สภาล่ม ประธานรัฐสภากดออดเรียก 2 รอบ ส.ว.-ส.ส. ไม่เข้าห้องประชุม เลื่อนลงมติกฎหมายเลือกตั้งไม่มีกำหนด
วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ที่เหลืออยู่ 5 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 8 ถึง มาตรา 12 ที่ค้างมาจากการประชุมครั้งก่อน
ก่อนเข้าวาระนายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีสมาชิกวุฒิสภาลงชื่อ 152 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงชื่อ 216 คน รวม 368 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่ง จึงถือว่าครบองค์ประชุม นอกจากนี้ นายชวน ยังได้แจ้งที่ประชุมว่า วันที่มีสมาชิกลาพิเศษจำนวน 32 คน ลาเพราะติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4 คน และลาที่ไม่ได้เจ็บป่วยจำนวน 28 คน
เหนือสิ่งอื่นใดต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่กรุณามาประชุม อย่างน้อยร่างกฎหมายที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ซึ่งเหลืออยู่ 5 มาตรา จะได้ผ่านไปได้ จากนั้น ที่ประชุมได้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ….ในมาตรา 8 ต่อจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 9 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้ลุกขึ้นหารือเสนอญัตติขอให้ที่ประชุมเลื่อนวาระ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. … ขึ้นมาพิจารณาแทรกชั่วคราว เพราะมีความจำเป็น
ทำให้ นายชวนได้ชี้แจงว่า เรากำลังดำเนินการไปตามลำดับของมาตรา และไม่มีอะไรต้องมาแทรก ตอนนี้ต้องทำให้จบ แต่ นพ.ระวียังคงยืนยันโดยยกข้อบังคับการประชุมข้อ 130 132 และ 133 ที่ระบุว่าสามารถเลื่อนญัตติแทรกได้ โดยญัตติที่ค้างการพิจารณาอยู่จะไม่ตกไป แต่นายชวนยังคงให้เป็นไปตามระเบียบวาระ
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 9 จนถึงมาตรา 12 ในเวลา 10.38 น. ก่อนจะโหวตลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 442 ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 6 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น ก่อนเข้าสู่วาระพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว รวมถึงมาตราที่แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 24/1 และมาตรา 26 เพื่อให้สอดคล้องกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นหารือก่อนเข้าระเบียบวาระ โดยเสนอญัตติขอให้มีการตรวจสอบองค์ประชุม เนื่องจากรัฐสภากำลังจะพิจารณาเป็นร่างกฎหมายสำคัญมากต่อประเทศชาติและรัฐสภา ความเห็นขณะนี้เราพิจารณาถึงมาตรา 24 และผ่านมาตรา 23 มีความเห็นแตกต่างมาก การเสนอคำแปรญัตติการสงวนความเห็นให้เป็นแบบระบบจัดสรรปันส่วนผสม แบบบัตรสองใบเป็นสูตรหารด้วย 500 เปลี่ยนไปจากกฎหมายหลัก ที่เป็นระบบคู่ขนาน
ก่อนจะพิจารณากฎหมายนี้องค์ประชุมมีความสำคัญ ต้องตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อให้มีความชัดเจน ในฝ่ายไม่เห็นด้วยคือเสียงข้างน้อยเป็นสิทธิ การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเคารพเสียงข้างน้อยที่บอกกล่าวไม่เห็นด้วยการกระทำของเสียงข้างมาก เป็นเหตุการณ์ที่ใช้มาตลอด การใช้องค์ประชุมเพื่อไม่ให้องค์ประชุมดำเนินได้เพื่อบอกเสียงข้างมากในการระงับยับยั้งว่ากฎหมายไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า เหตุผลที่เสียงข้างน้อยระงับยับยั้ง เรื่องที่หนึ่งเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนจากระบบหาร 500 มาเป็นหาร 100 ในการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ สิ่งที่พบคือการที่สมาชิกรัฐสภาจะเดินตามกระบวนการพิจารณา เมื่อถึงวาระที่ 3 ตอนนี้สมาชิกรัฐสภา 478 กึ่งหนึ่ง 364 ต้องได้ 365 ขึ้นไปถึงจะผ่านกฎหมายนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเสียงข้างมากจะไม่ถึง 365 เสียง คือทำให้กฎหมายตกไป เริ่มต้นกันใหม่
แต่จะเป็นเหตุให้แก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปสู่ระบบเดิมที่ทำลายระบบรัฐสภาอย่างย่อยยับ ถ้ากลับไปตรงนั้นคงยอมไม่ได้ แม้หาร 500 ผ่านวาระที่ 3 ประธานรัฐสภาส่งให้ กกต. และถ้าส่งเฉพาะ กกต. คงตอบมาแน่ว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้าตอบมาแค่นี้ไม่มีหน้าที่วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะแก้ไขอย่างไร ถ้าแก้ไข
การยื่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเข้าชื่อว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญทักท้วงมาแก้ไข ถ้าประธานส่งช่องทางศาลรัฐธรรมนูญจะดีที่สุดจะทำให้แก้ไขได้ใน 30 วัน สาระสำคัญตอนนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง ถ้าศาลวินิจฉัยว่าขัดก็จะทำให้ร่าง พ.ร.ป.ตกไป ไม่มีกฎหมายใช้ในการเลือกตั้ง ถ้ามีเหตุการณ์ในระยะนี้ก็จะเป็นรัฐบาลรักษาการยาวไม่มีการเเลือกตั้ง
“ถ้าจะออก พ.ร.ก. หรือประกาศ กกต.ได้หรือไม่ มีความเห็นสองทาง เชื่อว่า กกต.และรัฐบาลไม่กล้า ออก พ.ร.ก.และประกาศ กกต. เพราะรัฐธรรมนูญให้ใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.ก.มา รัฐธรรมนูญเขียนไว้ใช้เหมือน พ.ร.บ. เป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ไม่สามารถใช้เป็น พ.ร.ป. เชื่อว่ารัฐบาลไม่กล้าออก พ.ร.ก. ทำให้รัฐบาลรักษาการยาว” นพ.ชลน่านกล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า ดังนั้นเพื่อให้ได้กฎหมายที่เราแก้ไขมาเป็นไปตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นขอให้รัฐสภาช่วยการพิจารณาก่อนพิจารณาจะตรวจสอบองค์ประชุมให้ชัดเจนมีเสียงข้างมากรองรับการพิจารณาหรือไม่ ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเห็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะพิจารณา จึงขออนุญาตประธานตรวจสอบองค์ประชุม
จากนั้น นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นทักท้วง และไม่เห็นด้วยกับการเสนอญัตตินับองค์ประชุม โดยเห็นว่ารัฐสภาควรพิจารณากฎหมายตามวาระต่อไป อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่านใช้สิทธิพาดพิง โดยแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องนับองค์ประชุม แต่พรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นองค์ประชุมให้ ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เดินออกจากห้องประชุมทันที โดยเหลือเพียง นพ.ชลน่าน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านเท่านั้น ที่นั่งอยู่
นายชวนชี้แจง นพ.ชลน่านว่า แนวที่เราปฏิบัติเรายึดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับเป็นหลักในการพิจารณากฎหมายทุกฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยิ่งต้องเข้มงวด องค์ประชุมไม่ครบก็ต้องปิดประชุม ไม่ไปทำอะไรที่ไปขัดรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่การตรวจองค์ประชุมการลงมติมาตราใดก็มีการตรวจสอบองค์ประชุม เมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็ต้องปิดประชุม แต่ นพ.ชลน่าน เสนอนอกเหนือแนวปฏิบัติที่เราปฏิบัติ แต่เมื่อเสนอมีญัตติมีผู้ไม่เห็นด้วย 2 คน ถามที่ประชุม ขอถามที่ประชุม เมื่อที่ประชุมเห็นอย่างไรก็ปฏิบัติตามนั้น
นายชวนกล่าวว่า ที่จริงแล้วอยากให้ประชุมสำเร็จ คือ ถ้าปรากฏว่าตอนตรวจสอบองค์ประชุมแสดงตนไม่ครบ ผมปิดประชุมครับ ดังนั้น การปิดประชุมได้ตั้งแต่มาตรา 1 ไม่ต้องรอ 53 นาที ถ้าเห็นเป็นเจตนาที่ไม่ต้องการให้องค์ประชุมครบ อันนั้นเป็นสิทธิโดยชอบที่ทำได้ แต่ทำนอกเหนือแนวปฏิบัติก็ต้องขอมติที่ประชุม
นพ.ชลน่านกล่าวว่า การที่ตนเสนอญัตติขอให้นับองค์ประชุมเป็นเอกสิทธิ ส.ส.ที่ปฏิบัติกันมา ตนตกใจที่ประธานนำญัตตินี้มาลงว่าจะเห็นด้วยกับญัตตินี้หรือไม่ ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ เพราะการตรวจสอบองค์ประชุม สภาต้องตรวจสอบองค์ประชุมตามรัฐธรรมนูญ 120 เท่านั้น
ขณะที่นายชวนชี้แจงว่า การเสนอญัตติของ นพ.ชลน่าน เป็นการเปลี่ยนหลักการจากการปฏิบัติทั่วไป อีกทั้งมี ส.ส. 2 ท่านไม่เห็นด้วยดังนั้น จึงต้องขอมติจากที่ประชุม
โดยที่ประชุมลงมติให้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อ ด้วยเสียง 283 ต่อ 27 งดออกเสียง 36 ไม่ลงคะแนน 28 เสียง จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาตามระเบียบวาระ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ให้กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอร่างที่มีการปรับแก้ไข รวมถึงให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย
อาทิ นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นพ.ชลน่าน แสดงความเห็นว่าสูตรหาร 500 นั้น ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 หลายมาตรา เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้มีการปรับให้เป็นระบบคู่ขนาน บัตร 2 ใบ แต่การหาร 500 เป็นการคำนวณแบบบัตรใบเดียว ส่วนกรรมาธิการจากพรรคอื่น ที่ลุกคัดค้านสูตรหาร 500 เช่น นายนิกร จำนง กรรมาธิการจากพรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายไม่เห็นด้วยต่อมาตรา 24/1 ที่เพิ่มขึ้นใหม่นี้ โดยรายละเอียดของมาตรานี้ จุดที่ผมเห็นว่ามีปัญหาก็คือ การแก้ไขมาตรา 129/1 เป็นการขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 91 อย่างชัดเจน ซึ่งมาตรา 91
จากนั้นในเวลา 13.37 น. หลังจากที่ได้ให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็นได้อภิปรายคัดค้าน รวมถึงให้สมาชิกได้สอบถามเหตุผลของกรรมาธิการเสียงข้างมากที่ปรับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จนครบจำนวน นายพรเพชร ได้ให้มีการแสดงตนเพื่อลงมติ แต่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ขอให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ขอให้แพนกล้องเพื่อบันทึกภาพสมาชิกพรรค เพราะเกรงว่าอาจจะมีการเสียบบัตรแทนกัน
แต่หลังจากนายพรเพชรสั่งนับองค์ประชุม ปรากฏว่า องค์ประชุมมี 366 คน เกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 2 เสียง ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขอเสนอนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ เนื่องจากมีสมาชิกกังวลว่าจะมีการเสียบบัตรแทนกัน
อย่างไรก็ตาม เวลา 15.20 น. ภายหลังจากใช้นับคะแนนด้วยการขานชื่อโดยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง มี ส.ส.และ ส.ว.จำนวนมากที่แจ้งว่าลงชื่อไม่ทัน จนนายพรเพชรต้องแจ้งกับที่ประชุมว่าเจ้าหน้าที่บันทึกไม่ทันแล้ว ขอให้มาแจ้งเจ้าหน้าที่ที่หน้าบัลลังก์
ต่อมานายพรเพชรพยายามที่จะเดินหน้าประชุมต่อ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่หนักใจในการนับคะแนน แต่ตัวเลขที่ผ่านมา ตนเห็นว่าผ่านครึ่งแน่ ๆ แต่สถานการณ์ยังคงสับสน
ในที่สุดเมื่อเวลา 16.20 น. นายพรเพชร ซึ่งทำหน้าที่ประธาน ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาลงมติ ส.ส. และ ส.ว. ไม่กลับเข้ามาลงมติ นายพรเพชรกดออดเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุม และนับองค์ประชุม ไม่ครบ จึงสั่งปิดประชุมทันที
สำหรับ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. … รัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เนื่องจากสภาล่มไม่สามารถลงมติได้ และไม่มีการนัดประชุมต่อภายในกรอบเวลาที่กำหนด ตามกฎหมายจะต้องกลับไปใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 100