ทักษิณกลับบ้าน สะเทือนเพื่อไทย เขย่าคดียุบพรรค จุดจบเกมปรองดอง

ทักษิณ เพื่อไทย

โจทย์ใหญ่ที่เป็นจุดหักเหแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยว่าจะติดลมบน หรือกลายเป็นปมให้คู่แข่งดิสเครดิต ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือความเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีบารมีหลังม่านเพื่อไทย

ภายหลังวันที่ 24 มีนาคม 2566 “ทักษิณ” โคจรไปยังญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์จากแดนไกล แต่สะเทือนมาถึงเมืองไทย ถึงแผนการกลับบ้านของเขาอีกครั้ง

ในอดีตพรรคการเมืองเครือข่ายมีความพยายามเรื่องการ “พาทักษิณ” กลับบ้านผ่านเหตุการณ์ใหญ่ 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ย้อนหลังกลับไปในยุคพรรคพลังประชาชน พรรคนอมินีรุ่นที่ 1 ของพรรคไทยรักไทย ภายหลังชนะเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มี “สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชาชนตั้งธงแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 3 เดือนแรก พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขมาตรา 309 อันเป็นมาตราที่รองรับการกระทำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อลบล้างผลพวงการรัฐประหาร

รวมถึงคดีความต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “ทักษิณ ทว่า การจุดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับเป็นการปลุกม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้คืนชีพ เนื่องจากเห็นว่า พปช. ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมคดีต่าง ๆ ให้ “ทักษิณ” นำไปสู่การชุมนุมอันยืดเยื้อ 193 วัน ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน เพื่อไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน กระทั่งถูกตัดสินยุบพรรค 2 ธันวาคม 2551

ครั้งที่ 2 ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรองดองแห่งชาติ ทันทีที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยครองเสียงข้างมาก 265 เสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 300 เสียง

เกมในสภาของพรรคเพื่อไทยเริ่มเดินเครื่อง ใช้แผนเด็ดคือให้ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตผู้นำรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งขณะนั้น สวมสูทเป็นนักการเมืองเต็มขั้น ในนามหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เข้ามา

เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ

และให้ “สถาบันพระปกเกล้า” ทำการศึกษา-วิจัย ปรองดอง 2 ใน 4 แนวทางระยะสั้นของคณะผู้วิจัย คือ 1.การให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ยกเว้นคดีที่เกี่ยวกับสถาบัน

และ 2.การเสริมสร้างความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม มีการเสนอให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

ในที่สุดหลักทั้ง 2 ข้อเสนอของงานวิจัย และ “พิมพ์เขียวปรองดอง” ก็ถูกบรรจุอยู่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ “พล.อ.สนธิ” ยื่นเรื่องบรรจุเข้าวาระการประชุมของสภา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 บวกกับอีก 3 ร่างของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.กลุ่มเสื้อแดง

ทว่าในขณะนั้นเกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และฟากฝั่ง ส.ว. ลามไปถึงการจุดกระแสต่อต้านนอกสภา ทีมวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า จึงต้องยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ประธาน กมธ.ปรองดอง ค้านใช้เสียงข้างมากเห็นชอบให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมพร้อมให้ยกเลิกคดี คตส.

30 พฤษภาคม 2555 ทันทีที่ “นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภาผู้แทนราษฎร เริ่มเดินเกมดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภา ก็เกิดปรากฏการณ์ตะลุมบอนครั้งใหญ่ในสภา ระหว่าง ส.ส.รัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับ ส.ส.ฝ่ายค้านประชาธิปัตย์ ถึงขั้นยื้อยุดฉุดกระชากเก้าอี้ประธานสภา แล้วเหตุการณ์ทั้งหมดขมวดตรงที่ กฎหมายปรองดองถูกดองทิ้งคาสภา

ครั้งที่ 3 หนึ่งปีให้หลังเหตุการณ์ชุลมุนในสภาระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง พรรคเพื่อไทย โดย ส.ส. 163 คน ได้ยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณา โดยในช่วงแรกมีคอนเซ็ปต์ว่า นิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทุกสีเสื้อ แต่ไม่รวมแกนนำและผู้สั่งการ แต่ภายหลังมีการขยายขอบเขต

ให้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การแสดงออก หรือความขัดแย้งทางการเมือง และรวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556 ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่รวมถึงการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

“นิรโทษกรรมสุดซอย” จนลุกลามกลายเป็นการชุมนุมบนท้องถนน เกิดกลุ่ม กปปส. สุดท้ายจบลงตรงที่การรัฐประหาร 2557

3 ครั้งที่พยายามล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยา อันนำมาสู่คดีความของ “ทักษิณ” หลายคดีที่ศาลสั่งจำคุก และยังไม่ยุติจนถึงปัจจุบัน