2566 ปีแห่งการเลือกตั้ง ขั้วรัฐบาลใหม่ ประยุทธ์ ชิงนายกฯสมัย 3

เลือกตั้ง

การเมือง 2565 ปิดฉากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค

โดยมีคนการเมืองในพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนต่างคิดแผนชิ่งหนีพรรคเดิม ไปอยู่พรรคใหม่รวมไทยสร้างชาติ เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เปิดหน้า-ประกาศตัวชัดเจน

ส่วนพรรคภูมิใจไทยได้สถาปนากลายเป็น “พรรคใหญ่” อย่างเป็นทางการ ด้วย “พลังดูด” นาทีนี้มีอดีต ส.ส.และ ส.ส.ในสภาปัจจุบันอีก 62 ราย ทำให้พรรคภูมิใจไทยมีกำลังคนในมือทั้งสิ้น 98 ราย

พรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค กลายเป็นพรรค “ต่ำร้อย” เมื่อมาถึงปลายเทอมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ความขัดแย้งระหว่าง 3 ป.ที่ถือดุลอำนาจการเมืองยาวนาน 8 ปี ต้องมีวันต้องแยกทาง พล.อ.ประยุทธ์ตีจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคที่เคยหนุนให้เป็นนายกฯ

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไปอยู่ดาวดวงใหม่ที่ชื่อรวมไทยสร้างชาติ 3 ป.ไม่เป็นปึกแผ่นกันเหมือนเดิม เช่นเดียวกับซีกฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล ก็เป็นทั้งมิตรและเป็นทั้งอริในช่วงเวลาเดียวกัน

อ่านสูตรตั้งรัฐบาล 2 ขั้ว

หลังเปิดศักราชใหม่เพียงไม่ถึง 10 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะประกาศเขตเลือกตั้งใหม่ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง 2566 อย่างเป็นทางการ ดังนั้น ในช่วงปลายเดือนมกราคม ต่อเนื่องถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์อาจเห็น “การลาออกครั้งใหญ่” ของ ส.ส.ที่จะต้องย้ายพรรคไปสังกัดพรรคใหม่ ในกรณีรัฐบาลอยู่ครบเทอม ซึ่งจะต้องสังกัดพรรคใหม่ 90 วันจนถึงวันเลือกตั้ง โดยรอดูสัญญาณทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะอยู่ครบเทอม หรือพลิกเกมยุบสภาในชั่วโมงสุดท้าย

อีกด้านหนึ่งเปิดศักราชใหม่ คู่แข่งของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะเปิดแคนดิเดตนายกมีอยู่ 1 ชื่อกึ่งทางการคือ แพทองธาร ชินวัตร กับไม่เป็นทางการคือ เศรษฐา ทวีสิน ซีอีโอแสนสิริ ที่ถึงคิวเปิดตัวเรียกกระแส ควบคู่กับการที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็เริ่มฉายแคมเปญนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง

รัฐบาลใหม่-ปีกอนุรักษนิยม

สมการการเมืองรัฐบาลใหม่ ฝ่ายอนุรักษนิยม แม้พรรคพลังประชารัฐจะได้รับอิทธิพลจากพลังดูดจนเหลือเพียง 80 ชีวิต แต่ยังคงยืนหนึ่งอยู่มุมน้ำเงิน วันที่ 14 มกราคม 2566 พรรคพลังประชารัฐจะจัดประชุมใหญ่พรรค เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ เป็นการเปลี่ยนเพียง “ไส้ใน” แต่พี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “หัวหน้าพรรคคนเดิม”

ขณะที่รวมไทยสร้างชาติ แม้จะแรงขึ้นมา ด้วยพลังแฝงของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ด้วยทรัพยากรบุคคลที่มีเป็น “นักการเมืองเกรดบี” ยังไม่สามารถการันตีเก้าอี้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำได้

“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ไว้โดยเทียบเคียงกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์มีคะแนนพ็อปพูลาร์โหวตประมาณ 3 ล้านคะแนน หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 12-15 ที่นั่ง ภายใต้โจทย์ใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถขายได้หรือไม่

“ดร.สติธร” วิเคราะห์สูตรจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมกันตั้งรัฐบาลเป็นสูตรที่ง่ายที่สุด เพราะ 3 พรรคนี้น่าจะได้ ส.ส.พอสมควร ประมาณ 300 ขึ้นไป และ พล.อ.ประวิตรยังมี ส.ว.เป็นพวก จึงง่ายต่อการได้เสียง 375 เกินกึ่งหนึ่ง

แต่ถ้าใช้เงื่อนไข พล.อ.ประยุทธ์ยังอยากเป็นนายกฯ สมัยที่ 3 ต่อ สูตรนี้จะล่ม ขึ้นอยู่กับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีกำลังไปยับยั้งสูตรนี้มากแค่ไหน ดังนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติจะต้องมี ส.ส.ระดับหนึ่ง 80 เสียงมายันสูตรนี้ ดึง พล.อ.ประวิตรและพรรคพลังประชารัฐให้อยู่กับฝ่ายตัวเอง อย่างน้อย ๆ ส.ว. 250 คนก็จะไม่แตกแถว

สูตรที่ 2 คือ พรรคพลังประชารัฐรวมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะได้เต็มที่ ส.ส. 120 คน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการเป็นรัฐบาล แต่พอใกล้เคียงที่จะได้นายกฯ จากนั้นไปดึงพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ มาเหมือนเดิม จากนั้นมาดูตัวเลขรวม ๆ ว่า 4 พรรคนี้มี ส.ส.รวมกันได้เท่าไหร่ ยังขาดอีกเท่าไหร่ แล้วเติมเสียงจากพรรคเล็ก ถ้ายังไม่พอก็ต้องไปซื้อหน้างาน เช่น พรรคไทยสร้างไทย

ส่วนขั้วฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล เสรีรวมไทย และพรรคขั้วฝ่ายค้านปัจจุบัน ถ้าได้รวมกันไม่ถึง 250 เสียงก็ถือว่าจบ-ปิดเกม ดังนั้น ฝ่ายค้านต้องรวมกันเองให้ได้ 250 เสียง ไว้ก่อน แล้วค่อยมาลุ้นจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ แต่ถ้าจะเอาชนะเกมเลือกตั้งได้ ขั้วฝ่ายค้านต้องได้เสียงมากจนกระทั่งพรรคตัวแปรอย่าง “ภูมิใจไทย” ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องเข้าร่วมรัฐบาลกับขั้วฝ่ายค้านปัจจุบัน

งบประมาณใหม่ไม่สะดุด

การเมืองเดินหน้าคู่ขนานการจัดงบประมาณแผ่นดินในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล สำหรับปฏิทินงบประมาณปี 2567 เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 27 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา พิจารณาให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณ และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% มีการประมาณการรายได้อยู่ที่ 2,757,000 ล้านบาท

พร้อมแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันที่ 14 มีนาคม 2566

แต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรหากครบวาระ 4 ปี จะสิ้นสุดวันที่ 23 มีนาคม 2566 ทำให้ ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง สำนักงบประมาณจะจัดทำข้อเสนอปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

จากปฏิทินงบประมาณเดิมที่ต้องเข้า ครม.อีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 25 เมษายน 2565 เพื่อรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นและจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จัดพิมพ์แล้วและนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร

กกต.ปักหมุดวันเลือกตั้งกรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ 7 พฤษภาคม 2566 ไม่เกินวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2566 การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องลุ้นกันหนักว่า จะทันกรอบปฏิทินงบประมาณใหม่-วันแรกการใช้เงิบงบประมาณใหม่ 1 ตุลาคม 2566 หรือไม่

ผบ.ทบ.-ผบ.ตร.คนใหม่

ในปี 2566 ข้าราชการระดับสูง-หัวแถวในฝ่ายคุมกำลังทหาร-ตำรวจ พาเหรดกันเกษียณอายุราชการถึงเดือนกันยายน 2566 โดยเฉพาะกองทัพบกคือ บิ๊กบี้-พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

ทายาทบิ๊กบี้ที่จะมีรับไม้ต่อ ผบ.ทบ.คือ บิ๊กต่อ-พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ.และรองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) หรือ “ทหารคอแดง”
ขณะที่บิ๊กสีกากี บิ๊กเด่น-พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) โดยแคนดิเดตพิทักษ์ 1 คนที่ 14 คือ บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร.-นายตำรวจคอนเน็กชั่นสูง

ฉากทัศน์การเมืองในปี 2566 จึงน่าระทึกใจอย่างยิ่ง