ประยุทธ์ เรียก วิษณุ-สุพัฒนพงษ์ ถกอะไรทำได้-ทำไม่ได้ เตรียมยุบสภา แจงกระบวนการใช้เวลาวันเดียว ไม่ต้องเข้า ครม.-ไม่ต้องบอกพรรคร่วมรัฐบาล ล็อกสเป็กหย่อนบัตร 7 พ.ค. 66 ถูกโฉลกโชคชัย
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียกนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ที่ต้องยกเลิกภารกิจทั้งหมดเพื่อเข้าพบบนตึกไทยคู่ฟ้า โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
นายวิษณุให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า นัดกันเพื่อจะคุยกันว่าปฏิทินการทำงานหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ไม่มีเรื่องยุบสภา ไม่กล้าถามท่านหรอก เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี
“แต่ว่ามีราชการหลายอย่างที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ เพราะถ้าสมมุติมีการยุบสภาขึ้นมา อะไรที่รัฐบาลทำได้ ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นอะไรที่คิดว่าจะทำก็ทำเสียในตอนนี้” นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ไล่เรียงปฏิทินการทำงานให้นายกรัฐมนตรีได้ฟังอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้ไล่อะไร ก็พูดได้แป๊บเดียว พอดีนายกรัฐมนตรีมีวาระงานต้องพบกับคณะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC
เมื่อถามว่า เรื่องอะไรต้องทำก่อนยุบสภาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี นายกรัฐมนตรีจึงให้ตนไปเตรียมและอธิบายในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งหน้าวันอังคารที่ 21 ก.พ. 66 ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้
“รัฐบาลนี้ไม่เคยเจอประสบการณ์ยุบสภา สภายุบครั้งสุดท้ายเมื่อ 8 ปีมาแล้ว และรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็ต้องการให้ทราบว่าอะไรที่จะทำได้ ทำไม่ได้ ท่านสุพัฒนพงษ์ก็อยู่ด้วย โดยเฉพาะในเรื่องทางเศรษฐกิจ พูดง่าย ๆ คือ อธิบายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า ถ้ายุบสภาก็จะโยกย้ายข้าราชการไม่ได้ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ แต่ต้องไปขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
“แต่นายกรัฐมนตรีสงสัยว่า ตั้งกรรมการต่าง ๆ ได้ไหม กรรมการตั้งได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 169 พูดถึงแต่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และพนักงาน ไม่ได้พูดถึงกรรมการ ก็ซักซ้อมความเข้าใจกัน” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า เรื่องใดทำได้หรือทำไม่ได้ต้องนับ 1 ตั้งแต่เมื่อไหร่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อยุบสภา หรือสภาครบวาระ
เมื่อถามว่า สภาครบวาระ คือ วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลาเที่ยงคืนใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ครับ
เมื่อถามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้เข้า ครม.ให้ทันก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่จะเป็นการโอนเงินรอบใหม่ต้องเร่งให้ทันก่อนยุบสภาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ ถ้าอนุมัติให้ได้ก่อน แต่ตนไม่รู้ รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (1) เมื่อยุบสภา หรือสภาสิ้นสุดลง ครม.ก็สิ้นสุดด้วย รัฐบาลจะอนุมัติโครงการ หรืองานใด หรือก่อให้เกิดความผูกพันรัฐบาลหน้าไม่ได้ เว้นแต่จะอยู่ในรายการงบประมาณแล้ว ซึ่งตนไม่รู้ว่า อะไรอยู่ในงบประมาณ เรื่องอะไรไม่อยู่ในงบประมาณ อาจจะเพราะงบประมาณปี’66 หรือปี’66
เมื่อถามว่า ตุ๊กตาที่ตั้งไว้จะยุบเร็วหรือยุบช้า นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้ตั้งทั้งนั้น ตุ๊กตาอยู่ที่นายกฯ ตนไม่ได้สนใจว่าจะยุบเมื่อไหร่ แต่รู้ว่ามันมีผลกระทบ และเนื่องจากเหลือเวลาอีกเดือนเศษ ยังไงสภาก็จะสิ้นสุดอยู่แล้ว โดยอัตโนมัติในวันที่ 23 มีนาคม 2566 เพราะฉะนั้นจะเตรียมการอย่างไรก็ให้เตรียมการไว้เท่านั้น
เมื่อถามว่า กระบวนการเตรียมการยุบสภา ตั้งแต่การร่าง ใช้เวลาประมาณกี่วัน นายวิษณุกล่าวว่า วันเดียว
เมื่อถามว่า ในทางกฎหมายวันยุบสภาต้องหลังจากวันที่ 15 มีนาคม 2566 ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนก็ไม่ได้พูดว่าอย่างนั้น ตนพูดว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นั้น ยุบสภาคงจะไม่ได้ เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่เรียบร้อย และ กกต.ก็บอกว่า หลังจากนั้นสามารถทำได้ แต่ว่าถ้าขอได้ก็อยากจะขอเวลาไว้หน่อย เพื่อให้พรรคเล็กได้คัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) ตอนนี้ทำไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าเขตอยู่ตรงไหน
นอกจากนี้ยังต้องตั้งสาขาพรรค เพราะฉะนั้นถ้าให้ความสะดวกกับพรรคเล็กให้เวลาอาทิตย์ สองอาทิตย์จะเป็นการดี แต่ถ้าไม่เห็นแก่พรรคเล็กก็ตามใจ จะยุบวันที่ 1 มีนาคม 2566 ก็ได้ เพราะว่าพรรคใหญ่ได้เปรียบไปแล้ว ซึ่งทำไพรมารี่โหวตตั้งแต่ปี 2562 พวกนี้หูไวตาไว พรรคเล็กยังไม่รู้ว่าจะไปยุบรวมกับใครหรือเปล่า ซึ่ง กกต.ยังทำอะไรไม่ได้หรอกครับ (แบ่งเขต) ยิ่งเขาไปร้องศาลรัฐธรรมมนูญ ก็ต้องนิ่งสักระยะ
เมื่อถามว่าในทางการเมืองคงไม่อยู่ครบวาระ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่เคยพูดเลย ตนบอกว่า จะยุบสภา หรือ อยู่ครบวาระ เพราะถ้ายุบสภาแล้วอีกไม่กี่วันก็จะครบวาระก็อาจจะมีคำถามว่าแล้วไปยุบทำไม
“คุณถามว่าใช้เวลายุบสภาเท่าไหร่ วันหนึ่ง วันหนึ่ง คือ เสร็จในชั้นรัฐบาลนะ ทูลเกล้าฯขึ้นไปจะลงนามอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะเป็น พ.ร.ฎ.ฉบับเดียวที่ไม่ต้องเข้า ครม.ตั้งแต่มีประเทศไทยมา ไม่ต้องเรียกประชุม ไม่ต้องถาม” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า การยุบสภาจะมีผลเมื่อนายกรัฐมนตรีพูดหรือประกาศในราชกิจจานุเบกษา นายวิษณุกล่าวว่า ประกาศร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พูดยังไงก็ไม่ยุบ ต้องมี พ.ร.ฎ.ยุบสภา
“แหม๋ ยุบสภาทั้งสภา จะให้นายกฯไปพูดได้ยังไง มันหนักคน 500 คนในสภา วุฒิสภา (ส.ว.) ก็หนักด้วย เพราะว่าเวลายุบสภา ส.ว.ประชุมไม่ได้ หนักต่อไปอีกคือ ครม.สิ้นสุดด้วย” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าจะรู้ว่ายุบสภาก็ต่อเมื่อร่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภา ประกาศเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา นายวิษณุกล่าวว่า ใช่แล้ว
“สมัยป๋าเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ท่านยุบสภาเสร็จ ไม่มีใครรู้ รุ่งขึ้นประชุม ครม. ครม.ก็ไปต่อว่าท่านว่า รุ่งขึ้นจะประชุม ครม. ทำไมไม่ปรึกษา ครม.ก่อน ท่านก็เดินขอโทษ ครม.ทั้งคณะ ว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องตัดสินใจเร่งด่วน ไม่สามารถปรึกษาใครได้ และตามกฎหมายการยุบสภาเป็นอำนาจของท่าน ท่านได้ยุบไปแล้ว บัดนี้ตัวใครตัวมัน กลับบ้านได้” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีต้องส่งสัญญาณให้พรรคร่วมรัฐบาลรู้ก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อันนี้ก็แล้วแต่ท่าน ตนไม่รู้
เมื่อถามว่า รัฐบาลที่ผ่านมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ รัฐบาลนายทักษิณจะแถลงให้รู้ก่อนว่าจะยุบสภา นายวิษณุกล่าวว่า อันนั้นมันมีแรงกดดันมา เหมือนรัฐบาลนายกฯชวน ก็อยู่มาจนกระทั่งสภาประชุมครบ 4 หนแล้ว ก็เตือนให้รู้ล่วงหน้า แต่วันเวลาไม่มีใครบอกใครได้
“เวลานี้คลื่นลมมันก็มีอยู่แล้วว่า อาจจะยุบสภา แต่จะมาหาวันเวลาเป็นเรื่องของนายกฯ” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นเนติบริกรจะแนะนำวันยุบสภาให้ พล.อ.ประยุทธ์บ้างหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่ต้องใช้เนติบริการ อันนี้ใช้โหร”
เมื่อถามว่าเดือนมีนาคมมีฤกษ์ดีตรงกับวันไหน วันที่ 21 มีนาคมเป็นวันดีหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ ตนไม่เคยดู นึกไม่ออกว่ายุบสภาจะไปดูฤกษ์ทำไม เพราะว่ายุบไปแล้วจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ กกต.
“วันที่ควรจะดูฤกษ์คือวันเลือกตั้งต่างหาก ที่มันจะรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย วันยุบมันไม่ได้ทำให้เกิดอะไรขึ้นมา” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า เลือกตั้งวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ถือเป็นฤกษ์ดีหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มันเป็นวันที่จำเป็น กกต.ก็ไม่ได้ยืนยัน 100%
“มันจำเป็น เพราะว่าสเป็ก คือ ต้องเป็นวันอาทิตย์ แล้วต้องภายใน 60 วัน เพราะฉะนั้นถ้านับตั้งแต่วันที่สภาหมดวาระ 4 ปี วันที่ 23 มีนาคมไป ซึ่งต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับไปมันก็ได้ตั้งแต่ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 พฤษภาคม แต่ว่าวันอื่นที่พูดมาเมื่อกี้ 1 2 3 4 5 เป็นวันจันทร์ อังคาร พุธ ทั้งนั้น มันก็ไปเจอวันเสาร์ที่ 6 วันอาทิตย์ที่ 7 ก็เลือกเอาว่าจะเอา 7 ทำไมไม่เลยไป 8 9 10 ได้ แต่วันเป็นวัน จันทร์ อังคาร อีกแล้ว นี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าจะเป็น 7 พฤษภาคม” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมไม่ถอยมาวันอาทิตย์ก่อนวันที่ 7 พฤษภาคม มันก็จะเจอวันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน ก็ได้ แต่มันเท่ากับว่า เหลือเวลาให้คุณได้หาเสียงเลือกตั้งสั้นนิดเดียว ก็ต้องคิดเผื่อตรงนี้
“เพราะฉะนั้นต้องให้มีเวลาเลือกตั้งหาเสียงพอสมควร ถ้าเลือกวันที่ 30 เมษายน มีเวลาไม่ถึง 30 วัน” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า แล้วทำไมไม่ยืดต่อไปหลังวันที่ 7 พฤษภาคม เป็นที่ 14 พฤษภาคม มันก็จะเกิน 45 วัน มันถูกบังคับด้วยสิ่งเหล่านี้ต่างหาก ไม่ใช่เรื่องโหรอะไรหรอก
เมื่อถามว่าวันเลือกตั้งที่ตรงกับวันหยุดยาวจะมีผลต่อการออกไปลงคะแนนของประชาชนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า สอบถาม กกต.แล้ว เมื่อตอนที่จะประกาศให้วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคมเป็นวันหยุดพิเศษว่าจะกระทบหรือไม่
“นัยหนึ่งอาจจะกระทบเพราะคนออกไปต่างจังหวัดไม่กลับมาเลือกตั้ง อีกนัยหนึ่งก็อาจจะไม่กระทบ กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่กระทบ แล้วแต่รัฐบาลจะประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษหรือไม่ แต่ว่าไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบ ดีเสียอีก วันที่ 4-6 พฤษภาคมตรงกับวันหยุด 3 วันไป (เที่ยว) พอแล้ว วันที่ 7 พฤษภาคม คุณก็กลับมาเลือกตั้งได้ และดีกับคนที่อยู่ต่างจังหวัดจะได้กลับไปเลือกตั้ง หรือจะกลับไปรับเงินอะไรก็แล้วแต่ ไม่ได้ว่ากัน เพราะฉะนั้นมันก็ถูกโฉลกโชคชัย พิพัฒน์สวัสดี” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า วันครบวาระคือ 00.01 ของวันที่ 24 มีนาคมใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คุณจะเอาเป็นเอาตายอะไรขนาดนั้น เอาเป็นว่า วันที่ 23 มีนาคมต่อวันที่ 24 มีนาคม เพราะว่าเราเลือกตั้งกันวันที่ 24 มีนาคม 2562 มันก็จะไปครบ 1 ปีในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 23 มีนาคม ต่อเวลา 00.01 ของวันที่ 24 มีนาคม 2566
“ทำไม ฤกษ์ดีเหรอ อันนี้นับตามปฏิทินสากลนั้น ถ้านับตามโหราศาสตร์มันต้องดูพระอาทิตย์ขึ้น ขนาดตี 4 ยังไม่สว่าง ยังไม่เห็นลายมือเลย พระออกบิณบาตรยังไม่ได้ เขายังนับเป็นวันที่ 23 มีนาคมอยู่เลย” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า คิดว่าวันที่ 21 มีนาคมถือเป็นวันดี ฤกษ์ดีหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “จะทำอะไร จะหย่ากันรึ ไม่รู้ ผมไม่เคยไปเปิดดูเรื่องนี้ ผมไม่ทราบ”
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ชอบใช้เลขวันที่ 21 เข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นายวิษณุกล่าวว่า “เหรอ ผมก็นึกว่าท่านชอบ 22 ซะอีก เพราะท่านยึดอำนาจวันที่ 22 พฤษภาคม 2557”