ยื้อกฎหมาย-สภาล่ม สนิมเนื้อในรัฐบาลประยุทธ์

สภา

ฟากหนึ่งคือ รัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการลากเกมยาวออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถือโอกาสชิงความได้เปรียบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยจัดการยุบสภา

อีกฟากหนึ่งคือ มวลหมู่พรรคร่วมฝ่ายค้าน แม้ลึก ๆ จะรู้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ แอนด์เฟรนด์” เล่นเกมยาว ไม่ต้องการยุบสภาง่าย ๆ

แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่พอลุ้น สร้างความปั่นป่วนให้กับฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติฟากรัฐบาล ต้องแก้ไขเป็นรายสัปดาห์ และอาจจะนำมาสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝัน …ยุบสภา

พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะวิปฝ่ายค้านในพรรคเพื่อไทย อ่านการเมืองว่า ช่วงปลายรัฐบาลมักมีเรื่องระหองระแหงภายในรัฐบาลเป็นปกติธรรมดา จากมิตรต้องมาห้ำหั่นกัน ชิงซีน ชิงแต้มกันเพื่อเกมเลือกตั้งในวันข้างหน้า กระทั่งเกือบจะกลายเป็นศัตรู ก็เห็นกันอยู่บ่อย ๆ

อีกทั้งช่วงปลายรัฐบาล นักการเมืองในสภาเห็นป้าย “การเลือกตั้ง” อยู่ข้างหน้า ต้องลงพื้นที่ ทำคะแนนกับชาวบ้าน จึงละเลยงานการในสภา

ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านวิเคราะห์ว่า ปลายสมัยรัฐบาลประยุทธ์ องค์ประชุมจะล่มถี่ขึ้นและหนักขึ้น หากฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม

ไม่แปลกหากมีการโทษกันไป-มา ระหว่างวิปฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ว่าใครเป็นฝ่ายที่ทำให้สภาล่ม

“สุทิน คลังแสง” ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้านชี้แจงว่า กรณีประธานวิปรัฐบาลระบุฝ่ายค้านไม่ร่วมมือจนทำให้สภาล่มว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ง่าย ๆ ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรเลย รัฐบาลต่างหากที่คุมเสียงตัวเองไม่ได้ สภาล่ม 2 สัปดาห์ติด ฝ่ายค้านพูดชัดเจนว่า ถ้ามาถึงจุดนี้ มาตรานี้จะไม่เป็นองค์ประชุมให้ พวกคุณกลับไม่ทำการบ้านกันเอง พรรคร่วมรัฐบาลกลับมีปัญหากันเองด้วย

หากมีการโหวตมาตรา 9/1 ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นใหม่อีกครั้ง ฝ่ายค้านจะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม บอกขนาดนี้แล้วรัฐบาลต้องหาคนประชุมให้พอ จะมาโทษฝ่ายค้านไม่ได้

“ส่วนที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ระบุว่าฝ่ายค้านเล่นเกมสภาล่มเพราะอยากให้ยุบสภา เราไม่ได้เล่นเกม หากคุณพูดว่าเราเล่นเกมแก้เกมมาสิ แก้ง่ายนิดเดียว นี่ไม่แก้เกม แถมพวกคุณกลับเล่นเกมกันเองอีกต่างหาก เชื่อว่าการประชุมสภา โอกาสสภาล่มอีกสูงมาก”

เมื่อฝ่ายค้านเล่นเกมองค์ประชุม แต่ในเวลาเดียวกันฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐยังลูกผีลูกคน มีแตกออกไปพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือย้ายสลับขั้ว อีกทั้งยังมีบางกลุ่มที่แทงกั๊ก

จังหวะสำคัญล็อกที่ 1 วันที่ 24 ธันวาคม 2565 อันเข้าสู่ช่วงนับถอยหลัง 90 วัน ก่อนรัฐบาลครบวาระ อาจเริ่มเห็น ส.ส.ทยอยลาออกจากพรรคต่าง ๆ อันอาจส่งผลกระทบต่อเสียงในสภา

อีกด้านวาระร้อนในสภา นอกจากกฎหมายถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ยังค้างเติ่งมาสองสัปดาห์ เพราะสภาล่ม

ยังมีกฎหมายร้อนคือ กฎหมายกัญชากัญชงของพรรคภูมิใจไทย ที่มีปมร้อนดราม่าขัดขากันเองกับพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ลงเอยว่าจะจบอย่างไร ยิ่งพรรคพลังประชารัฐ มีท่าทีไม่เอาด้วยกับกฎหมายดังกล่าว โอกาสกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่ปลายสมัยรัฐบาลประยุทธ์จึงมีสูง สร้างความหวั่นไหว และสั่นคลอนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่มากก็น้อย

ที่สำคัญพรรคตัวแปรที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เกรงใจ ไม่กล้าหือ-อือ อย่างพรรคภูมิใจไทย ที่ปัจจุบันมีเสียงในสภาอย่างเป็นทางการกว่า 63 เสียง อีกทั้งยังมีเสียง ส.ส.งูเห่า จากต่างพรรครวมกัน 70 เสียงอัพ จึงเกิดคำขู่ว่า หากถอนเสียงออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แน่นอนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไปไม่ถึงฝั่งก่อนครบวาระ

ทว่า “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้านเจ้าเดิม ยังวิเคราะห์ว่ารัฐบาลจะอยู่เกือบครบวาระ จะยุบสภาก่อนครบวาระ 5-10 วัน หรือประมาณวันที่ 15 มีนาคม 66 เป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะถือว่ายังทันเวลาการย้ายพรรคที่ต้องเป็นสมาชิกพรรคใหม่ 30 วัน เนื่องจากการยุบสภา

ในสภามีทั้งเกมยื้อ มีทั้งเกมล้มกระดาน โอกาสเดียวที่แกนนำพรรครัฐบาลยังคงอยู่ร่วมกันคือ “ผลประโยชน์” ทั้งการอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี มีที่นั่งในรัฐบาล ทั้งการใช้งบประมาณปี’66 และการจัดทำงบประมาณใหม่ปี 2567

ดังนั้น ระหว่างเกมฝ่ายค้านที่ต้องการ “ล้มกระดาน” ตั้งใจให้สภาล่มซ้ำซากจนหมดความชอบธรรม

กับเกมยื้อของฝ่ายรัฐบาลที่ยังเกี่ยวดองกันด้วยผลประโยชน์ สลับกับการเตะตัดขากันและกัน

เกมในสภานับแต่นี้ไปเข้มข้นอย่างยิ่ง