คืนสุดท้าย โพล มติชนxเดลินิวส์ โหวตเลือกนายกฯที่ใช่ พรรคที่ชอบ

โพล มติชน เดลินิวส์ โค้งสุดท้าย

ปิดโหวตเลือกนายกฯที่ใช่ พรรคการเมืองที่ชอบ โพลสองสื่อยักษ์ “มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66” รอบที่ 1 คืนนี้ 23.59 น.พร้อมเผยประกาศผลพรุ่งนี้ (15 เม.ย.)

วันที่ 14 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการเปิดโหวตโพลสองสื่อยักษ์ใหญ่ของประเทศ “มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66” ในรอบที่ 1 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า โพลรอบแรกนี้ปิดโหวตเวลา 23.59 น. ของวันที่ 14 เม.ย.

อีกทั้งจะประกาศผลในประเด็นคำถามหัวข้อที่ 1 ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง 2566 ตามด้วยคำถามหัวข้อที่ 2 ท่านจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 โดยช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 15 เม.ย. ผ่านช่องทางข่าวออนไลน์ รวมถึงโซเชียลมีเดียสื่อเครือมติชนและเดลินิวส์ พร้อมสื่อหนังสือพิมพ์ในวันถัดไป

สำหรับการโหวตโพล “มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66” รอบแรก ตลอด 7 วันที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโหวตครั้งประวัติศาสตร์ชี้อนาคตการเมืองไทยจำนวนมาก ทั้งคำถามหัวข้อที่ 1 และ 2

โดยจากข้อมูล ณ เวลา 15.00 น. ของวันที่ 14 เม.ย. พบว่าตัวเลขอัตราการเข้าถึงการโปรโมตเพื่อทำโพล หรือยอดรีช (Reach) การโปรโมตโพล ทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดีย มีรวมกันมากกว่า 700,000 รีช

นอกจากนั้น ในส่วนของจำนวนผู้ร่วมกดโหวตทำโพลผ่านเว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/thai-election66-poll/ ของเครือมติชน และ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll/ ของเดลินิวส์ ตั้งแต่วันที่ 8-14 เม.ย. มีรวมกันมากกว่า 81,555 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพื่อให้การวิเคราะห์ผลโพล “มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66” รอบแรกมีความลึกและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น กองบรรณาธิการทั้งมติชนและเดลินิวส์ ยังได้จับมือกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นำข้อมูลผลโพลดังกล่าวไปวิเคราะห์เพิ่มเติมในแง่มุมทางวิชาการเพื่อเตรียมเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป

ทั้งนี้ การโหวตโพล “มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66” รอบที่สองจะเริ่มต้นขึ้นในวันเสาร์ที่ 22 เม.ย. 2566 หลังจากนั้น เมื่อได้ผลโพลครบทั้งสองรอบแล้ว กองบรรณาธิกรสื่อเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี และเครือเดลินิวส์ ร่วมกับตัวแทนอาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ จะร่วมกันจัดเวทีวิเคราะห์เจาะลึกผลโพลทั้งสองรอบ พร้อมกับไลฟ์สตรีมถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของสื่อทั้งสองเครือต่อไปช่วงต้นเดือน พ.ค. 2566

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงโพล มติชน x เดลินิวส์ เลือกตั้ง’66 ว่าข้อดีของโพลนี้คือการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดในเชิงระดับกว้าง และได้เห็นการตระหนักถึงเรื่องของนโยบายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้นำเสนอเข้ามาในคำถามทั้งสองคำถามคือ ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง 2566 และท่านจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 นั้น เนื่องจากต้องเข้าถึงคนอย่างรวดเร็ว และทำให้คนเข้าร่วมได้อย่างไม่น่าเบื่อ การที่ต้องคัดสรรคำถามให้เหลือลดน้อยลงนั้นเป็นความจำเป็น

ดังนั้น นายกฯที่ใช่ พรรคการเมืองที่ชอบ ก็ตอบโจทย์แล้ว เพราะในกรณีของหัวข้อพรรคการเมืองที่ชอบโดยนัยก็ตอบโจทย์ว่าเพราะคนนิยมในนโยบาย หรือทีมงานของพรรคการเมืองนั้น ๆ คนจึงเลือก ซึ่งถ้าผลโพลออกมาแล้วเห็นคะแนนของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ก็จะสามารถอธิบายได้มากขึ้นว่าประชาชนเห็นว่าพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลแล้วได้สร้างความนิยมให้กับประชาชนอย่างจริงจังหรือไม่

และถ้าผลโพลออกมาถึงพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านและได้รับความนิยมในคะแนนเสียงตรงนี้ ก็จะตอบโจทย์ว่านี่คือความใฝ่ฝันของการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่มือของพรรคการเมืองกลุ่มใหม่ ที่น่าจะทำงานได้ดีกว่าพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อน ดังนั้น คำถามหัวข้อพรรคการเมืองที่ชอบจะครอบคลุมในหลายประเด็น

“ในส่วนหัวข้อนายกฯที่ใช่นั้น จะเห็นพรรคการเมืองหนึ่งที่มีแคนดิเดตนายกฯมากกว่า 1 คน หากมองในเชิงพรรคการเมืองอย่างเช่น พรรคเพื่อไทย ที่มีชื่อของแคนดิเดตนายกฯ 3 คน จะสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมรู้จักชื่อที่เสนอเป็นลำดับที่ 2 และ 3 แค่ไหน อย่างไร เพราะ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เปิดตัวมาก่อนหลายเดือน จึงทำให้คนมองเห็นว่า น.ส.แพทองธารถูกนำเสนอขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ

“แต่จากนั้นมี นายเศรษฐา ทวีสินประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่เพิ่งเปิดตัวมา ดังนั้น ถ้าคะแนนของนายเศรษฐาสูงขึ้นมา ก็ชี้ให้เห็นว่าการมองเกี่ยวกับแคนดิเดตนายกฯในพรรคเพื่อไทยยิ่งนานวันก็จะเห็นบทบาทของนายเศรษฐามากขึ้น ซึ่งหัวข้อนายกฯที่ใช่ก็จะสอดรับไปกับหัวข้อพรรคการเมืองที่ชอบ เพราะทิศทางจะทำให้เห็นว่าถ้าเปอร์เซ็นต์ของนายกฯที่ใช่กับพรรคที่ชอบ ใกล้เคียงกันประชาชนที่จะไปเลือกตั้งก็มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคเดียวจากบัตรสองใบ” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

พร้อมกับระบุว่า การที่มีสื่อหลายสำนักออกมาทำโพลเลือกตั้งกันเป็นจำนวนมากนั้นมีผลดีคือ เป็นการสร้างความตระหนักให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้ามองถึงการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเห็นว่าล้มเหลว จากเมื่อก่อนจะเห็นว่า กกต.จะมีกลยุทธ์ในการที่จะประชาสัมพันธ์ ดังนั้น การที่สื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในเรื่องของการทำผลสำรวจนั้น ช่วยกระตุ้นและก่อให้เกิดการตระหนักว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญ

ตอนนี้ทิศทางการตอบรับต่อการที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนจากโพลของสำนักต่าง ๆ มีสูงกว่า 80% ซึ่งอัตราเฉลี่ยของการเลือกตั้งจาก 2 ครั้งก่อนอยู่ที่ 75% เท่ากับว่าตอนนี้การกระตุ้นเพื่อทำให้คนเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งได้บรรลุความสำเร็จแล้ว

“คำถามที่ควรเพิ่มในการทำโพลครั้งต่อไปน่าจะถามเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของ ส.ว.ในการโหวตนายกฯว่าประชาชนปรารถนาที่จะให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน โหวตนายกฯไปในทิศทางใด ระหว่างให้ ส.ว.โหวตนายกฯไปตามเสียงของ ส.ส.ส่วนมากในสภา หรือให้ ส.ว.โหวตนายกฯไปตามใจปรารถนาของ ส.ว. ซึ่งก็จะทำให้เรามองเห็นความปรารถนาของประชาชนที่จะได้นายกฯหลังการเลือกตั้งที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว