เบื้องหลังเกมสอดแนม ประวิตร ขึ้นนายกฯ เพื่อไทยชนะแต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แผนส่งประวิตรขึ้นนายกฯคนที่ 30

พรรคพลังประชารัฐ ปล่อยคาราวานว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 400 เขต + 92 ปาร์ตี้ลิสต์ พร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง-ชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” กล่าวเปิดตัว-เปิดงาน ปลุกกำลังใจ-กำลังพลด้วยเสียงคำรามสมดั่งอดีตผู้บัญชาการกองทัพว่า “ถ้าเราได้เป็นรัฐบาลแล้ว เราจะทำตามที่เราหาเสียงไว้ให้กับประชาชน”

สุนทรพจน์ของ “พล.อ.ประวิตร” ต่อหน้ากำลังพล 500 คน ที่พร้อมออกจากจุดสตาร์ต-ออกไปสู้ถวายหัว ท่ามกลางกองเชียร์ที่ขนกันมาเกือบเต็มความจุ 15,000 คน เต็มไปด้วยนัยยะทางการเมือง-วรรคทอง

“เราพร้อมที่จะรับใช้พี่น้องประชาชนทุกท่าน คนไทยทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่น้องร่วมชาติ ที่ผ่านมาประเทศเราพัฒนาได้ยาก เพราะขัดแย้งแตกแยก ขอเชิญพวกเรามาก้าวข้ามความขัดแย้ง”

“ผมพร้อมสานประโยชน์กับทุกฝ่าย พร้อมที่จะนำ ความรัก ความสามัคคีมาสู่ประเทศชาติของเราคนไทย ต้องรักกันสามัคคีกัน เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติและประชาชน”

พรรคพลังประชารัฐ

“เมื่อเราก้าวข้ามความขัดแย้งได้เราก็จะมีพลังที่จะก้าวข้ามความยากจนไปด้วยกัน…การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของท่านทั้งหลายที่จะให้พรรคใดมาบริหารประเทศ เรามีทีมเศรษฐกิจที่คิดนโยบายไว้มากมาย การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าเราได้คะแนนมาเป็นที่หนึ่งจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทันที”

เมื่อพรรคพลังประชารัฐ “ยุคใหม่” ไม่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็น “จุดขาย” มุ้งการเมืองโบกมือลา สลับขั้วไปพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้ง 2566 เป้าหมาย 120 ที่นั่ง ยังต้องลุ้นให้เข้าเป้า

“อนุมัติ อาหมัด” อดีต ส.ว. คีย์แมน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ไทย-มุสลิม ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ตั้งเป้าว่าจะได้ ส.ส. 5-6 ที่ และไม่กังวลว่าการไม่มี พล.อ.ประยุทธ์จะฉุดกระแสพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขายไม่ได้

ยิ่งมีเงื่อนไข พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยิ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้า “อนุมัติ” ไม่หนักใจ ทั้งที่พรรครวมไทยสร้างชาติก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประยุทธ์ก็คือรวมไทยสร้างชาติ

“แปลกเหมือนกันที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มองว่าลงคะแนนให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติก็เหมือนการลงคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์” อดีต ส.ว.สายบิ๊กป้อมกล่าวด้วยความฉงน

พรรคพลังประชารัฐ

วาทกรรม “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ดูเหมือนว่าจะการันตีว่า หลังการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐจะได้เป็น “พรรครัฐบาล” แต่ความไม่แน่นอนคือ หากพรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลาย “แลนด์สไลด์” หรือ แท็กทีม-แพ็กเสียงกับพรรคที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” 310 เสียง พรรคพลังประชารัฐยังจะมีความสำคัญอยู่หรือไม่

“กระแสพรรค (เพื่อไทยแลนด์สไลด์) ก็ว่ากันไป แต่ตัวผู้สมัครของเรา เราไม่ด้อย” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตมือลูกน้อง เสธ.ไอซ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี-ทักษิณ ชินวัตร ตอบอย่างไม่ยี่หระ

คำถามที่ว่า แล้ว “พรรค ส.ว.” ที่เป็น “พรรคพวก” ของ “พรรคบิ๊กป้อม” ยังเป็น “แต้มต่อ” ที่สำคัญอยู่หรือไม่ “ผู้กองธรรมนัส” ตอบว่า “เนื่องจากกฎหมายสำคัญ ๆ ต้องใช้สองสภา ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีเสียงของ ส.ว.สนับสนุน ซึ่ง ส.ว.ยังมีอายุอีก 1 ปีกว่า ๆ จึงมองข้ามไม่ได้ แม้ว่าจะมีบางพรรคชนะเลือกตั้ง แต่ใช่ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้” คีย์แมนที่มีเครือข่าวสอดแนมการเมืองอยู่หลายพรรคระบุ-พาดพิง แม้ไม่พูดเต็มปากว่าหมายถึงพรรคเพื่อไทย

“ร.อ.ธรรมนัส” ขุนพลภาคเหนือ ที่ต้องรับภารกิจหิน-รับผิดชอบภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด (น่าน แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน) ตั้งใจปักหมุดทุกจังหวัด แต่จะ “ปักธง” จังหวัดไหนบ้างต้องดูหลังจากได้เบอร์ หลังวันรับสมัครเลือกตั้ง

“การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้ ส.ส. 5 ที่นั่ง การเลือกตั้งครั้งนี้ 2566 ต้องได้มากกว่าเดิม หลังจากได้เบอร์แล้วจะประเมินอีกครั้ง” อดีตประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือพรรคพลังประชารัฐกล่าว

ส่วนพื้นที่ที่ “ร.อ.ธรรมนัส” จะบุกเพิ่มคือ ลำปาง-แพร่ เขาเล่าให้เเห็นเส้นทางชัยชนะ ว่า “ผมเพิ่งไปจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่มา พี่น้องประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงจังหวัด เพราะจังหวัดไม่ได้รับการพัฒนามามากกว่า 10 กว่าปี ซึ่งตัวผู้สมัครมั่นใจ และจากการที่ผมสัมผัสกับชาวบ้านต้องการเปลี่ยนแปลง”

พรรคพลังประชารัฐ

ส่วน พล.อ.ประวิตรจะได้เป็น “นายกฯคนที่ 30” หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสมั่นใจว่า “หัวหน้าตัวเองจะได้เป็นนายกฯ พรรคพลังประชารัฐก็มั่นใจว่าหัวหน้าพรรคเราจะได้เป็น”

“ร.อ.ธรรมนัส” จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญหรือไม่ เขากล่าวอย่างถ่อมตัว “ตอนนี้เราต้องช่วยลูกพรรคให้เข้าวินก่อน หลังจากนั้นค่อยว่ากัน ยังเร็วเกินไปที่จะคุยเรื่องจัดตั้งรัฐบาล”

สำหรับพลังประชารัฐพรรคใหญ่-ขนาดพรรคที่ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว “เพียงครั้งเดียว” เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ได้ ส.ส.จำนวน 116 ที่นั่ง 8,441,274 คะแนน

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน

คนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คนที่สอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

หัวหน้าพรรค 2 คน

คนแรก นายอุตตม สาวนายน

คนที่สอง พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เลขาธิการพรรค 4 คน

คนแรก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

คนที่สอง นายอนุชา นาคาศัย

คนที่สาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

คนที่สี่ นายสันติ พร้อมพัฒน์

แกนนำกลุ่มที่ยังอยู่-มีบทบาทในพรรค

กลุ่มโคราชของนายวิรัช รัตนเศรษฐ

กลุ่มเพชรบูรณ์ของนายสันติ พร้อมพัฒน์

กลุ่มปากน้ำของนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม สมุทรปราการก้าวหน้า

กลุ่มกำแพงเพชรของนายวราเทพ รัตนากร

กลุ่มสระแก้วของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง

กลุ่มพะเยาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

กลุ่มราชบุรี นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา

กลุ่มกาญจนบุรีของ “ซ้อเจน” นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์

กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ของ นายอนุมัติ อาหมัด แกนนำสำคัญของพรรค

พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์

พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร

พล.อ.วิชช์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา

พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูล ณ อยุธยา

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

นายสกลธี ภัททิยกุล

นายอภิชัย เตชะอุบล

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

ทีมเศรษฐกิจ

นายอุตตม สาวนายน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

นายวราเทพ รัตนากร

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี

รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม

นายสุนทร ปานแสงทอง รมช.มหาดไทย (โควตากลุ่มปากน้ำ)

อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หรือ ดีอีเอสปัจจุบัน อดีต รมว.อุตสาหกรรม อดีต รมว.คลัง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พาณิชย์ อดีต รมว.พลังงาน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์

พรรคพลังประชารัฐ