เลือกตั้ง 2566 เครือมติชนคิกออฟ จี้ปมนโยบายประชานิยม ทำการคลังป่วน

เลือกตั้ง 2566 เครือมติชนคิกออฟ จี้ปมนโยบายประชานิยม ทำการคลังป่วน

เครือมติชน คิกออฟแคมเปญเลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย ห่วงนโยบาย ลด แลก แจก แถม หลายแคมเปญทำไม่ได้จริง อาจทำให้การคลังมีปัญหา

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่อาคารมติชน เครือมติชน นำโดยมติชน ประชาชาติธุรกิจ ข่าวสด มติชนทีวี มติชนสุดสัปดาห์ ผนึก 5 พันธมิตรสำคัญ ประกอบด้วย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, MFEC และศูนย์ข้อมูลมติชน ร่วมกันเปิดตัวแคมเปญ “มติชน : เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย”

ซึ่งเป็นการเปิด “5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ 2 กลยุทธ์” เพื่อสะท้อนภาพทุกมิติ ตีแผ่ทิศทางของสถานการณ์การเลือกตั้ง 2566 ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างไร พลังมหาศาลจากคะแนนเสียงจากประชาชน จะปลดล็อกประเทศไทยให้พ้นจาก “ดีไซน์” ของกลุ่มอำนาจได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของสื่อมวลชนในการร่วมขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย

ทั้งนี้ นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) MFEC กล่าวว่า ลูกน้องส่วนใหญ่สายไอทีเป็นคนรุ่นใหม่ จึงเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ค่อนข้างเบื่อเพราะการเมืองเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ นี่คือความเห็นของคนรุ่นใหม่ ไม่มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลง เราไม่พูดถึงสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราดูที่ความพยายาม ทำไมเอาคนที่ไม่เห็นด้วยหลากหลาย ค้านกันไป ค้านกันมา ไม่มีการขับเคลื่อน

สิ่งที่เราอยากจะเน้นคือ ถ้าจะพัฒนาประเทศเหมือนเกาหลีใต้ หรือไต้หวัน เขาจะเอาคนที่มีความคิดใกล้เคียงกัน ว่าเราจะไปทาง เซมิคอนดักเตอร์ แล้วก็ทำต่อเนื่อง หรือซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลี เขาทำมา 10-15 ปีที่แล้ว และเลือกคนที่มีความคิดเห็นแนวเดียวกันและทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทยทำปีเดียวแล้วจบ ไม่มีความต่อเนื่อง

“สิ่งที่ MFEC อยากจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่คือ ยังไงก็ต้องเลือก เลือกคนที่มีความคิดใกล้เคียงกัน เน้นที่สิ่งที่เราอยากได้ คือ public policy ตอนนี้คนรุ่นใหม่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าเลือก ส.ส.พรรค ก. พรรค ข. แล้วเขาจะได้ทำอะไร ถ้าเราเน้นที่ public policy ทุกคนจะรู้ว่าเลือกคนกลุ่มนี้เราจะได้อย่างนี้ ดังนั้น น่าจะถึงจุดที่เปลี่ยนแปลง เอาคน 500 คนที่มีความคิดคล้าย ๆ กันมาแก้ปัญหาของประเทศ”

“ลด แลก แจก แถม” ปัญหาใหญ่ กระทบอนาคตเศรษฐกิจ

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญอย่างยิ่ง น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกตัวนายกฯ ครั้งต่อไปจะเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบมากขึ้น

ทีดีอาร์ไอ อยากเห็น

1.ประชาธิปไตยมั่นคง เดินหน้าต่อเนื่อง ไม่ถอยหลัง ไป ๆ มา ๆ ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ คือการแข่งขันในเชิงนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ เมื่อพรรคไหนชนะมาเป็นรัฐบาล นโยบายเหล่านั้นสามารถทำได้จริง ตัวนี้จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบประชาธิปไตยของประเทศ

2.นโยบายสาธารณะที่จะเอามาเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป ควรจะต้องยั่งยืนทางการเมือง ยั่งยืนทางการคลังด้วย ไม่ทำให้คนในอนาคต ซึ่งเป็นจุดอ่อนประชาธิปไตย ซึ่งคนปัจจุบันออกเสียงเลือกตั้ง แต่คนในอนาคตที่ยังไม่เกิดต้องรับภาระการตัดสินใจของเราในวันนี้ด้วย

ดังนั้น นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาควรจะเป็นนโยบายที่มีความยั่งยืนด้านการคลัง ไม่ทำให้ประเทศติดหล่ม ลดแลก แจก แถม กันไป ไม่ใช่เฉพาะพวกเรานักวิชาการ หรือสื่อมวลชน นักการเมืองเองก็มีความเป็นห่วงว่าด้วยเกมของการเลือกตั้งปัจจุบัน ทำให้พรรคการเมือแข่งกัน

ลด แลก แจก แถม กำลังสร้างปัญหาใหญ่ของประเทศ ใน 2 ด้าน ด้านหนึ่งถ้าทำตามที่หาเสียงกันหมด ประเทศจะไปไม่ได้ในทางเศรษฐกิจ การคลัง เช่น ประเทศอังกฤษ ที่นายกฯ อังกฤษลาออกไป ด้วยเหตุผลที่พยายาม ดำเนินนโยบายที่เป็นไปไม่ได้ในทางการคลัง นักลงทุนก็ลงโทษ

ถ้าประเทศไทยได้นโยบายออกมา ทำแล้วประเทศมีปัญหาด้านทางการคลัง ทางเศรษฐกิจ ประเทศก็เสียหาย แต่ถ้าไม่ทำก็มีความเสี่ยงในด้านความเชื่อถือของระบบประชาธิปไตย ทีดีอาร์ไอ อยากช่วยให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยที่ลงรากปักฐาน ด้วยนโยบายทำได้จริง และเป็นนโยบายที่ไม่สร้างภาระแก่คนในอนาคต

ประมาณสัปดาห์หน้าจะออกการวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมือง ที่มีการหาเสียงว่าใช้เงินทั้งหมดจะใช้เงินเท่าไหร่ ส่งผลกระทบอย่างไร และลงลึกในแต่ละด้าน 8 ด้าน ทั้งด้านเกษตร การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ เป็นอย่างไร โปรดอย่ารอคอยแต่ติดตามด้วยความระทึกใจ

ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า สำหรับบทบาท สื่อมวลชนเป็นตะเกียง ช่วยให้ข้อมูลกับประชาชน ตัวอย่างเช่น เวทีที่จะชวนพรรคการเมือง เวทีดีเบตแคนดิเดตนายกฯ ต้องตั้งคำถาม เพราะนโยบายหาเสียงมีหลายตัวทำไม่ได้จริง ทำให้ประเทศถดถอยลงไป ไม่อยากให้พรรคการเมืองมีวิสัยทัศน์อย่างไรเท่านั้น แต่ต้องล้วงเข้าไปเอาเงินมาจากไหน ทำได้จริงไม่ได้จริงด้วย และทำให้โหวตเตอร์ ได้ฉุกคิดว่ามีต้นทุนติดมาด้วย

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย กล่าวว่า ถ้าดูตัวเลขการเลือกตั้ง 2562 พลังเสรีนิยม กับฝ่ายอนุรักษนิยม ชนะกันไม่เด็ดขาด 2562 ขณะนี้ เราได้ชุดข้อมูลระดับหน่วยเลือกตั้ง ถ้าวันนี้ กกต.ประกาศเขตปุ๊บ พริบตาเราใช้ฐานตัวเลขปี 2562 แล้ววิเคราะห์ได้ทันทีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะได้เป็นนายกฯ หรือเปล่า

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรายินดีที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่เสรีภาพ ทุกคนมาใช้พื้นที่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังไม่เห็นนโยบายของพรรคการเมืองเลย คือนโยบายต่างประเทศ เพราะประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก นอกจากมีนโยบายในประเทศ จะต้องมีนโยบายต่างประเทศ คือ นโยบายค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งนโยบายต่างประเทศต้องมีต้องแข็ง เกาหลีใต้ดีขึ้นมาก็เพราะนโยบายต่างประเทศ คนไทยต้องรู้ไทย เข้าใจโลกให้ได้

“สื่อ” กับองค์ความรู้อธิบายสังคม

นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมชัดเจนขึ้น การเลือกตั้งปี 2562 นิวโหวตเตอร์มีพลัง สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือนัยสำคัญบางอย่างได้ การเลือกตั้งคือโพลที่ใหญ่มาก เป็นกลุ่มตัวอย่างระดับประเทศ และมีความซับซ้อน บรรจุอารมณ์ความรู้สึกของคนที่เปลี่ยนไปด้วย

สำหรับบทบาทของสื่อนั้น กิจกรรมที่มติชนจะจัด น้ำหนักอยู่ที่อนาคต ไม่ว่าจะเป็นเวทีดีเบตต่าง ๆ เราจะฉายภาพให้เห็นว่าพรรคการเมืองและแคนดิเดตนายกฯ รวมถึงภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ มองอนาคตของสังคมไทยอย่างไรบ้าง ในส่วนของมิติปัจจุบัน เป็นสิ่งที่สื่อต้องทำอยู่แล้ว ในการแข่งขันกันรายงานผลเลือกตั้ง

สำหรับอดีต ในแง่ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือทำให้เราเข้าใจสภาพการเมืองไทยได้ เวลาเราพูดถึงการเมืองไทยร่วมสมัยเราจะมองว่าเป็นความสืบเนื่อง เป็น 8 ปีที่เรามีนายกฯ ประยุทธ์ หรือ 14 ปีของสงครามเสื้อสี 17 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน สื่ออย่างเครือมติชน มีประสบการณ์ มีคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวแสดงทางการเมืองแล้วนำมาเชื่อมโยงได้มากพอหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง

“สุดท้ายคนคาดหวังจากสื่อ ว่าจะใช้องค์ความรู้ทั้งหมดสามารถให้คำอธิบายบางอย่างกับสังคมว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาจะอธิบายความเปลี่ยนแปลง ณ จุดนั้นอย่างไร” นายปราปต์กล่าว