เศรษฐา ดรีมทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย “ผู้นำสูงสุดต้องออกไปเจรจาค้าขายเอง”

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน
คอลัมน์ : Politics policy people forum
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

เขาคือนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หมื่นล้าน ถูกขนานนามให้เป็นซีอีโอสาย call out ในช่วงที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ชื่อของเขาอยู่ในวงการเมืองมานานมากกว่า 1 ปี ในฐานะว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

ประชาชาติธุรกิจ และเครือมติชน สัมภาษณ์พิเศษ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่เปิดตัวทางการเมืองครั้งแรก มีตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยเฉพาะงานด้านเศรษฐกิจ

เขาประกาศว่าจะทำให้ไทยเป็นมหาอำนาจด้านการเกษตรของโลก

ประนีประนอม แต่เด็ดขาด

เศรษฐา นิยามตัวตนของตัวเองบนเส้นทางการเมืองว่า “ผมมีความพยายาม ผมมีความตั้งใจจริง ผมเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง อยากให้ประชาชนคนไทยอยู่ด้วยความสุข ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ กระเป๋าตังค์อย่างเดียว ความเหลื่อมล้ำทางจิตใจ ความเท่าเทียม”

ในฐานะที่มีจุดขาย-จุดแข็งด้านเศรษฐกิจ บริหารธุรกิจหมื่นล้าน นำหลักอะไรมาใช้กับการเมืองบ้าง เขาตอบว่า ไม่มีหลักเดียว การประนีประนอมเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องเด็ดขาด ถึงเวลาตัดสินใจต้องตัดสินใจ อย่าให้ไปเรื่อย ๆ จนไม่มีการตัดสินใจ แล้วมันก็ช้าเกินไป การมองไปข้างหน้าไม่ใช่คอยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยไปแก้ไข

เช่น เรารู้ว่าโควิด-19 ต้องจบ เมื่อเปิดประเทศ คนอัดอั้นไม่ได้เปิดประเทศมา 2-3 ปี ถ้าเราเป็นผู้นำต้องเห็นว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นคืออะไร

ปัญหาไม่ใช่คนไม่อยากมาไทย แต่ปัญหาคือจะเอาเขามาอย่างไร แต่ไม่มีการเตรียมพร้อมเรื่องเครื่องบิน ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม เครื่องไม่พอก็ต้องเช่ามา

“ผู้นำคนต่อไปต้องเจอปัญหาหนักแน่นอน แต่คุณจะอาสาเข้ามาแล้ว คุณอย่าเข้ามาเพื่ออธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ คุณเข้ามาเพื่อทำให้ได้ ถ้าอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เพราะเจอแต่ปัญหาก็อย่าเข้ามาตั้งแต่ตอนต้น หรือเข้ามาเจอปัญหา ทำไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องออกไป”

ซึ่งการที่บริหารองค์กรธุรกิจมาก่อนทำให้เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ กว้าง ไกล ถ้าผมคิดว่าผมไม่มีคุณสมบัติ คงไม่รับมาเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แต่เข้ามาแล้วในพรรคการเมืองก็มีบุคลากรที่มีคุณภาพเยอะ เราต้องมาโน้มน้าวหลักความคิดของเรา ตัวตนของเรา เพื่อหล่อหลอมความเป็นทีม ทีมที่ใหญ่ ทีมที่แข็งแกร่ง ทีมที่มุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ก็จะทำให้ไปถึงจุดมุ่งหมายได้

“ประสบการณ์อายุขนาดผม ดูอะไรมาเยอะ ดูให้ครบทุก ๆ มิติแล้ว สถาบันพรรคเพื่อไทย อยู่ด้วยกันได้”

ประชาธิปไตยในหัวใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทยถูกมองว่าพรรคครอบครัว แม้แต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยัง “รับน้อง” ผ่านสื่อว่า ประเทศไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว จะแก้จุดอ่อนตรงนี้อย่างไร

เศรษฐาตอบว่า ผมยังบอกว่าผมเป็นแค่คนคนหนึ่งในพรรค เป็นแค่คนหนึ่งที่กรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรคให้เกียรติ ให้ตำแหน่งค่อนข้างใหญ่และมีเกียรติ ผมมีประชาธิปไตยในหัวใจอยู่แล้ว รับฟังเสียงส่วนมาก

เรื่องของครอบครัวหรือไม่ครอบครัว คิดดูคนคุณภาพอย่างคณะกรรมการเศรษฐกิจที่จะตั้งขึ้นมาจะยอมให้ชี้นำอย่างเดียวเหรอ จริง ๆ แล้วปรัชญาของพรรคเพื่อไทย คนเราหลาย ๆ คนมีความเชื่อ มีความเป็นตัวตนของตัวเองอยู่มากพอสมควร

“บริษัทที่ผมทำอยู่ไม่ใช่บริษัทของครอบครัว เป็นบริษัทมหาชน มีผู้ถือหุ้นเป็นหมื่นคน ผมต้องให้เกียรติ คำนึงถึงทั้งผู้ถือหุ้น ทั้งลูกค้า พนักงาน สังคมที่ผมทำงานค้าขายอยู่ด้วยเหมือนกัน เป็นโรงเรียนที่ให้ผมฝึกวิทยายุทธมาอันหนึ่ง ซึ่งผมมั่นใจว่าผมพร้อมเดินเข้ามา แต่ผู้ใหญ่ท่านเตือนว่ามันไม่เหมือนกันนะ ดีครับ จะได้พร้อมเจอกับสิ่งใหม่ ๆ ไม่ได้พองตัว หรือคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น ๆ”

ชื่อหนึ่งในพรรคเพื่อไทยไม่ปฏิเสธว่ามีอำนาจอยู่จริงคือ “ทักษิณ ชินวัตร” ถาม “เศรษฐาว่าก่อนจะมารับตำแหน่ง ได้เจอคุณทักษิณหรือไม่” เขาตอบว่า “ไม่มีครับ ผมก็ทำงานไป คุณอุ๊งอิ๊งเป็นคนมาชวนเองว่ามาช่วยหน่อยแล้วกัน”

คอนเซ็ปต์ทีมเศรษฐกิจ

แม้เศรษฐาเดินเข้าพรรคมาคนเดียว แต่ก็เตรียมเปิดตัว “ทีมเศรษฐกิจ” เป็นแบ็กอัพที่มาช่วยให้คำปรึกษากับ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

เศรษฐาบอกคอนเซ็ปต์ดรีมทีมเศรษฐกิจนี้ว่า ต้องมีครบ มีผู้ชำนาญการทุกภาคส่วน เช่น ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องราคาพลังงานแพง ก็ต้องมี expert เข้ามา เช่นเดียวกับภาคการเกษตร ด้านการประมง ด้านเศรษฐกิจมหภาค ต้องมีให้ครบ แต่สำคัญที่สุดคือทุกคนที่มารวมอยู่ตรงนี้ต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาปากท้องประชาชนเป็นที่ตั้ง

เชื่อว่าถ้าพรรคเพื่อไทยประกาศคณะทำงานเศรษฐกิจก็จะชัดเจน บอกได้ พูดได้ ตอบได้ ไม่ใช่เขาไม่ให้บอก เพราะเราถือว่าเราเสนอตัวมารับใช้ประชาชนคณะทำงานเศรษฐกิจเราต้องพร้อม คนเราต้องออกมาพูดเรื่องพวกนี้ เพราะคุณเสนอตัวมาแล้ว

แต่ถ้าเราจะทำงานกันเป็นทีม ต้องไม่ใช่ทีมงานของผม ทีมงานของคุณอุ๊งอิ๊ง แต่เป็นทีมงานของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ต้องนั่งคนละห้อง คนละมุม ทำอะไรต้องเปิดเผย ตอบคำถามได้ ส่วนในอนาคตถ้าเป็นรัฐบาลทีมนี้จะเป็นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพรรค

ความกลัวในการเมือง

จากนักธุรกิจมาสู่การเมือง กลัวอะไรบนเส้นทางการเมือง เศรษฐาตอบว่า “กลัวทุกอย่างที่เดินไปข้างหน้า มันเป็นก้าวใหม่ ก็ต้องเตรียมตัว มีความระมัดระวังตัวพอสมควรเหมือนกัน เรื่องที่ต้องระวังตัวคือ มันเป็นสังคมใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ กลัวที่สุดคือกลัวเรื่องที่ไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เราพยายามทำในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ดีกว่า หลักความคิด หลักการปฏิบัติ ที่เราสามารถทำได้เอง”

ส่วนที่ควบคุมไม่ได้มีหลายปัจจัย มันไม่ใช่บริษัท มันเป็นประเทศ ผมรับฟังจริง ๆ ว่าประเทศเป็นสภาพแวดล้อมที่ใหญ่กว่า stakeholder แตกต่างกันไป แต่ความสามารถที่สะสมมาตลอด 30-40 ปี ผมเชื่อว่ามีส่วนที่จะบริหารจัดการได้ เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เคารพกฎหมาย เราก็เดินไปข้างหน้าได้

หากสมมุติว่า ในวันข้างหน้าถึงการโหวตเป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยเลือกแพทองธาร ไม่เลือกเศรษฐา จะทำอย่างไร เขาตอบว่า ยังไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ถ้าตอนนั้นสมาชิกเลือกมาให้เป็นแคนดิเดตฯ ก็ยอมเป็นตรงนั้น แต่เมื่อเวลาชนะเขาเลือก นาย ก. นาง ก. ผมก็ยอมรับอยู่ดี ไม่ได้ตีอกชกตัวว่าเป็นอะไร

“ผมบอกว่า ผมมีหัวใจเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น มาตรงนี้ต้องเตรียมพร้อมในทุกทางเดินที่เกิดขึ้นได้”

“ไม่มีความคาดหวังก็ไม่มีความผิดหวัง ความคาดหวังคือมาทำงานกับพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันที่เราคิดว่านโยบายในอดีตและนโยบายในอนาคตนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน ไม่มีความคาดหวังใด ๆ ทั้งสิ้น”

ถ้าเลือกได้ เลือกเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

เมื่อถามว่า ถ้าวันหนึ่งต้องเลือกดูงานด้านใดด้านหนึ่งที่ไม่ใช่นายกฯ คลัง เกษตรฯ พาณิชย์… เขานิ่งไปครู่ ก่อนตอบว่า “ต่างประเทศ”

สาเหตุที่สนใจงานต่างประเทศ เศรษฐาตอบอย่างมีเหตุผลว่า ในอดีต อย่างน้อย 6 ปี เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่รัฐบาลปัจจุบันทำให้ประชาชน หรืออย่างน้อยภาคธุรกิจผิดหวังมาก นอกเหนือจากการประชุมอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าการประชุมเอเปค หรืออาเซียน แต่ที่จะได้เนื้อหาสาระจริง ๆ คือ ผู้นำสูงสุดต้องออกไปเจรจาค้าขายกับต่างชาติเอง พร้อมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า

เราเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ เคยเป็น และควรจะต้องเป็นมหาอำนาจด้านการเกษตร การไปค้าขายสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ การดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทยต้องคำนึงถึง มีจุดดีหลายอย่างที่รัฐบาลนี้ไม่ได้นำไปโฆษณา เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของนักลงทุนที่ต้องมาอยู่ที่ไทย เรื่องโรงเรียนนานาชาติ อาจดูเป็นเรื่องเล็กแต่ถ้าเขามาอยู่เมืองไทย เรื่องของลูกหลานเขาก็สำคัญ healthcare โรงพยาบาลระดับโลกของเราก็มีเยอะ

บีโอไอของเราก็มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนได้ ขาดแต่เพียงผู้นำต้องบินไปเจรจาเอง กล้าเจรจา ต้องกล้ายอมรับว่าเราเป็นประเทศที่เล็ก ต้องถ่อมตัว แต่ต้องคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของเรา เราต้องออกไปค้าขาย ถ้าหากไม่มีคนเข้ามาลงทุน เศรษฐกิจจะเติบโตได้อย่างไร

ประเทศไทยมีเกษตรกรอยู่ 20 กว่าล้านคน ปัญหาที่เราเจอตลอดคือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ถ้าเราทำไม่ท่วม ไม่แล้ง ผมถือว่าตรงนี้จะทำให้เรากลับมาเป็นมหาอำนาจด้านการเกษตรอีกครั้งหนึ่ง ลงทุน 100 อยู่ในประเทศ 80-90% ไม่ต้องซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ไป focus on จุดแข็งของคนไทย

เกษตรกรไทยเก่งมาก ไม่ว่าปลูกผลไม้ ปลูกข้าวพันธุ์พิเศษที่ดีมาก เรามาลงทุนด้านการเก็บ มีสาธารณูปโภคที่มีความเร็วที่เหมาะสมเข้าถึงได้ ผมเชื่อว่าแค่นี้เราก็เป็นมหาอำนาจด้านการเกษตร และยิ่งระยะหลังมีความขัดแย้งระหว่างประเทศ เรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารถือเป็นความสำคัญ

“ถ้าเรามีความมั่นคงทางด้านอาหาร เราก็จะเป็นประเทศที่ต้องการของต่างประเทศ คนในประเทศก็จะอยู่ได้มีความสุข”

“ผมว่ารัฐบาลที่มีประสิทธิภาพคือการที่ยกระดับเกษตรกรไทยให้สูงขึ้น productivity ต้องสูงขึ้น เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอาจผลิตข้าวโพดต่อไร่ได้สูงกว่าเรา เราผลิตได้ต่ำกว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยไหม เข้ามาดูแลเรื่องปุ๋ยไหม นำเรื่องระบบน้ำ ระบบชลประทานเข้ามาดูแลเพื่อให้เพียพอต่อการเติบโตของพืชผลหรือเปล่า ถ้าหากเขามีรายได้เพิ่มขึ้น ราคาก็เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบเท่านั้นเอง”

เจรจาอียูก่อน จีน-สหรัฐ

ส่วนการโรดโชว์ประเทศ “เศรษฐา” ก็มีแบบแผนที่ต่างกับรัฐบาลปัจจุบัน อย่างแรก พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล กระทรวงการคลังคือใคร ใครดูแลเรื่องคมนาคม ใครดูแลเรื่องพาณิชย์ ใครดูแลเรื่องพลังงาน แต่ไม่เคยมีใครสนใจเลยว่าใครดูแลเรื่องต่างประเทศ ในสายตาประชาชน มองว่าเป็นกระทรวงเกรดซี

แต่ผมถือว่ากระทรวงการต่างประเทศ จะต้องมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ในการนำเราไปสู่ต่างประเทศให้ได้ ดังนั้น เรื่องกระทรวงการต่างประเทศจะถูกเราให้ความสำคัญมากขึ้น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจ ที่มีการค้าขายกับต่างประเทศ เราต้องนำทัพไปเจรจา บางเรื่องคนไม่รู้หรอกว่าประเทศเรามีดีอยู่

อย่างเทสลา ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นต่อประเทศไทยอยู่ นอกจากเป็นแหล่งของแร่แล้ว ผู้นำเขาออกไปค้าขายเอง ไปเจอเทสลาเอง แต่ไทยไม่ได้ทำ เราส่งเบอร์สาม เบอร์สี่ เบอร์ห้าไป เขาก็ส่ง เบอร์สาม เบอร์สี่ เบอร์ห้ามาคุย

“เราต้องทำงานให้หนักขึ้น ต้องเข้าใจว่าโลกเปลี่ยน ไม่ได้อยู่แค่อาเซียน อยู่แค่ประเทศไทย เราต้องเล่นให้เป็น”

แล้วเราจะเล่นบทบาทไหนกับความสัมพันธ์ 2 ขั้วมหาอำนาจจีนกับสหรัฐอเมริกา เศรษฐากล่าวว่า ผมคิดนอกกรอบ คนพูดอเมริกา กับจีนตลอดเวลา แต่ลืมภาคส่วนที่สำคัญคือสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีหลายประเทศมาก ถ้าเราไปอียูก่อนล่ะ ให้ 2 ประเทศ (อเมริกา-จีน) เอ๊ะบ้าง เราไม่ต้องเอาแค่เทสลา หรือบีวายดี ไปดูเปอโยต์กับเรโนลต์ ที่ฝรั่งเศส ให้ดูว่ารัฐบาลไทยทำไมไปอียูก่อน ทำไมไม่มาอเมริกา จีนก่อน เขาก็จะเริ่มคิด

แล้วเราค่อยติดต่อไปแล้วค่อยไป ส่วนอเมริกากับจีน ดูซิว่าใครพร้อมที่จะเจรจากับเราเรื่องไหนอย่างไร ไปหาได้ แต่ความภาคภูมิใจ เกียรติยศของเราต้องมีเหมือนกัน เราเองต้องหยิ่งเหมือนกัน เขาเองก็อยากได้ ประเทศไทยเป็นเสน่ห์อันหนึ่งของภูมิภาคนี้ การประชุม World Economic Forum บอกว่า อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นของอาเซียน

ดังนั้น ภูมิภาคนี้ ความพร้อมด้านสาธารณูปโภคด้านพื้นฐานทั้งหมด เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องสนามบิน เราเป็นต่อหลายประเทศ อาจเป็นรองสิงคโปร์ แต่การยกระดับตรงนี้ก็สำคัญ

คือเหตุผลถ้าไม่เป็นนายกฯ ก็จะดูงานด้านต่างประเทศ