เปิดขั้นตอนรับสมัคร ส.ส.เขต – บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ เลือกตั้ง 66

ขั้นตอนรับสมัคร ส.ส.เขต - บัญชีรายชื่อ

เปิดขั้นตอนรับสมัคร ส.ส.เขต – บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เริ่มวันนี้ (3 เม.ย.) วันแรก

นับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 เป็นต้นไป การหาเสียงเลือกตั้งจะดุเดือด เข้มข้น

เพราะเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในวันที่ 3-7 เมษายน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.

และในวันที่ 4-6 เมษายน จะเป็นวันที่รับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแจ้งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ส่วนวันที่ 7 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายจะเปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและแจ้งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ตั้งแต่เวลา 08.30 จนถึง 16.00 น.

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนี้

ขั้นตอนการรับสมัคร ส.ส.เขต

สำหรับการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งพร้อมเอกสารหลักฐาน ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด

1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2, สำเนาทะเบียนบ้าน
3. ใบรับรองแพทย์
4. หนังสือรับรองการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งต้องมีคำรับรองด้วยว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว (ส.ส. 4/8)
5. หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ปีภาษี 2564 และปีภาษี 2565 ของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี (ส.ส. 4/7)
6. รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตรยาวประมาณ 13.5. เซนติเมตร จำนวนคนละ 10 รูป
7. เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)
8. เอกสารสรุปย่อประวัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
9. หลักฐานประกอบการสมัคร รับเลือกตั้งเพิ่มเติมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
– หลักฐานซึ่งแสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
– หลักฐานซึ่งแสดงว่าเป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
– หลักฐานซึ่งแสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา
– หลักฐานซึ่งแสดงว่าเคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

 ขั้นตอนจับหมายเลข

1. เปิดลงทะเบียนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง “รับบัตร” เพื่อเข้าอาคารสถานที่รับสมัคร ตั้งแต่เวลา 06.00 น. (เจ้าหน้าที่ กกต. กทม.เตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนเวลา 05.30 น.)
2. เจ้าหน้าที่ชี้แจงขั้นตอนการรับสมัคร
3. เริ่มขั้นตอนการรับสมัคร ในเวลา 08.30-16.30 น.
4.กรณีผู้สมัครที่มาสมัครก่อนเวลา 08.30 น. ให้ถือว่ามาพร้อมกัน ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผอ.กต.เขต จัดประชุมเพื่อตกลงลำดับการสมัครของผู้ที่มาสมัครพร้อมกัน “หากตกลงกันได้” ให้ยื่นตามลำดับที่ตกลงกันของผู้ที่มายื่นใบสมัคร หากเกิดกรณีผู้สมัคร “ตกลงกันไม่ได้” ผอ.กต.เขต จะจับสลาก เพื่อกำหนดลำดับจับฉลาก
5.ยื่นใบสมัครและเอกสารประกอบการรับสมัครตามลำดับการลงทะเบียน ต่อ ผอ.กต.เขต โดยยื่นใบสมัครพร้อมเอกสาร ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร / หลักบานในเบื้องต้น
6.ชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร (เงินสด) ออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้สมัครใช้ประกอบหลักฐานการสมัคร
7.ผอ.กต.เขต ออกใบรับสมัคร ให้แก่ผู้สมัครเรียงลำดับการยื่นใบสมัคร

สำหรับสถานที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามารถตรวจสอบได้ ที่นี่ https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=20202

 รับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ขณะที่การสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นั้น พรรคการเมืองจะต้องส่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ออกใบรับใบสมัครรับเลือกตั้งแล้ว จึงจะส่งสมาชิกพรรคการเมืองสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้

โดยให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากหัวหน้าพรรคการเมือง ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมทั้งหลักฐานประกอบการสมัครของผู้สมัครแต่ละคน ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ในเวลา 08.30 – 16.30 น. ของวันที่ 4 – 7 เมษายน ทั้งนี้ วันที่ 7 เมษายน จะเปิดตั้งแต่เวลา 08.30 จนถึง 16.00 น. ดังนี้

1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
2.สำเนาทะเบียนบ้าน
3.ใบรับรองแพทย์
4.หนังสือรับรองการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งต้องมีคำรับรองด้วยว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว(ส.ส. 4/8)
5.หนังสือยินยอมให้เสนอชื่อสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
6.หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ปีภาษี 2564 และปีภาษี 2565 ของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี (ส.ส. 4/7)
7.รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตรยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร จำนวนคนละ 10 รูป
8, เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)

ในส่วนของพรรคการเมืองที่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ได้ออกใบรับใบสมัครรับเลือกตั้งแล้ว

หากประสงค์จะแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แจ้งรายชื่อพร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่เกิน 3 รายชื่อ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ในเวลา 08.30 – 16.30 น. ของวันที่ 4 – 7 เมษายน ทั้งนี้ วันที่ 7 เมษายน จะเปิดตั้งแต่เวลา 08.30 จนถึง 16.00 น.

อนึ่ง บุคคลใดจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองเดียว และจะสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือแบบบัญชีรายชื่อแบบใดแบบหนึ่งได้เพียงแบบเดียว และสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงเขตเดียว

งดขบวนแห่หน้าสถานที่สมัคร

นอกจากนี้ กกต.แจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดขบวนแห่ ในวันสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองและบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดขบวนแห่หรือกองเชียร์ที่แสดงการสนับสนุนเข้ามาในสถานที่สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองในวันดังกล่าว

เมื่อกระบวนการสมัครเสร็จสิ้นลงแล้ว มิควรมีการจัดขบวนหรือกองเชียร์ออกจากสถานที่รับสมัครไปตามถนน ตำบล หรือหมู่บ้านในลักษณะนี้อีก

โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากเคยมีคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไว้ในทำนองเดียวกันว่าการจัดขบวนแห่และรถยนต์ติดแผ่นป้ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งภายหลังการสมัครรับเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วไปตามชุมชน


โดยมีการแสดงดนตรีหรือการรื่นเริงใด ๆ ถือเป็นการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการหาเสียงด้วยการจัดให้มีการรื่นเริงซึ่งขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง