สุพัฒนพงษ์ ยันยุบสภาเศรษฐกิจไม่สะดุด รัฐบาลรักษาการ 3 เดือน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
แฟ้มภาพ ; สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

วิษณุฉายสไลด์เทียบรัฐบาลรักษาการปี’62 กับ 66 ยาว 3 เดือน สุพัฒนพงษ์ยันยุบสภาเศรษฐกิจไม่สะดุด

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้จะมีการหารือว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ หากมีการยุบสภา ส่วนเรื่องเศรษฐกิจก็เดินไปได้ แต่จะมีเรื่องของการปฏิบัติ เช่น LTR เพราะต้องของบกลางเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในระดับของปฏิบัติการมากกว่าเป็นเรื่องของนโยบาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากยุบสภาเศรษฐกิจจะไม่สะดุดใช่หรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่าไม่น่าจะสะดุด เพราะมีการเตรียมการ แต่ตนจะสอบถามในที่ประชุมเหมือนกัน ถ้ามีปัญหาฉุกเฉินจะทำอย่างไร เช่น เรื่องงบประมาณ งบกลาง ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี เรื่องเศรษฐกิจก็เดินหน้าไม่ได้

“ตอนนี้เรื่องของการอนุมัติโครงการ ไม่มีโครงการขนาดใหญ่ แต่ถ้ามันมีอะไรฉุกเฉิน วิกฤต ซึ่งโอกาสเกิดน่าจะน้อย แต่ก็มีช่องที่จะสามารถเดินตามช่องทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้แล้ว” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ฉายสไลด์ให้ที่ประชุม ครม. โดยเปรียบเทียบเมื่อปี 2562 รัฐบาล คสช.รักษาการนาน 4 เดือน ขณะที่ปี 2566 รัฐบาลรักษาการ 1.5-3 เดือน ดังนี้

  • ยุบสภา หรือครบวาระเดือนมีนาคม
  • วันเลือกตั้ง ต้นเดือนพฤษภาคม
  • ประกาศผล ต้นเดือนกรกฎาคม
  • เสด็จเปิดสภา กลางเดือนกรกฎาคม
  • ตั้งประธานสภา กลางเดือนกรกฎาคม
  • เลือกนายกรัฐมนตรี ปลายเดือนกรกฎาคม
  • โปรดเกล้าฯตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปลายเดือนกรกฎาคม
  • ตั้ง ครม.ชุดใหม่ ต้นเดือนสิงหาคม
  • ครม.ชุดใหม่ ถวายสัตย์ฯ ต้นเดือนสิงหาคม

ผลของการยุบสภาหรือสภาครบ 4 ปี

ผลต่อกฎหมาย

  • ร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างอยู่ในสภาทั้งสอง (29 ฉบับ) ตกไป แต่หลังเลือกตั้ง รัฐบาลขอให้ยกขึ้นพิจารณาต่อไปได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันเสด็จฯเปิดสภา
  • ร่าง พ.ร.บ.ที่ถวายไปแล้ว (11 ฉบับ) ยังดำเนินต่อไปได้
  • ระหว่างนั้น ถ้าจำเป็นเร่งด่วนอาจออก พ.ร.ก.ได้
  • การออก พ.ร.ฎ. กฎกระทรวง ยังทำได้ตามปกติ
  • การหาเสียง หากใช้รถหลวง (เติมน้ำมันเอง) ใช้ รปภ.ราชการให้ทำได้ตามปกติที่เคยทำ (อย่าเกินจากปกติ) ผู้หาเสียงต้องไม่แต่งเครื่องแบบและไม่ใช้เวลาราชการ หรืองบฯราชการ ส่วนการใช้สถานที่ราชการหาเสียงให้ขออนุญาตตามระเบียบก่อน

ผลต่อ ครม.

  • ครม.พ้นตำแหน่ง แต่ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ใหม่จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ (ไม่ต้องวงเล็บว่ารักษาการ)
  • ข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ได้และพ้นตำแหน่งวันเดียวกับ ครม.
  • ถ้ารัฐมนตรีลาออกก็ไม่กระทบ ครม./ยังประชุมได้/ปรับ ครม.ได้
  • ครม.ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ ครม.ใหม่ถวายสัตย์ฯ
    การปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
  • ไม่อนุมัติงาน หรือโครงการ หรือสร้างความผูกพัน ครม.ใหม่ เว้นแต่เป็นเรื่องอยู่ในงบประมาณประจำปี
  • ไม่แต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ พนักงาน หรือให้พ้นตำแหน่ง เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
  • ไม่อนุมัติให้ใช้งบกลาง เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.
  • ไม่ใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐกระทำการอันมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่ฝ่าฝืนระเบียบ กกต.

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 78 ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอาเปรียบ-ระเบียบ

  • ไม่จัดโครงการที่เป็นการเอาเปรียบ
  • ไม่ประชุม ครม.สัญจร
  • ไม่จัดประชุมโดยใช้งบของรัฐ เว้นแต่จัดตามวาระ
  • ไม่ใช้ทรัพยากรหรือคนของรัฐเอาเปรียบ