สภาล่ม 15 ครั้ง เกมการเมือง-เผางบดูงานต่างประเทศ

สภาผู้แทน สภาล่ม

นับสถิติตั้งแต่ปี 2562 -2565 สภาล่มซ้ำซาก 15 ครั้ง ฝีแตกในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของสภาผู้ทรงเกียรติ

ครั้งแรก วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

ภายหลังผู้เสนอญัตติได้อภิปรายสรุปแล้ว นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะผู้เสนอญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเพื่อศึกษาผลกระทบการบังคับใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ ได้ขอถอนญัตติดังกล่าว ออกจากระเบียบวาระการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติยินยอมให้ถอนได้ ก่อนที่ที่ประชุมจะได้ลงมติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่า องค์ประชุมไม่ครบ จึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 2 วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562

ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระเรื่องด่วน โดยเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 คือ ญัตติด่วน 6 เรื่อง ได้แก่

1.ญัตติด่วน เรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44

2.ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบและหาแนวทางแก้ไข ผลจากประกาศและคำสั่งคณะปฏิวัติคณะต่าง ๆ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและศึกษาผลกระทบและความเหมาะสมของกฎหมายที่บัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อหาแนวทางปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

3.ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบของนโยบายทวงคืนผืนป่า และผลกระทบของผู้ถูกดำเนินคดีจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 และ 66/2557

4.ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ

5.ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาตรา 44 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

6.ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบและผลงานของนโยบายทวงคืนผืนป่า

ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ จึงได้สั่งปิดการประชุม

ที่รัฐสภา ระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565

ครั้งที่ 3 วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

ภายหลังการอภิปรายรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนตุลาคม –ธันวาคม 2562) ของสมาชิกฯ โดยมีรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตอบชี้แจง ในระหว่างการอภิปราย มีสมาชิกฯเสนอญัตติขอให้นับองค์ประชุม ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบองค์ประชุมปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ จึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 4 วันที่ 30 มิถุนายน 2564

ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 6 เพิ่มหมวด 2/1 มาตรา 56/1 มาตรา 56/2 มาตรา 56/3 และมาตรา 56/4 ร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติในมาตราดังกล่าว ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่า มีจำนวนสมาชิกฯ ไม่ครบองค์ประชุม ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 5 วันที่ 17 ธันวาคม 2564

ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระที่ 4 เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว คือ รายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าว ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุมได้ดำเนินการตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่า มีจำนวนสมาชิกฯ ไม่ครบองค์ประชุม รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง จึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 6 วันที่ 19 มกราคม 2565

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ และผู้เสนอ ได้แถลงหลักการและเหตุผล ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ทีละฉบับ รวม 4 ฉบับ ตามลำดับ มีสมาชิกฯ อภิปราย โดยมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ผลัดเปลี่ยนปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นได้มีสมาชิกฯ เสนอขอนับองค์ประชุม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุมจึงได้สั่งให้นับองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง จึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 7 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565

เมื่อผู้เสนอได้แถลงหลักการและเหตุผล ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สุราก้าวหน้า) โดยมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ผลัดเปลี่ยนปฏิบัติหน้าที่ ภายหลังสมาชิกฯ อภิปราย คณะรัฐมนตรีได้ขอรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปพิจารณาก่อนรับหลักการ โดยให้รอการพิจารณาไว้ภายในกำหนดเวลา 60 วัน จากนั้นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุมได้ด าเนินการตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่ามีจำนวนสมาชิกฯไม่ครบองค์ประชุม จึงได้สั่งปิดการประชุม

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565

ครั้งที่ 8 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565

เมื่อรองประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการได้เสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน สมาชิกฯ อภิปราย โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่ต่อรองประธานคณะกรรมาธิการ กรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการ ตอบชี้แจง ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติ ได้มีสมาชิกฯ เสนอขอนับองค์ประชุม ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้สั่งให้นับองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ จึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 9 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565

ที่ประชุมรับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ภายหลังการอภิปรายของสมาชิกฯ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตอบชี้แจง

จากนั้น ได้มีสมาชิกฯ ขอนับองค์ประชุม ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่ามีจ านวนสมาชิกฯไม่ครบองค์ประชุม จึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 10 วันที่ 15 กันยายน 2565

ได้มีสมาชิกฯ เสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวม 2 ฉบับ

เมื่อผู้เสนอญัตติทั้ง 2 ฉบับ ได้แถลงเหตุผล ทีละฉบับ ตามลำดับโดยมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ผลัดเปลี่ยนปฏิบัติหน้าที่ ภายหลังการอภิปรายของสมาชิกฯ ที่ประชุมได้ลงมติในญัตติดังกล่าว ปรากฏว่ามีสมาชิกฯ ไม่ครบองค์ประชุม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุมจึงสั่งปิดประชุม

ครั้งที่ 11 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565

รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ญัตติเพื่อพิจารณาศึกษาสอบหาข้อเท็จจริงกรณีการปิดอ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่ เมื่อประธานคณะกรรมาธิการและที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการได้เสนอรายงาน สมาชิกฯ อภิปราย โดยมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่งผลัดเปลี่ยนปฏิบัติหน้าที่ ประธานคณะกรรมาธิการ ตอบชี้แจง ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุมได้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบจึงสั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 12 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565

ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 7 แล้วเรียงตามลำดับมาตราจนถึงมาตรา 9/1 ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. …. จากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบจึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 13 วันที่ 1 ธันวาคม 2565

ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 9/1 ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. …. ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบจึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 14 วันที่ 7 ธันวาคม 2565

ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาระเบียบวาระที่ 4 เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ….

ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 9/1 ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบจึงได้สั่งปิดการประชุม

ครั้งที่ 15 วันที่ 21 ธันวาคม 2565

ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 2 ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว แล้วเรียงตามลำดับมาตรา โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ผลัดเปลี่ยนปฏิบัติหน้าที่ ที่ประชุมได้พิจารณาจนถึงมาตรา 7/4 รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ได้ตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบจึงได้สั่งปิดการประชุม

อนุทิน สภา ประชุมสภาร่วม

ฝีแตก 3 เดือนสภาก่อนหมดวาระ

การออกมากรีดของ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร-ประธานรัฐสภา ถึงเหตุผลสภาล่มซ้ำซาก เพราะ ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ที่มีถึง 35 คณะ ส่วนหนึ่ง เดินทางไปดูงานต่างประเทศ (ญี่ปุ่น)

จึงเป็นเพียง “ฝีแตก” ของสภาในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนครบวาระ

ปัจจุบันพระราชกฤษฎีกา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2560 ที่นำมาใช้โดยอนุโลมในการ “การเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว” มาใช้บังคับแก่การเดินทางไปราชการต่างประเทศของ ส.ส. หรือ ส.ว.

โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับนายกรัฐมนตรี รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับสิทธิในการอัตราเดียวกับรองนายกรัฐมนตรี

ส.ส.และส.ว.ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง

โดยการเดินทางไปราชการต่างประเทศโดยเครื่องบินจากประเทศไทยไปต่างประเทศ หรือ จากต่างประเทศกลับประเทศไทย หรือ การเดินทางในต่างประเทศ สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ให้เดินทางโดย “ชั้นหนึ่ง”

1.หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาล 2.ประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภา 3.ประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา 4.ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 5.รัฐมนตรี

6.ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า สมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

การเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวที่จะมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจะต้องได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ ประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี

เงินประจำตำแหน่ง-เงินเพิ่มหลักแสน

สำหรับบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ.2555 กำหนดให้

  • ประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 50,000 บาทต่อเดือน
  • ประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 45,500 บาทต่อเดือน
  • รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,500 บาทต่อเดือน
  • รองประธานวุฒิสภา เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,500 บาทต่อเดือน
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,500 บาทต่อเดือน
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,330 บาทต่อเดือน
  • สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาทต่อเดือน เงินเพิ่ม 42,330 บาทต่อเดือน

ประธานสภา เงินเดือน

ตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท

ขณะบัญชีอัตราสิทธิประโยชน์สวัสดิการรักษาพยาบาลของ ส.ส.และ ส.ว.ดังนี้

1.การรักษาพยาบาลในสถาพยาบาลของทางราชการและเอกชน

กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน 1.ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 4,000 บาท (รวมค่าบริการการพยาบาล) ค่าห้อง ไอ.ซี.ยู/ซี.ซี.ยู./วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 10,000 บาท (ไม่รวมค่าผ่าตัด)

2.ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท ค่ารถพยายาล จำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท

3.ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 120,000 บาท (ให้หมายความถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด เช่น ค่าแพทย์ผ่าตัด ค่าวิสัญญีแพทย์ ค่าใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในห้องผ่าตัด ค่าเครื่องมือดมยา ค่าผ่าตัดด้วยกล้อง)

4.ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 1,000 บาท

5.ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง ไม่เกิน 4,000 บาท

6.การคลอดบุตร แบ่งเป็น คลอดธรรมชาติ ไม่เกิน 20,000 บาท คลอดโดยการผ่าตัด ไม่เกิน 40,000 บาท

7.การรักษาทันตกรรม/ปี ไม่เกิน 5,000 บาท

กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี ไม่เกิน 90,000 บาท อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน/ครั้ง ไม่เกิน 20,000 บาท (รวมถึงการรักษาภายใน 15 วัน โดยไม่รวมกับค่าใช้จ่ายทั่วไป) 2.การตรวจสุขภาพประจำปี ไม่เกิน 7,000 บาท

สิทธิประโยชน์ ส.ส.

เบี้ยประชุม กมธ.ครั้งละ 1,500 บาท

นอกจากสิทธิประโยชน์จากค่าเดินทางในประเทศ-ต่างประเทศ และเงินประจำตำแหน่ง-เงินเพิ่ม สิทธิรักษาพยาบาลแล้ว กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรรมาธิการวุฒิสภา กรรมาธิการรัฐสภาและกรรมาธิการร่วมกันของสภาทั้งสอง ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง เฉพาะครั้งที่มาประชุมในอัตราครั้งละ 1,500 บาท

อนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร อนุกรรมาธิการวุฒิสภา อนุกรรมการรัฐสภา และอนุกรรมาธิการร่วมกันของสภาทั้งสอง ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง เฉพาะครั้งที่มาประชุมในอัตราครั้งละ 800 บาท

ผู้ช่วยเลขานุการคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการซึ่งทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายของ ส.ส. ส.ว. และรัฐสภา ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง เฉพาะครั้งที่มาประชุมในอัตราครั้งละ 1,000 บาท

กินหรู-อยู่อย่างสบายด้วยเงินภาษีของประชาชน