เลือกตั้ง 2566 : กางไทม์ไลน์ รัฐบาลประยุทธ์ รักษาการถึงสิงหาคม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ภาพ : .thaigov.go.th

“วิษณุ” รายงานไทม์ไลน์เลือกตั้ง คาดได้ ครม.ชุดใหม่สิงหาคม รัฐบาลเก่าอยู่รักษาการยาว 4 เดือน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงท้ายของการแถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับไทม์ไลน์คร่าว ๆ เกี่ยวกับการยุบสภา การเลือกตั้ง 2566 จนกระทั่งการมีรัฐบาลชุดใหม่

ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุม ครม. ว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 25) จะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ แต่กรณีที่มีการยุบสภาเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

ไม่ว่าจะเป็นยุบสภาหรือครบวาระจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2566 แน่นอน โดยคาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม 2566 และหลังจากนั้นจะเป็นการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คนในต้นเดือนกรกฎาคม 2566

กลางเดือนกรกฎาคม 2566 การเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร

การเลือกนายกรัฐมนตรีและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ขั้นตอนต่อไปคือการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตน คาดว่าอยู่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566

“รัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงต้องรักษาการต่อไปประมาณ 4 เดือนครึ่งหลังจากยุบสภาหรือครบวาระ ไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวว่า ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดตามวาระวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งวุฒิสภายังมีอยู่ แต่จะประชุมไม่ได้ เว้นแต่เป็นการพิจารณาตั้งองค์กรอิสระที่ยังสามารถดำเนินการได้ ส่วนเรื่องของกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ใน 2 สภามีอยู่ประมาณ 29 ฉบับ จะตกไปทันที

และหลังเลือกตั้งหากรัฐบาลจะนำกลับเข้าพิจารณาต่อ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องยกขึ้นมาพิจารณาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ สำหรับกฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่มีการกราบบังคมทูลไปแล้วตอนนี้อยู่ที่ 11 ฉบับ ยังดำเนินการต่อไปตามปกติ

แต่หากมีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดได้ ส่วนพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับกระทรวงต่าง ๆ ยังสามารถดำเนินการออกได้ตามปกติ

ด้านผลที่เกี่ยวข้องกับ ครม. เมื่อพ้นตำแหน่งแต่ยังอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อ (รักษาการ) จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ตำแหน่งต่าง ๆ เอกสารราชการ หรือการรายงานข่าวไม่จำเป็นต้องวงเล็บว่ารักษาการ สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะพ้นตำแหน่งในวันเดียวกับที่ ครม.พ้นตำแหน่ง คือเมื่อมีการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณของ ครม.ชุดใหม่

ในระหว่างรักษาการหากมีรัฐมนตรีลาออก จะไม่กระทบ ครม.ที่เหลือ ยังสามารถประชุมได้ และนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจในการปรับ ครม.ได้หากมีความจำเป็น ขณะที่เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครม.จะต้องดำเนินการภายใน 60 วัน นับจากวันที่ ครม.ใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณไปแล้ว

นายอนุชากล่าวว่า นอกจากนี้ ในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. จะต้องอยู่ในเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้ ต้องไม่อนุมัติงาน หรืออนุมัติโครงการที่สร้างความผูกพันกับ ครม.ใหม่ ยกเว้นจะเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว

ต้องไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงาน หรือมีการให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

ต้องไม่อนุมัติการใช้งบกลาง เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

และต้องไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐกระทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนระเบียบของ กกต. เช่น ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ต้องไม่จัดโครงการที่เป็นการเอาเปรียบ

ไม่มีการประชุม ครม.สัญจร ไม่มีการจัดประชุมโดยใช้งบฯของรัฐ เว้นแต่จะจัดตามวาระปกติอยู่แล้ว ไม่โอนงบประมาณเพื่อทำในลักษณะของแจกจ่ายให้ประชาชน และต้องไม่ใช้ทรัพยากรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น