ชลน่าน : เปิดจุดเสี่ยงเดดล็อกตั้งรัฐบาล เพื่อไทยเป็นภัยต่อมือที่มองไม่เห็น

ชลน่าน : เปิดจุดเสี่ยงเดดล็อกตั้งรัฐบาล เพื่อไทยเป็นภัยต่อมือที่มองไม่เห็น

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองบนกระดานเพียงคนเดียว ที่ลงสมัคร ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง ที่ จ.น่าน บ้านเกิด

สำคัญกว่านั้น อาจเป็นหัวหน้าพรรคคนเดียวในบรรดาพรรคหลักในลู่การเลือกตั้ง ที่ไม่ได้เป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรค

ในชั่วโมงที่พรรคเพื่อไทย ปั่นกระแสแลนด์สไลด์ กางเป้าหมายทะลุ 310 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ปิดประตูไม่ให้อำนาจ 3 ป.ได้ไปต่อ

“ประชาชาติธุรกิจ” แทรกคิวปราศรัยใหญ่-ขยับประชุมนัดสำคัญ สนทนาพิเศษกับ “นพ.ชลน่าน” อะไรคือจุดแข็ง จุดเสี่ยง และ “เขา” ที่เฝ้าทำลาย-ยุบพรรคฝายทักษิณ มาทุกยุค “เขา” คือ มือที่มองไม่เห็น ที่พรรคเพื่อไทยหวาดหวั่นใจว่าจะเป็นอุปสรรคขัดขวางแผนแลนด์สไลด์ และทำให้เพื่อไทยไปไม่ถึงฝั่งทำเนียบรัฐบาล

จุดขาย จุดแข็งพรรคเพื่อไทยคืออะไร

จุดแข็งที่สุดของพรรคเพื่อไทยคือ เรื่องการเสนอนโยบาย พรรคเพื่อไทยพูดนโยบายอะไรแล้วทำได้ เป็นนโยบายที่กินได้ และข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างนั้นมาตลอด ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

ความเป็นไทยรักไทยเรา ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ชนะเลือกตั้งทุกครั้ง มาเสริมจุดแข็งของเรา ซึ่งเรามี ส.ส. มีเครือข่ายจำนวนมากในพื้นที่ของประเทศ เป็นจุดแข็งที่ทำให้ประชาชนได้สัมผัส ได้เข้าถึงพรรคของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม

จุดแข็งด้านบุคลากรของพรรค ไม่ว่าเป็นส่วนกลางหรือภูมิภาค เป็นคนรุ่นผสมผสาน คนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์สูง คนกลาง คนรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่ฝันความทะเยอทะยานสูง ความมุ่งมั่นสูง ความฝัน มีความรู้ความสามารถ ทันเทคโนโลยี เป็นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งที่เราพยายามขาย

และแคนดิเดตนายกฯ เราชูแคนดิเดตนายกฯ ที่ทำให้คนไว้ใจเชื่อใจ ว่า สามารถนำนโยบายที่เราขายไปสู่ตัวประชาชนเอง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้ รวมถึงเรื่องการสื่อสาทางการเมือง เดิมเราถือว่าเราด้อย แต่หลังจากเรารีแบรนด์ ปรับเรื่องคน วิธีการใหม่ทั้งหมด เราประเมินแล้วได้รับการตอบรับที่ดีมาก

แล้วจุดเสี่ยงของพรรคเพื่อไทย คืออะไร

การเมืองไทยเป็นการเมืองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง อำนาจไม่ได้เป็นของปวงชนชาวไทยที่แท้จริง จึงมีอำนาจที่อยู่ทั้งในระบบและนอกระบบ หลายคนใช้คำว่ารัฐซ้อนรัฐ ภาพการเมืองไทยแบบนี้เป็นสิ่งที่มาคุกคามเรา และทำให้เรามีข้อด้อย ในแง่ที่เขาใช้กลไกเหล่านี้บอกเราว่า เราเป็นภัยต่อสถาบัน เป็นพรรคครอบครัว แสวงหาประโยชน์ ทุจริตคอร์รัปชั่น

และที่ผ่านมาเขาทำจริง คือ ยุบพรรคไทยรักไทย ยุบพรรคพลังประชาชน พยายามยุบพรรคเพื่อไทย จัดการผู้นำของเรา ทำลายโอกาสของเรา ไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทยนะ ใครก็ได้ที่แหลมมาในลักษณะที่เขาเกิดความระแวง ความสงสัย ว่าจะแย่งอำนาจไปจากเขา เขาก็จัดการ เช่นพรรคข้างบ้านนี่ไง (พรรคอนาคตใหม่) เขาก็โดนเหมือนกัน นี่คือจุดเสี่ยง

เวลาที่พูดถึง “เขา” ว่าเป็นภัยคุกคามเพื่อไทย ในใจคิดถึงใคร

เขาเป็นคนไม่มีตัวตน แต่เรารู้ว่ามีอำนาจ และกลไกการใช้อำนาจเขาก็เข้มแข็งมากผ่านกระบวนการอำนาจในระบบที่เป็นอำนาจตัวบทกฎหมาย อำนาจนอกระบบ และเรื่องของความเชื่อความศรัทธามาผสมปนเปกันทั้งหมด ทำให้คนกลุ่มหนึ่งไปยึดติดตรงนั้น อาจเป็นเพราะว่าเขาได้ประโยชน์

“เขา” ที่อยู่นอกระบบทำให้เพื่อไทยไม่บรรลุเป้าหมายกี่เปอร์เซ็นต์

เราก็พยายามประเมิน พยายามรู้เขารู้เรา สิ่งที่เราได้ข้อมูลมา เขาทำงานอย่างเข้มข้น มีกระแสข่าวแจ้งว่า เขาประเมินแล้วว่าซีกประชาธิปไตย บวกกันได้ 70% ของ 500 คือ ส.ส. 350 ที่นั่ง ฝ่ายเขาได้ 30% ดังนั้น สิ่งที่เขาคิดคือ กดซีกเราลงอย่างไร เสริมซีกเขาให้ขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไร ใช้กลไกอำนาจที่เขามีอยู่

จะกระทบแลนด์สไลด์ไหม…ก็เป็นข้อต่อสู้กัน ถ้าเราหลีกเลี่ยงในสิ่งที่เขากระทำกับเราได้ ประชาชนยังเชื่อมั่นเราอยู่ ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเขาทลายความเชื่อมั่นของประชาชนได้ เอาประชาชนเป็นพวกได้เมื่อไหร่ด้วยกลไกอะไรก็แล้วแต่เขาก็ชนะ

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อยู่ในการตัดสินใจของประชาชนคือกลไกในการจัดการเลือกตั้ง ทำได้เต็มๆ ผมหลีกเลี่ยงคำว่าโกง แต่ใช้คำว่ากลไกในการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนน เช่น โน้มน้าวชักจูงประชาชนให้มาลงคะแนน ด้วยการให้สิ่งตอบแทน ให้สินจ้าง

มีการเปลี่ยนคะแนน รายงานคะแนนไม่ตรงกับความเป็นจริง สามารถเปลี่ยนคะแนนได้ ทั้งกระบวนการการกรอกคะแนน การเปลี่ยนคะแนน จุดรวมคะแนนที่อำเภออันตรายมาก

เราก็เตรียมผู้สังเกตการณ์ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมให้โปร่งใส ถ้าเรามั่นใจว่าเราสามารถตรวจสอบได้ทั้งระบบ ก้จะสามารถลดความเสี่ยงลงไปได้ เพราะการเปลี่ยนใบคะแนนไม่ใช่ทำง่ายๆ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน

เพื่อไทยออกแบบการ “ดีล” กับ “เขา” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือไม่

ที่ผ่านมาไม่เคยมี เราจะดีลกับใครล่ะ มันเป็นเรื่องยากนะ มันไม่มีตัวตน เรียกไม่ถูกมันเป็นหน่วยจัดการเขา มันไม่มีตัวตนว่า เห้ย…อย่าโกงกูนะ มันพูดยากนะ

พรรคเพื่อไทยไม่รู้ ว่ารบอยู่กับอะไร

ใช่..สิ่งที่เราป้องกันได้คือเชิงระบบ เช่น มีอาสาสมัคร ผู้สังเกตการณ์เราทุกหน่วยเลือกตั้ง แก้เชิงเทคนิค เราแก้ได้แค่ว่ามีกองอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการโกงทุจริตการเลือกตั้ง เราตั้งเซ็นเตอร์ปุ๊บ เราวางโครงข่ายไปทุกหน่วย ทุกเขตเลือกตั้ง ร่วมมือกับสื่อมวลชนที่ตั้งอาสาสมัครเป็นแสนคน ช่วยกันตรวจสอบ กดดันให้ กกต.รายงานผลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

แต่กลไกทำยังไงไม่ให้เขาไปกระทำการที่มีผลต่อการตัดสินใจของโหวตเตอร์มันยากมาก มันเป็นวิธีการนอกระบบ เขาซื้อเสียงจะทำอย่างไรไม่ให้ซื้อเสียงมันยากมาก

ถ้าชนะแลนด์สไลด์ อะไรทำให้เพื่อไทยไปถึงเส้นชัยจัดรัฐบาล

ขณะนี้เรามีความเชื่อมั่นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะแลนด์สไลด์สูงมาก เดิมเราตั้งเป้าเกิน 250 ถือว่าแลนด์สไลด์แล้ว แต่จากการทำงานของเรา จากการสัมผัสทางตรง ฟังเสียงประชาชน จากโพลสำนักต่างๆ เราประเมินว่าเราทะลุ 250 แล้ว

เอานิด้าโพลก็ได้ ทั้งระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อที่เขาให้มาคือ 49.75% กับ 49.85% ตีว่า 50% ความเชื่อว่า 250 ที่นั่ง เราทำได้ พอทำได้แล้วสิ่งหนึ่งที่เราใช้เป็นยุทธศาสตร์ ถ้าเกิน 250 แล้ว เรากังวลว่าเราจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เขาเองก็จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่ได้ด้วย

เช่น พรรคเพื่อไทยได้ 255 เสียง ตัวเลขนี้เขาเชื่อว่าจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ เพราะเขาเชื่อว่าเขาดึง ส.ส.ได้ แต่ถ้า ส.ส.อยู่กับพรรคเพื่อไทย เราต้องมีกลไกป้องกัน ส.ส.ไม่ให้ออกไป ดังนั้น 255 ก็จะอยู่ 255 ตลอด เขาก็เป็นรัฐบาล 245 แม้เขาจะมีตัวรัฐมนตรี มีนายกฯ แต่ถ้ากฎหมายงบประมาณไม่ผ่านก็จบแล้ว เพราะงบประมาณปี 67 รอรัฐบาลหลังเลือกตั้งอยู่

ถ้ากฎหมายงบประมาณไม่ผ่าน เขามีสิทธิจะลาออก จัดตั้งรัฐบาลใหม่ หรือ เลือกตั้งใหม่ มีสองทางเท่านั้น ภาวการณ์แบบนี้เป็นเดดล็อกทันที ที่เขาเองก็ไม่ตั้งรัฐบาล เสียงข้างน้อยมันไปไม่ได้ เขาก็เป็นรัฐบาลรักษาการสิ อันนี้มันน่ากลัวนะ

แนวโน้มเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล จะถูกยื้อไปได้นานเท่าไร

เขาเองก็ต้องหาข้อมูลก่อนว่า สามารถหา ส.ส.มาเติมได้ไหม เขาถึงจะตัดสินใจตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แล้วดึงมาทีหลังได้ แต่ถ้าเขาหาข้อมูลแล้วมันทำไมได้ เขาคงยากที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

แต่การพิจารณางบประมาณฝ่ายค้านกับรัฐบาลก็ยอมโหวตผ่าน

ถ้าเราเป็น “ฝ่ายค้านเสียงข้างมาก” คงไม่มีฝ่ายค้านไหนที่จะยอม กฎหมายงบประมาณคว่ำแน่นอน สิ่งที่เขาต้องเลือกคือ ลาออกจากเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ตรงนั้น เพื่อไปหารัฐบาลใหม่ เขาขยับตัวไม่ได้

หลายพรรคบอกว่าไม่เอา เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏคือเดดล็อกทางการเมือง ตั้งรัฐบาลไม่ได้ คือเขาตั้งได้แต่เขาไม่ยอมตั้ง

ดังนั้น การโหวตนายกฯ ในสภาทุกครั้งก็จะออกมาว่า เลือกไม่ได้ เลือกไม่ได้ กลไกเลือกไม่ได้นี่แหละก็คือกลไกรัฐบาลรักษาการ นี่คือข้อด้อยของรัฐธรรมนูญ

ถ้าไม่ให้เกิดเดดล็อกตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยต้องได้กี่เสียง

คือเสียงที่เราชนะไม่ขาด 260-270 แต่ถ้าสมมติ 270 เราสามารถไปรวบรวมเสียงจากส่วนอื่นมาเป็น 300 เสียง และ ส.ว.เห็นว่าคุณรวบรวมเสียงข้างมากได้นะ เขายอมโหวตปล่อยผ่านให้ก็จบไป

มุมนี้ตอบคำถามว่าจะถึงเป้าได้อย่างไร พอเราดูตรงนี้จึงใช้กลไกการสื่อสารทางการเมืองกับประชาชนว่าถ้าคุณอยากออกจากระบอบประชายุทธ์ ไม่อยากจมปลักอยู่ตรงนี้ และมีเดดล็อกทางการเมือง คุณจึงต้องตัดสินใจเด็ดขาด อันนี้จะทำให้ถึงเป้า เพราะการตัดสินใจเด็ดขาดของโหวตเตอร์ แม้เขาจะไม่ค่อยชอบพรรคเพื่อไทยเท่าไหร่ โดยเฉพาะกลุ่มสะวิงโหวต

เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ตัวเลขสูงสุดอยู่แค่ 75% ซึ่งเราต้องรณรงค์ ถ้าคนมาใช้สิทธิเกิน 80% ช่องว่างของกลุ่มสะวิงโหวตจะเยอะขึ้น เพราะธรรมชาติของคน รักมากๆ 20% เกลียดมากๆ ก็ 20% อันนี้ไม่ไปไหน ไม่ต้องโน้มน้าวชักจูง เขาไม่เปลี่ยนใจหรอก แต่ 60% ตรงกลางเป็นสะวิงโหวต

เอาล่ะเมื่อคุณทำดี เอาไปฟากละ 30% ยังมี 40% นะ ถ้า 40% ไม่มาใช้สิทธิ 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53 ล้านคน เท่ากับ 10 ล้านคน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาด้านหนึ่งมีผลเลย หวังว่าถ้าเราทำงานกันอย่างหนักสะวิงโหวตจะเป็นตัวตัดสินอนาคตประเทศ เราไม่หวังแฟนของแต่ละฟากหรอก

สะวิงโหวตตีแค่ 40% เอาคนที่ไม่มาใช้สิทธิอยู่ในกลุ่มนี้ก็ได้ เหลือ 10 ล้านคน สะวิงโหวตมีผลถ้าไปเติมด้านใดด้านหนึ่ง

อุปสรรคที่จะไม่แลนด์สไลด์คืออะไร

เราคุยกันมาพอสมควรนะ ไม่ว่าจะเป็นเชิงระบบที่เขาวางไว้ ปิดกั้น ทำลายล้าง ลดทอน ดิสเครดิตต่างๆ คือปัญหา อุปสรรคอยู่แล้ว ยังมีที่เราหวั่นอยู่ในขณะนี้คือ ตัวพี่น้องประชาชนเองยังจินตนาการไม่ออกว่าสิ่งที่เรานำเสนอจะมีผลต่อเขาอย่างไร อันนี้หนักนะ

มันเป็นโจทย์ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องแก้เกม การสื่อสารทางการเมือง ชี้ให้เขาเห็นภาพ เห็นของจริงคืองานหนักของพวกเรา

ส่วนคู่แข่งจะมีผลต่อแลนด์สไลด์เราไหม…แน่นอน คู่แข่งมีผลอยู่แล้ว แต่จากการที่เราเจาะกลุ่มเป้าหมายให้เห็นภาพ จะลดเรื่องอุปสรรคคู่แข่งลงไปได้ เราอย่าไปเจาะกลุ่มเป้าหมายของเขา แต่ไปหากลุ่มใหม่ที่เป็นสะวิงโหวต

คู่แข่งกับมือที่มองไม่เห็นอันไหนน่ากลัวกว่ากัน

เอ่อ…ถ้าแยกกัน มือที่มองไม่เห็นน่ากลัวกว่า เพราะเขามีกลไกหลายอย่างโดยเฉพาะกลไกการเปลี่ยนคะแนน และน่ากลัวที่สุดคือ ถ้ามือที่มองไม่เห็นกับคู่แข่งบวกกัน ซึ่งแนวโน้มเป็นอย่างนั้น เขาก็ใช้กลไกที่เขามีอยู่นี่แหละบวกคะแนนให้กับคู่แข่งเรา

เราต้องยอมรับว่าระบบการเมืองเราเป็นระบบการเมืองซ่อนรูป ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้น การจะได้ อำนาจจากประชาชนอย่างแท้จริงจึงเป็นไปได้ยาก แม้ได้ยากมาแล้วก็ยังไม่เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการอีก เพราะกติกาเขาล็อกเอาไว้

ตัวเลข 276 250 376 คือตัวล็อกเลย 376 คือคะแนนที่เขาเลือกนายกฯ จะต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา นี่คือข้อห่วงใยของผม แม้เราได้ 310 เรายังต้องเป็นรัฐบาลผสมเลย นี่คือข้อกังวลที่ต้องแก้เชิงระบบ

ดังนั้น เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอเป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราได้อำนาจมาปุ๊บ เราจะเริ่มทำประชามติให้ประชาชนมาลงประชามติ ทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำกติกาใหม่บนพื้นฐานประชามติก็จะเป็นการตอบคำถามว่า เป็นความเห็นของคนหมู่มาก ลดความขัดแย้ง เพื่อการดำรงคงอยู่ในโอกาสต่อไป

310 ที่จำเป็นต้องมีรัฐบาลผสมเพราะ ต้องแก้ล็อก 376 ตราบใดรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ ส.ว.ยังมีอำนาจเลือกนายกฯ อยู่ 376 มีความหมายมาก ดังนั้น แม้ได้เสียง 310 ยังจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวไม่ได้ ต้องไปเจรจากับพรรคอื่น เว้นแต่เราพูดคุยเชิงระบบแล้ว ส.ว.ยอมว่า เมื่อประชาชนให้มาแล้วฉันยอมแล้วโหวตให้…ก็ต้องถามว่าเป็นไปได้ไหม หรือ เป็นไปได้น้อยมาก

เราจึงต้องหันมาหาพรรคการเมืองด้วยกัน พรรคการเมืองที่จะมาช่วยเราเขาก็ต้องมีข้อต่อรองขอเข้าร่วมรัฐบาล แต่ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มี 250 ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง เสียง 310 ไม่ต้องคุยกับใครเลย เพราะเป็นเสียงข้างมากที่เข้มแข็งแล้ว หรือแม้ 253 เสียง คุยกับพรรคการเมืองที่อยู่ด้วยกัน เอาเสียงมาให้ถึง 300 เสียง หรือ 310 เราก็เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งได้แล้ว

ถ้าได้ 310 สเป๊กของพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นแบบไหน

ถ้าเราได้ 310 เราจะมีอำนาจในการต่อรองสูงมาก ผมก็เชื่อว่า ถ้าเราคุยกับ ส.ว.ได้ ทุกอย่างจบ เราไม่อาจต้องมีรัฐบาลผสมก็ได้ แต่ในบริบทการเมืองขณะนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง อาจจะออกแบบพันธมิตรไว้พอสมควร ถ้าจะต้องคุยในมุมนั้น หมายความว่าความอยู่รอด และเสถียรภาพของรัฐบาล ก็จะเป็นตัวตั้ง คุยเพื่อให้มีเสถียรภาพ ที่เกิดจากการกระทำจากภายนอกมันจะป้องกันอย่างไร ก็อาจต้องมีการคุยตรงนี้

ก่อนเลือกตั้งยังไม่กำหนดสเป็ค แต่วิธีคิดต้องอยู่ในอุดมการณ์เดียวกัน เสรีประชาธิปไตย เป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีประวัติที่พี่น้องประชาชนไม่เอาด้วย

เช่นไปยึดอำนาจเขามา ไปทำให้ประชาชนเดือดร้อน พรรคเหล่านี้ประชาชนไม่เอา ยิ่งเราเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าประชาชนไม่เอาแต่เราเอา มันก็ไปด้วยกันไม่ได้หรอก มีข้อจำกัดเรื่องอำนาจประชาชนอยู่แล้ว แม้เราบอกว่าเอาพรรคนี้มา รัฐบาลแข็งโป้กเลย อยู่ 4 ปีแน่ แต่พอไปเลือกตั้งครั้งหน้าเราจบเลย มันต้องชั่งน้ำหนักกัน

ชลน่าน เทียบหัวหน้าพรรคอื่น เป็นคนเดียวที่ลง ส.ส.เขต

ใช่ครับ ไปตรวจมาหมดแล้วไม่มีใครลงเขตเลย 1.ด้วยตัวบทกฎหมายเขาไม่ได้บังคับว่าหัวหน้าพรรคจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อ เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 มาแก้รัฐธรรมนูญช่วงหลังๆ หัวหน้าพรรคเป็นได้ทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เขต

ที่ผมได้มาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพราะเป็น ส.ส.นะ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า พรรคที่มีเสียงข้างมากที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล พูดง่ายๆ เป็นฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคต้องเป็น ส.ส.เพราะจะถูกเสนอชื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้เป็น ส.ส. (พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์) ก็ต้องลาออก เอาท่านสมพงศ์ อมรวิวัฒน์ มา ต่อมาผมก็ได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าพรรค

รู้สึกว่าเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นคนที่ไม่สำคัญหรือเปล่า

การที่ผมตัดสินใจไปลง ส.ส.เขต 1.ผมมาจากเขตเลือกตั้ง 2.ถ้าผมเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผมได้เป็น ส.ส.แน่นอน 3.ผมมาตรองแล้วว่าถ้าผมขึ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในขณะที่เราทำงานในเขตเลือกตั้งไม่มีระบบอุปถัมภ์ สืบทอดอำนาจ ระบบทายาทมารองรับ เราทำการเมืองค่อนข้างเป็นธรรมชาติ ถ้าเราตัดสินใจขึ้นบัญชีรายชื่อโดยไม่เตรียมคนลงมารองรับปี สองปีก่อนเลือกตั้ง มันสุ่มเสี่ยงมากที่จะไม่ได้รับชัยชนะ

เพราะเขามีเวลาน้อยมากในการเตรียมตัว ทำความรู้จักกับประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้ง และเราไปสอบถามในพื้นที่ว่า ถ้าผมลงเองเรายังเข้มแข็งกันอยู่ไหม เขาตอบว่าเขามั่นใจ และหาเสียงได้ง่ายกว่า เราลดความเสี่ยงตรงนี้ มาลงเขต เพื่อลดความเสี่ยงไม่ได้ ส.ส.ในพื้นที่

และมันจะเป็นผลที่ส่งต่อถึงเขตเลือกตั้งอื่นด้วย ให้พี่น้องทั้งจังหวัดเชื่อมั่น ขนาดหัวหน้าพรรคยังมาลงเขตเลยก็จะเป็นการสร้างแรงผลักไป นี่คือเหตุผลที่แท้จริง ถ้าผมคิดเฉพาะตัวเองนะ ผมจะไปเหนื่อยทำไม นี่ขึ้นเวที วิ่งขึ้นวิ่งลง เหนื่อยพอสมควร

ไม่ได้คิดว่าตัวเองไม่สำคัญ…ไม่ใช่ แต่ละพรรคการเมืองมีระบบ มีเงื่อนไข อย่างพรรคเพื่อไทย คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค มันไม่ใช่หยิบคนนั้นคนนี้มาเป็นก็ได้ เมื่อก่อนอาจจะใช่อย่างนั้น พอถูกสังคมโดยรวมมองเข้ามาว่า เห้ย..นี่มันพรรคครอบครัวนี่ ไม่ใช่พรรคของมหาชนนี่ จึงต้องสร้างระบบใหม่

ตั้งแต่ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ที่เปิดโอกาสให้ ส.ส.นกแล ที่ไม่มีอำนาจผูกพันกับพรรคเลยในแง่บริหาร มาเป็นหัวหน้าพรรค นี่คือการประกาศเจตนารมณ์ว่าเราเข้าสู่ระบบนะ ผมเองก็ถูกหวยในมุมนั้นเอง

หน้าที่ผมก็ต้องมาทำให้พรรคเป็นสถาบันการเมือง ส่วนกลไกอย่างอื่นค่อยเป็นค่อยไปค่อยปรับ หักเร็วไปก็ไม่ได้ พรรคก็แตกอีก

เป็นหัวหน้าพรรคเหมือนถูกหวย รางวัลจากการถูกหวยคืออะไร

ผมไม่ถือว่าเป็นรางวัลอะไรนะ ผมถือว่าเป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เราอาสามารับใช้ประชาชน เอาล่ะ..ทุกวิชาชีพมีระบบความก้าวหน้าของมัน เป็น ส.ส. มาเป็นประธานวิป มาเป็นหัวหน้าพรรค มาเป็นรัฐมนตรี เป็นประธานสภา นี่คือระบบ แต่ผมไม่ถือว่าเป็นรางวัลนะ เป็นภาระที่เราได้รับมอบหมายเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด

มีคนตั้งคำถามว่าโครงสร้างการบริหารพรรคเป็นประชาธิปไตยแค่ไหน เพราะมีโครงสร้างอำนาจที่ชื่อว่า หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ครอบครัวชินวัตร สำคัญกว่า

เอาเรื่องบทบาทกับข้อเท็จจริงเป็นหลัก 1.อำนาจการบริหารเป็นอำนาจตามโครงสร้าง เช่น กรรมการบริหารพรรค ฝ่ายต่างๆ ที่รองรับตามโครงสร้างของพรรค เขียนตามข้อบังคับพรรค และตามกฎหมาย ต้องรับผิดรับชอบตามกฎหมาย มีการยุบพรรคคุณถูกตัดสิทธิ์

2.เรายังมีกรรมการอื่นๆ ที่กฎหมายเปิดช่องให้ เช่น มีคณะผู้บริหาร เพื่อตอบสนองต่อการบริหารจัดการที่ค่อนข้างเรียลไทม์และทันสถานการณ์ เพราะกรรมการบริหารพรรคประชุมเดือนละครั้งหรือ 2-3 เดือนครั้ง มันไม่ทันสถานการณ์

3.โครงสร้างอื่น เช่น หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งไม่มีในโครงสร้างการบริหาร และตามข้อบังคับ แต่เป็นโครงสร้างที่เรากำหนดขึ้นจากอำนาจของหัวหน้าพรรค ที่สามารถตั้งคณะกรรมการ วางกลไกต่างๆ ขึ้นมาได้ ตามที่ข้อบังคับพรรคมอบให้ เหตุที่มีเพราะ ถ้าระบบสมาชิก ระบบการมีส่วนร่วมของพรรคไม่ถูกจำกัด โครงสร้างนี้ไม่เกิด

ครอบครัวเพื่อไทย แก้ล็อกการเมืองได้อย่างไร

แก้ล็อกสมาชิกพรรค แต่ก่อนตามกฎหมายเดิมยากมาก เพราะจะเป็นสมาชิกพรรคต้องจ่ายเงิน 100 บาท รายปี หรือ ตลอดชีพ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องยากต่อการรณรงค์ และยังสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายมาก บางพรรคถูกยุบพรรคเพราะไปจ่ายค่าสมาชิกพรรคแทน ไม่ใช่พรรคทำนะ แต่กฎหมายระบุว่า “ผู้ใด” พรรคถูกยุบเลย

ดังนั้น เราเองวางยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ เราจะสร้างฐานสมาชิก ฐานมวลชนมาสนับสนุนเราอย่างไร กลไกหนึ่งที่เรามีสมาชิกอยู่แล้ว ยึดมั่น ถือมั่นกับพรรคพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เปิดช่องทางใหม่ให้เขาเข้าหาเราได้ง่ายที่สุด กลไกครอบครัวเพื่อไทยจึงเกิดขึ้นมา

และต้องยอมรับว่าคนที่ยึดมั่นถือมั่นในพรรคเพื่อไทย เขารักและศรัทธาตระกูลชินวัตร รักและศรัทธานายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รักนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น สื่ออะไรที่เราบอกว่าเรากลับบ้านหลังใหม่หัวใจเดิม เป็นครอบครัวด้วยกันในการขับเคลื่อนเพื่อประเทศ จึงมีกลไกนี้ออกมา

โครงสร้างอำนาจของครอบครัวชินวัตร กับโครงสร้างอำนาจพรรคเพื่อไทย คู่ขนานกัน ใช่หรือไม่

ใช่ครับ เป็นคู่ขนาน อันนี้เรียกว่าเป็นพาวเวอร์ เป็นอำนาจบารมี เหมือนกับความนิยมทางจิตวิญญาณ ซึ่งได้ผลมาก เราต้องยอมรับคนที่คิดเรื่องนี้มามองการณ์ไกลมาก ทำอย่างไรให้คนที่เขาเคยอยู่กับเรา กลับมาอยู่กับเราแล้วช่วยเราเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ไม่เคยมายุ่งกับกลไกการบริหารจัดการกับพรรค ท่านทำหน้าที่ของท่านไปในการมีส่วนร่วม การแสวงหาโอกาสด้านนวัตกรรม ที่จะเสนอเข้าสู่กลไกของพรรคในด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย จุดนั้นจะเป็นจุดเชื่อม และส่งต่อมาที่คณะกรรมการบริหาร เป็นลักษณะทางอ้อมไม่มีทางตรง

ทำไมหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้เป็นแคนดิเดตนายกฯ

เขาก็เป็นคนในพรรค เพราะเป็นสมาชิกพรรค และอยู่ในโครงสร้างอื่นด้วย เช่น คุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ซึ่งอยู่ในโครงสร้างงาน หัวหน้าครอบครัวอยู่ในโครงสร้างการมีส่วนร่วม คุณเศรษฐา ทวีสิน ก็อยู่ในโครงส้างการมีส่วนร่วม ส่วนโครงสร้างงานเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

ไม่ได้เกี่ยวกับว่าใครอยู่โครงสร้างไหน ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ถ้าเหมาะสม

คนที่จะบอกว่าเหมาะสมมีคณะกรรมการพิจารณาจากหลายๆ ส่วน โดยขั้นตอนสุดท้ายคือกรรมการบริหารพรรค ตัวแทนจังหวัด และตัวแทนสาขาพรรคที่เป็นองค์ประชุทถูกกำหนดไว้ในกฎหมายว่าให้ผ่านชุดนี้

ศูนย์อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ครอบครัวเพื่อไทย หรืออยู่ที่ไหน

เราบริหารในลักษณะองค์กร มันจะไปบอกว่าอยู่ตรงไหนคงยาก มันก็อยู่ตรงองค์กรนี่แหละ ส่วนว่าจะมีปัจจัยนำเข้าจากตรงไหนก็มาจากหลายภาคส่วน แต่สุดท้ายตัดสินจากองค์กรตามโครงสร้างตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นมันทำไม่ได้

ขั้นตอนสุดท้ายต้องผ่านคณะกรรมการบริหารพรรค กฎหมายบังคับไว้อย่างนั้น ส่วนข้อมูลนำเข้าจะมาอย่างไร อันนั้นอีกส่วนหนึ่ง

ถ้าเป็นนอกพรรคต้องไม่เข้าข่ายการครอบงำเท่านั้น ข้อมูลจากที่เขาดีเบตกันบนเวที จากคลับเฮาส์ สื่อต่างๆ เราเอาเข้ามาได้หมด แต่จะต้องไม่เป็นเงื่อนไขชี้นำครอบงำเท่านั้นเอง อันนี้เถียงได้

พรรคเพื่อไทย ตั้งรับคดียุบพรรคอย่างไร

เป็นความพยายามของผู้คน ที่เขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามว่าอะไรทำลายเราได้ก็ทำ เรามีคณะทำงานเฝ้ามองเฝ้าดูโดยฝ่ายกฎหมายเป็นหลัก คอยติดตามว่ามีการกระทำแบบนี้มากน้อยขนาดไหน นอกจากนี้ ถือเป็นนโยบายของเราทุกฝ่าย ต้องมีจุดหมายร่วมกันว่า พรรคเราสุ่มเสี่ยงที่จะถูกกลั่นแกล้งยุบพรรค

ทุกคนจึงต้องมีจิตสำนึกระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาว่าอย่าได้เผลอ หลงผิด พลั้งพลาดไปกระทำให้เข้าเงื่อนไข เราตั้งการ์ดระดับสูงเลย เช่น ผู้สมัคร ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค พอใกล้เลือกตั้งเราให้เขาลาออกเลย เพราะมันสุ่มเสี่ยงมากที่จะถูกกลั่นแกล้งและกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพราะการกลั่นแกล้งมันง่ายมาก และทีมเฝ้าระวังก็คอยแก้ไข เช่น มีคนไปร้องเราก็ไปดูว่าเข้าเงื่อนไขอย่างไร

ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะแก้รัฐธรรมนูญล้างผลพวงรัฐประหาร เพื่อเป็นช่องทางให้พาคุณทักษิณกลับบ้านหรือเปล่า

เจตนารมณ์คงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเอาคุณทักษิณกลับบ้านแล้วไปทำโดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างทำไม่ได้แน่นอน เพราะจะมีคนต่อต้าน ดังนั้น ถ้าเรามีจิตบริสุทธิ์ที่จะแก้ปัญหาให้กับประเทศ เราต้องผ่านเป็นฉันทามติ ประชามติมาก่อน เพื่อลบข้อครหาตรงนี้ ไม่ให้เป็นเงื่อนไข ถ้าได้ประชามติมาแล้ว ก็ชอบที่จะทำได้

อีกทั้ง เนื้อหาสาระ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นข้อครหาเอื้ออำนวยการกลับบ้าน คนเขียนก็ต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน เช่น ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งไหม จึงต้องปิดจุดที่เป็นข้อที่เขาจะหาเรื่องไม่ให้แก้มากที่สุด

เรารู้ว่า ถ้าเขายกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ พาทักษิณกลับบ้าน นิรโทษกรรม ก็ทำไม่ได้แล้ว ดังนั้น ต้องปิดจุดอ่อน คำตอบประชามติเป็นคำตอบที่สำคัญมาก เป็นความเห็นร่วมของทุกคนในประเทศนี้ และคนที่จะมายกร่าง เป็นคนของประชาชนไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย

และสภาต้องแสดงเจตน์จำนงค์อย่างแน่วแน่ว่าต้องเป็นไปตามที่เขาทำมา ไม่ใช่ไปปรับ ไปแก้ ถ้ามีคำตอบนี้ ผมเชื่อว่าเราตอบได้