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ควรทบทวนปรับปรุงการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน