50 องค์กร จับตาเลือกตั้ง 66 ส่งอาสาสมัคร 1 แสนคน รายงานเรียลไทม์

แถลงข่าว รายงานผล เลือกตั้ง 2566

50 องค์กร และพันธมิตรสื่อหลายสำนัก จับมือรายงานผลเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการแบบเรียลไทม์

วันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กทม. 50 องค์กร โดยความร่วมมือจากสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมฟินเทคประเทศไทย สมาคมเมตาเวิร์สไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ D-VOTE และพันธมิตรผู้สนับสนุนอาสาสมัคร ร่วมแถลงการณ์รายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ)

ทั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังเครือข่ายทุกภาคส่วนกว่า 50 องค์กร ยกระดับแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ครั้งแรกกับเทคโนโลยี Crowdfunding ระดมทุนเพื่อสนับสนุนอาสาสมัคร 100,000 คน รายงานผลคะแนนเลือกตั้งจากทุกหน่วยเลือกตั้ง 95,000 หน่วยแบบเรียลไทม์ เริ่มรายงานผลการนับคะแนนแต่ละหน่วยเลือกตั้งจากทุกเขต หลังปิดหีบเลือกตั้งประมาณ 17.15 น.เป็นต้นไป

โดยตั้งเป้าหมายในการทำงานอาสาสมัครร่วมกันของทุกเครือข่าย พยายามทุกวิถีทางให้ทราบแนวโน้มผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในเบื้องต้นรอบแรกประมาณ 2 ชั่วโมง หลังปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. คาดว่าในเวลาไม่เกิน 19.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มสัดส่วนคะแนนแบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรค

และในเวลาไม่เกิน 21.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มคะแนนเสียงของผู้สมัคร ส.ส.เขตที่มีคะแนนนำอันดับหนึ่งในทุกเขต 400 เขต การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดอนาคตประเทศไทย

ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศยกเลิกการใช้แอปพลิเคชั่นการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) ไปใช้ระบบ ECT Report ที่ไม่ใช่แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเริ่มทราบผลการเลือกตั้งประมาณ 23.00 น.

ส่งผลทำให้สื่อที่จะต้องรายงานผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งเกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ได้รับเสียงเรียกร้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมให้ช่วยกันหาทางออก ร่วมมือกันสร้างระบบการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งจากหน้าคูหาเลือกตั้ง อย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์เช่นเดิม

ตลอดช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สื่อหลาย ๆ สำนัก โดย สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย),สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสื่ออิสระรวมกว่า 34 สำนัก ได้ร่วมกันหารือกับองค์กรภาคประชาสังคม อาทิสมาคมฟินเทคประเทศไทย, สมาคมเมตาเวิร์สไทย, D-Vote, โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฏหมายประชาชน (iLaw), Vote62, WeWatch, Opendream, CoFact และ ดร.ลอย ชุนพงษ์ทอง ฯลฯ

ระดมสมองอย่างเข้มข้นหาแนวทางการทำงานในรูปแบบภาคีเครือข่าย และการใช้เทคโนโลยีในการระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding, Crowdsourcing เพื่อช่วยกันระดมอาสาสมัครให้ได้ตามเป้าหมาย 100,000 คน ประจำทุกหน่วยเลือกตั้งประมาณ 95,000 หน่วยเลือกตั้ง ทั้งตรวจสอบจับตาและรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทันทีเมื่อปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น.

จนทำให้เกิดการพัฒนาอีกระดับของแอปพลิเคชั่นรายงานผลคะแนนเลือกตั้งแบบ Realtime และ Final Score ที่เคยนำมาทดสอบการใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 มาแล้ว

ทีมงานเทคโนโลยีได้พัฒนาระบบเชื่อมต่อเครือข่ายอาสาสมัครจากหลาย ๆ องค์กรให้สามารถใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมอบหมายหน้าที่อาสาสมัครในวันเลือกตั้ง ระหว่างการรายงานผลคะแนนแบบ Realtime และ Final Score รวมทั้งการถ่ายภาพกระดานนับคะแนนและใบรับรองผลการนับคะแนน ส.ส. 5/18 ในแต่ละหน่วย เพื่อส่งเข้ามาเก็บไว้ในระบบ Cloud และ Blockchain ให้สามารถตรวจสอบในภายหลังได้

คณะทำงานของสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยังได้ออกแบบระบบการรับสมัครอาสาสมัครและระบบการบริหารอาสาสมัครร่วมกันกับเครือข่ายต่าง ๆ เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มการระดมทุนแบบ Crowdfunding และ Crowdsourcing ที่ออกแบบโดย D-Vote

ภายใต้การทำงานร่วมกับ สมาคมฟินเทคประเทศไทย และสมาคมเมตาเวิร์สไทยโดยหลักการการเปิดรับสมัครอาสาสมัครของแต่ละเครือข่ายและองค์กรยังเป็นอิสระต่อกัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประชาสัมพันธ์ไปตามภารกิจของแต่เครือข่ายแต่ละองค์กรจะเห็นสมควร การระดมทุน Crowdfunding

ตั้งเป้าหมายเงินบริจาคจากผู้ต้องการสนับสนุนการเลือกตั้งและส่งเสริมประชาธิปไตยไว้ประมาณ 12 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาระบบรายงานผลคะแนนเรียลไทม์และระบบบริหารอาสาสมัครที่มีขนาดใหญ่มาก

ส่วน Crowdsourcing จะอยู่ในรูปแบบสิ่งของกับบริการต่าง ๆ ที่ได้จากผู้สนับสนุน เพื่อใช้เป็นการตอบแทนหรือ Reward ให้รางวัลกับผู้บริจาคและอาสาสมัครในการรายงานผลคะแนนที่ตั้งเป้าหมายระดมอาสาสมัครไว้ 100,000 คน

โดยจะส่งมอบในรูปแบบของ NFT หรือ Token ให้กับผู้บริจาคเงิน ผู้สนับสนุน และอาสาสมัครตั้งแต่เริ่มบริจาค หรือลงทะเบียนสมัครเข้ามาเป็นอาสา โดยจะขอเรียกรวม ๆ ว่าเป็น “ดิจิทัลคูปอง” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น ในการนำไปใช้แลกสินค้า หรือบริการส่วนลดที่ผู้สนับสนุนแจ้งความจำนงเข้ามา ในระยะเวลาดำเนินโครงการหรือภายหลังได้ปฏิบัติภารกิจรายงานผลคะแนนเลือกตั้งเสร็จแล้ว

ในส่วนการบริหารอาสาสมัครได้ออกแบบไว้ 3 ระดับเพื่อให้การายงานผลคะแนนเลือกตั้งเป็นไปอย่างครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้ง และส่งคะแนนเข้าระบบประมวลผลในศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องมากที่สุด ระดับที่ 1 อาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง 400 เขตที่มีหน่วยเลือกตั้งรวมประมาณ 95,000 หน่วย ที่ตั้งเป้าจะมีอาสาสมัครประมาณ 100,000 คนประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง

อาสาสมัครหลักในระดับหน่วยเลือกตั้งในทุก ๆ คูหาจะมาจาก สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ที่กระจายกันทุกจังหวัด, ทุกเทศกาลและทุกตำบลที่มีหน่วยเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านมากกว่า 80,000-90,000 หมู่บ้าน

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองหลายพรรคที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคมีอาสาสมัครของพรรค ประจำอยู่ในทุกหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้ว

พรรคที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้แล้วคือ พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคก้าวไกล, พรรคไทยสร้างไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยโครงการนี้ยังเปิดกว้างรับสมัครอาสาสมัครจากทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อช่วยกันทำให้การรายงานผลคะแนนเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้องมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาสาสมัครอิสระภาคประชาชนจากภาคีเครือข่ายที่ร่วมกัน

คือ iLaw, Vote62, WeWatch ฯลฯ และอาสาสมัครอิสระภาคประชาชนที่เป็นผู้สนใจจะมีส่วนร่วมทางการเมืองทำงานอาสาสมัครโครงการนี้ ที่สามารถสมัครโดยตรงกับภาคีเครือข่าย และผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ได้ เพื่อให้แต่ละเขตเลือกตั้งที่มีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 200-250 หน่วยเลือกตั้ง มีอาสาสมัครจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมรายงานการนับคะแนนเลือกตั้งแต่ละเขตให้มากที่สุด ส่วนในพื้นที่เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร 33 เขต

ทางกรุงเทพมหานครจะให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกในการรายงานคะแนนเลือกตั้งจากเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครประมาณ 6,500 คนที่ประจำอยู่ในทุกคูหาเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ผลคะแนนเลือกตั้งอย่างรวดเร็วและถูกต้อง

นอกจากนี้ทาง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้งด้วย โดยจะส่งอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้งใกล้มหาวิทยาลัยหาสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือมัธยมปลายทั่วประเทศ มีความสนใจจะร่วมสนับสนุนโครงการนี้ที่เป็นกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย

ด้วยการให้นักศึกษาและนักเรียนมัธยมปลายเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง ยังสามารถแจ้งความจำนงมาได้ทุกจังหวัด ระดับที่ 2 อาสาสมัครหัวหน้าเขตเลือกตั้ง 400 เขต และทีมงานที่จะมีการทำงานประสานงานกับสำนักงานกกต.เขตและ กกต. จังหวัดในการรับคะแนนที่เจ้าหน้าที่ กกต.เขตกรอกเข้าไปในระบบ ETC Report อาสาสมัครในระดับที่ 2 จะมีแนวทางการทำงานร่วมกับบุคลากรในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ

เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนในพื้นที่ต่าง ๆ, มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีวิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วประเทศ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยจะประชาสัมพันธ์ให้อาจารย์, เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและนักศึกษาของแต่ละสถาบัน เข้าร่วมโครงการ ในฐานะหัวหน้าเขตเพื่อบริหารอาสาสมัครใน 400 เขต ระดับที่ 3 อาสาสมัครศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง (Election Day War Room)

วอร์รูมจะทำหน้าที่ในการรวมศูนย์การส่งคะแนนจากอาสาสมัคร 400 เขตเข้ามาจากอาสาสมัคร 100,000 คน เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบคะแนนให้ถูกต้องมากที่สุดก่อนส่งเข้าระบบประมวลผลกลางของโครงการที่เชื่อมต่อไปยังสำนักข่าวต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการประมาณ 34 สำนัก เพื่อเผยแพร่ออกทุกช่องทางของสื่อต่าง ๆ โดยกองบรรณาธิการแต่ละสื่อสามารถตัดสินใจอย่างอิสระในการเลือกนำเสนอผลคะแนนเลือกตั้งในแต่ละเขต

และแสดงผลคะแนนในรูปแบบกราฟิกต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการแข่งขันในการนำเสนอให้น่าสนใจ ตามแนวทางหรือสไตล์ของแต่ละสำนักข่าวบนฐานข้อมูลคะแนนเดียวกันที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว

ศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง (Election Day War Room) จะอยู่ภายใต้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่มีประสบการณ์ในการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมจะลงทุนติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างน้อย 100 เครื่องและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยศรีปทุม

สรุปรายชื่อสื่อโทรทัศน์, สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง 2566 (อย่างไม่เป็นทางการ) โดยความร่วมมือและบริหารโครงการโดย 2 สมาคมหลัก คือ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

NATION TV, TOP NEWS, BBC Thai, Thai PBS, MONO29, SpaceBar, Thairath, GMM25, ส่องสื่อ, TNN, TRUE4U, ข่าวสด, PPTV, ทีวีรัฐสภา, ประชาชาติธุรกิจ, AMARIN TV 34HD, JKN, กรุงเทพธุรกิจ, ช่อง 3, Workpoint Today, คมชัดลึก, ช่อง 5, The MATTER, Spring News, ช่อง 7, Voice TV, ฐานเศรษฐกิจ, MCOT, THE STANDARD, Thainews, NBT, The Reporters, PostToday, ONE 31, มติชน, The Nation, เครือผู้จัดการ, ช่อง 8