กฎเหล็กคุมนโยบาย “ประชานิยม” หาเสียงแหกกฎโดนปรับ-เก็บเข้าลิ้นชัก

หาเสียง

18 เมษายน เป็น “เส้นตาย” ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขีดเส้นให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องชี้แจงรายละเอียดนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ให้ กกต.ทราบ นับแต่วันที่มีคำสั่งถึงหัวหน้าพรรคการเมือง คือ 11 เมษายน

รายละเอียด 3 ข้อที่ กกต.กำหนดคือ 1.วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย โดยพรรคการเมืองต้องระบุรายละเอียดดังกล่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ

มิเช่นนั้นจะโดนโทษปรับ 5 แสน และปรับวันละ 1 หมื่น จนกว่าจะส่งการบ้านไปยัง กกต.

ปมการ “ทวงแผนทำนโยบาย” หาเสียง กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่า เพราะพลันที่พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ที่แจกเงินในรูปแบบ “เงินดิจิทัล” 1 หมื่นบาท ให้คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร ถูกฝ่ายตรงข้ามในลู่การเมืองวิจารณ์อย่างหนัก

ทว่าในกรณีของพรรคเพื่อไทย กกต.สั่งให้ชี้แจงภายในวันที่ 17 เมษายน ก็เพราะพรรคเพื่อไทย ชี้แจง กกต.ไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีรายละเอียด 3 ข้อตามที่ กกต.กำหนด

ขุดต้นตอที่มา-ที่ไป ซึ่งนำมาสู่เหตุที่พรรคการเมืองต้องชี้แจงรายละเอียดโครงการกับ กกต.

ต้องย้อนไปถึงยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนคลอดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 35 (7) (8) จึงกำหนด “กฎเหล็ก” ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะต้องมีกลไกป้องกันการบริหารประเทศที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง แต่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชน และต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า

ที่สุดแล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน ได้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดมาตรการตาม “ออร์เดอร์” ของ คสช.ไว้ครบถ้วน

รัฐธรรมนูญ มาตรา 162 บัญญัติไว้ว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่

ในเจตนารมณ์-จุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อขยายความรัฐธรรมนูญนั้น ให้เหตุผลมาตรา 162 ว่า “การกำหนดเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ คณะรัฐมนตรีจัดทำนโยบายในลักษณะ ‘ประชานิยม’ โดยไม่คำนึงถึงที่มาแห่งรายได้ของรัฐที่จะนำมาใช้จ่าย หรือกระทบต่อการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และยุทธศาสตร์ชาติ”

“ทั้งยัง เป็นการบ่งชี้ว่าในการหาเสียงของพรรคการเมือง ที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวจะมีผลให้พรรคการเมืองนั้น แม้จะได้รับเสียงข้างมากจนจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ ก็จะไม่สามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้มากำหนดเป็น นโยบายของคณะรัฐมนตรีได้”

มาตรา 162 ถูกนำมาขยายผ่าน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เขียนบังคับแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งไว้ในมาตรา 57 ว่า การกําหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คํานึงถึง ความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ

2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย

3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย

ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทํารายการ ให้ กกต. สั่งให้ดําเนินการ ให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด

มาตรา 121 พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของ กกต. ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง


นโยบายพรรคการเมืองถูกล็อกอย่างแข็งขัน ไม่ให้ทำ “ประชานิยม” โดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มารายได้ จึงกระทบชิ่งมายังพรรคเพื่อไทยเต็ม ๆ แม้จะหลุดไปจัดตั้งรัฐบาล