ประยุทธ์ พลิกตำราทหารสู่การเมือง ถ่วงดุลอำนาจคุม 3 พรรคอนุรักษนิยม

พล.อ.ประยุทธ์
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ลีลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีจังหวะรุก จังหวะถอยในเกมละครการเมือง โดยเฉพาะจังหวะที่เป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญในชีวิต

ไม่ว่าช่วงที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไม่ว่าครั้งที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก

ไม่ว่าครั้งที่ตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ

รวมถึงครั้งล่าสุดที่จะขยับไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ทว่า ในทุก ๆ ครั้งจะมีจังหวะที่คล้ายกัน ถ้าย้อนประวัติศาสตร์สำรวจวิวัฒนาการการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์

ผบ.ทบ.แทงกั๊กปฏิวัติ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ข่าวการ “ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ” ติดตัว พล.อ.ประยุทธ์ มาตั้งแต่รับตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ.

พลันที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ก้าวขึ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ. แทน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในปี 2553 เป็นช่วงที่เพิ่งสิ้นการสู้รบที่แยกราชประสงค์ และกำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้งในปี 2554

ตัวเต็งที่จะมาเป็นรัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทย คู่ขัดแย้งกองทัพในช่วงเวลานั้น

เสียงการปฏิวัติรัฐประหารจึงดังขึ้น แต่คำตอบที่ได้จาก พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแล้วเป็นรัฐบาลจะมีการปฏิวัติหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า “ใครจะทำ ไม่มีหรอก เรื่องพวกนี้อย่าไปคิด ไม่มีประโยชน์ ควรเอาสมองไปคิดเรื่องการทำงานจะดีกว่า”

อีกครั้งเมื่อ 30 มิถุนายน 2554 ก่อนการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ว่า “ทหารขอยืนหยัดตรงกลางไม่ใช่ความเป็นกลางทางการเมือง แต่เป็นกลางของทหารคือเดินไปในเส้นทางที่เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบตามกฎหมาย และทำหน้าที่เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน”

เวลาผ่านมา 2 ปี ช่วงที่พรรคเพื่อไทยถูกกลุ่ม กปปส.ไล่ต้อนจากพิษ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันมาตลอดว่าไม่รัฐประหาร

แต่ 2 วันก่อนการรัฐประหารจะเกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ที่ประกาศกฎอัยการศึกเรียกคู่ขัดแย้ง 7 ฝ่าย ปิดห้องคุยหาทางออกประเทศ กล่าวเมื่อ 20 พฤษภาคม 2557 ว่า

“การรัฐประหารนั้น เป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ สำหรับสถานะรัฐบาลและการรายงานให้รัฐบาลทราบหลังประกาศใช้กฎอัยการศึก ขณะนี้รัฐบาลอยู่ไหนไม่ทราบ แต่ถ้าเจอจะรายงานให้ทราบถึงสถานการณ์

ที่สุดแล้ว กอ.รส. ก็แปลงร่างมาเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในที่สุด

นักการเมืองที่เคยเป็นทหาร

หลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จากการรวบรวมข้อมูลของ บีบีซี.ไทย พบว่า “พล.อ.ประยุทธ์” พูดว่า “ไม่ได้เป็นนักการเมือง” ถึง 9 ครั้ง ตั้งแต่ 2557- 2561

อาทิ 24 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรี และคสช. ว่า “การเมืองคือการเมือง ผมไม่ใช่นักการเมือง แต่ต้องทำงานภายใต้แรงกดดันของสื่อและต่างประเทศ”

22 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกว่า

“ผมเป็นผู้ใหญ่และเป็นทหาร เลยขี้โมโหไปหน่อย ผมไม่ใช่นักการเมือง อย่าหวังว่าผมจะพูดเพราะ พูดเพราะแล้วโกหก ผมไม่ทำ”

28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างพบปะประชาชน 500 คน ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา ว่า “ผมเป็นนายกฯ ที่ไม่เอาใจคน ผมไม่ใช่นักการเมือง ผมบริหารงานในแบบของผม ดูแลประชาชนโดยไม่เลือกว่าใครสนับสนุนผม”

แต่แล้ว 3 มกราคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงปีที่พรรคการเมืองเริ่มขยับ เพื่อการเลือกตั้งในปี 2562 “วันนี้เป็นวันแห่งความสุข เป็นวันแห่งรอยยิ้ม ผมก็ยิ้มเยอะ ๆ เมื่อก่อนผมยิ้มแล้วหุบเร็ว เพราะเป็นคนไม่ค่อยยิ้มเท่าไหร่ หน้าเป็นแบบนี้”

“แต่วันนี้ผมต้องเปลี่ยนแปลงเพราะผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร มันก็ติดนิสัยทหารอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดคือประชาชน และไม่ใช่ประชาชนของผม ประชาชนของประเทศไทย และไม่ใช่ของพรรคไหน”

แทงกั๊กนายกฯ พปชร.

จากวันที่เอ่ยปาก “นักการเมืองที่เคยเป็นทหาร” พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจลงเล่นการเมืองเพื่อรักษาสิ่งที่ คสช.ทำมาตลอด 5 ปี โดยเกิดคำถามในขณะนั้นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะรับตำแหน่งนายกฯ ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

30 มกราคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “มีหลายพรรคมั้ง ขอดูก่อนสิ หลายพรรคก็สนับสนุนเรา แต่ปัญหาคือเลือกได้เพียงพรรคเดียว ดูก่อนนโยบายเขาเป็นอย่างไร”

วันรุ่งขึ้น 31 มกราคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกครั้ง ถึงพรรคพลังประชารัฐมีมติให้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคว่า “วันนี้ยังไม่มีการทาบทามมา ที่พรรคเสนอชื่อผม ก็เป็นเรื่องของเขา เขาเชิญผมมาเมื่อไหร่ ก็มีเวลาไปถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เขาเชิญผมมาเมื่อไหร่ผมก็รับและยินดี ขอบคุณนะ แต่ยังไม่รับ ขอบคุณที่เชิญ”

แต่ในที่สุด 8 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกแถลงการณ์ ตอบรับเข้าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ โดยระบุว่า

“การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ง่ายนัก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประเทศ ถึงแม้ก่อนหน้านี้ผมจะเป็นทหารมาตลอดชีวิต แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่พร้อมจะสละชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย และผมมีความมั่นใจ ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะสามารถร่วมมือร่วมใจกับพี่น้องประชาชน นำพาประเทศของเราก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างมีความสงบสุข มีความสามัคคี ไม่มีความขัดแย้งในสังคมอีกต่อไป”

มาถึงปัจจุบัน ถึงคิวที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจทางการเมืองอีกครั้ง

กว่าจะเปิดเผยจุดยืนทางการเมืองก็ “แทงกั๊ก” หลายตลบ

พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯต่ออีก 2 ปี โดยกล่าวเมื่อ 6 ธันวาคม 2565

“ก็ผมก็อยู่ ถ้าสมมติว่าผมยังต้องอยู่ ก็อยู่ได้แค่ปี’68 เท่านั้นแหละ”

“ก็ 2 ปี ก็จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และจากนั้นต่อมาก็จะมีคนใหม่ที่เหมาะสม ประชาชนยอมรับ และทำต่อเท่านั้นเอง”

และวันประวัติศาสตร์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศจะไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ 23 ธันวาคม 2565

“วันนี้จำเป็นต้องพูดวันนี้ เพราะเกรงว่า ถ้าไม่พูดก็จะไปกันเรื่อย วิพากษ์วิจารณ์กันไปเรื่อย ผมก็ตัดสินใจแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนผมเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นศัตรูกัน”

ด้วยลีลาแบบนี้สามารถคุมกำลัง ส.ส. นักเลือกตั้งฝ่ายอนุรักษนิยม 3 พรรค ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคใหม่ ที่ชื่อว่า รวมไทยสร้างชาติ